ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : King Organic

  นงนุช สุขใจเจริญกิจ เจ้าของแบรนด์ King Organic (คนกลาง)

     ขึ้นชื่อว่า “พรีเมียม” แน่นอนไม่ว่าใครก็ย่อมเข้าใจว่า คือ ของดี พิเศษ มีคุณภาพสูง ซึ่งราคาก็ย่อมต้องแรงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผัก ผลไม้ และสินค้าออร์แกนิกต่างๆ ที่แม้จะปลอดภัย มีประโยชน์มากมาย แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะกรรมวิธีการผลิตมีความยุ่งยากมากกว่า ผลิตได้ปริมาณน้อยกว่า จึงทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ยากกว่า ทำยังไงถึงจะแก้ Pain Point ที่เกิดขึ้นได้

     KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร จึงได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน

เริ่มต้นจาก Pain Point

     นงนุช สุขใจเจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง เฟรซ ฟาร์ม จำกัดเล่าว่า เริ่มต้นธุรกิจเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ด้วยการส่งออกผลไม้ไทยโดยเฉพาะมะม่วงไปต่างประเทศ  เช่น ประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น  ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี จึงต่อยอดกิจการ สร้างโรงอบไอน้ำร้อน VHT เพื่อกำจัดแมลงและโรงคัดบรรจุผลไม้เพื่อการส่งออกของตัวเองอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร

     ด้วยความสนใจเทรนด์สุขภาพ รวมถึงต้องการเชื่อมโยงธุรกิจสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว จึงตัดสินใจแตกไลน์ขยายธุรกิจผลิตสินค้าอาหารจากวัตถุดิบเกษตรที่เป็น “ออร์แกนิค” แท้ๆ เพื่อ อยากสนับสนุนผู้บริโภคให้เข้าถึงอาหารออร์แกนิคได้ง่ายขึ้น ภายใต้แบรนด์ “KING Organic”

     “ส่วนตัวสนใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบันคนทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะที่เป็นสินค้าออร์แกนิค มี Pain Point  เข้าถึงผู้บริโภคได้ยาก เพราะราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นเมื่อตั้งใจจะทำธุรกิจสินค้าอาหารออร์แกนิค จึงอยากลองทำเป็นสินค้า Mass Premium เป็นของดี ราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้” เจ้าของแบรนด์ King Organic เล่าที่มาแรงบันดาลใจให้ฟัง

เปลี่ยน Waste ให้เป็นสินค้าแปรรูป

หัวใจสำคัญช่วยลดต้นทุน ราคาถูกลง

     นงนุชเล่าว่า การจะทำสินค้าพรีเมียมให้เข้าถึงตลาดแมสได้ ต้องทำให้เกิดการครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในต้นน้ำนอกจากมีแปลงปลูกเป็นของตัวเอง แบรนด์ KING Organic ยังมีการผลักดันรูปแบบการปลูกเป็นลักษณะเครือข่าย ICS (Internal Control System) ให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ภาคเหนือ ภาคใต้ ทำการเพาะปลูกและส่งกลับมาขายให้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ทำให้ได้ผลผลิตดี ในต้นทุนที่ต่ำลง

     ด้านปลายน้ำ ในทุกๆ สัปดาห์ผลผลิตจะถูกส่งมาที่โรงแพคด้วยรถห้องเย็น เพื่อคัดตัดแต่งจำหน่ายเป็นผักสด ส่วนที่เหลือจากการตัดแต่ง ก็เข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำสลัด, น้ำจิ้มสุกี้ นอกจากเป็นการช่วยให้เกิด Zero Waste เหลือวัตถุดิบทิ้งน้อยที่สุดแล้ว ยังเป็นการทำให้ต้นทุนธุรกิจถูกลง มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการแปรรูปสินค้าด้วย

     “ในผักหนึ่งต้น ไม่ใช่ว่าเก็บมาแล้วเราจะเอาไปขายได้เลยทันที ต้องมีการตัดแต่งให้สวยงาม เช่น บางใบอาจจะช้ำ, บางใบมีรูแมลงเจาะเยอะเกินไป ก็ต้องคัดออก แต่แทนที่จะทิ้งไปเฉยๆ เราก็เอามาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ เช่น ใบแก่ๆ หรือใบที่มีรูเยอะเกินไป ก็เอามาหมักเป็นกิมจิ บางครั้งเก็บไว้นาน ผักเริ่มสลด ก็เอามาทำแห้งเก็บไว้ใช้ วิธีนี้ทำให้ต้นทุนทั้งขายสดและแปรรูปต่ำลง พอต้นทุนไม่สูง เราก็ขายลูกค้าได้ถูกลงเช่นกัน ขายเป็นสินค้าแมสพรีเมียมให้กับผู้บริโภคได้” นงนุชกล่าว

     โดยผัก ผลไม้ของแบรนด์ KING Organic ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยความร่วมมือกับภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยสรุนารี ในการส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดินและส่งเสริมการทำเกษตรออร์แกนิคที่เป็นมาตรฐานสากล จนการผ่านการรับรองมาตรฐานระดับโลก เช่น “USDAOrganic” และ “EU Organic” ส่วนด้านเงินทุนประกอบการเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและสร้างคุณค่าทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐของกระทรวงอุตสาหกรรม ควบคู่กับสินเชื่อของ SME D Bank เพื่อขยายการลงทุนและตลาดส่งออก

One Stop Service Organic มาที่เดียวได้ครบจบ

     ปัจจุบันสินค้าของ KING Organic แบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ ได้แก่ หมวดอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ไก่ และ หมวดสินค้าแปรรูป เช่น น้ำสลัด น้ำจิ้ม ซอส พริกแกง เต้าหู้ไข่ โดยจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดชื่อดังต่างๆ รวมถึงช่องทางออนไลน์ และส่งเดลิเวอรี่ ที่มีจุดเด่นสามารถเสิร์ฟความอร่อยสดใหม่ถึงมือผู้บริโภคได้ภายในเวลาไม่เกิน 24 ชม. นอกจากนั้นยังรับจ้างผลิต (OEM) อีกด้วย โดยมีสัดส่วนระหว่างการขายวัตถุดิบสดกับสินค้าแปรรูปอยู่ที่ 70 : 30%

     จากผลการมุ่งมั่นทำสินค้าให้เป็นแมสพรีเมียม มาถึงวันนี้ทำให้ผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิกจาก KING Organic มีราคาที่ย่อมเยา หากเทียบกับผลิตภัณฑ์ในเกรดคุณภาพเดียวกัน ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้หลายกลุ่มมากขึ้น แถมยังเป็นการสร้างความสะดวก มาที่เดียว แต่ได้ครบกลับไปทุกอย่างที่ต้องการด้วย

     “ที่ผ่านมา ไม่ว่าใครก็อยากได้ของดีๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ไม่ซื้อ เพราะราคาจับต้องได้ยาก เหมือนผักออร์แกนิก ใครๆ ก็รู้ว่าปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้เขาต้องหันมาเลือกรับประทานผักทั่วไปที่ปลูกโดยใช้สารเคมีแทน ซึ่งถ้าพูดถึงสินค้าออร์แกนิกในไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มตลาด A+ แต่การที่เราพยายามทำสินค้าให้เป็นแมสพรีเมียม เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ลูกค้ากลุ่ม B+, B ก็สามารถเลือกซื้อสินค้าของเราได้ 

     “การที่เราไม่ได้ตั้งใจปลูกขึ้นมาเพื่อจะขายเฉพาะผักสด หรือแปรรูปอย่างเดียว นอกจากทำให้ต้นทุนถูกลง สามารถทำราคาแข่งขันได้ดี อีกมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างความสะดวกให้ผู้บริโภคด้วย เป็น One Stop Service มาที่เดียว ครบ จบ ไม่ต้องไปวิ่งหาของสดเจ้าหนึ่ง สินค้าแปรรูปอีกเจ้าหนึ่ง ก็ทำให้ง่ายขึ้น เขาสามารถเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิกจากเราได้ทั้งหมดเลย เรียกว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย” เจ้าของแบรนด์ KING Organic กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

ข้อมูลติดต่อ

โทร. 034 874 293 หรือ www.kingorganicth.com

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ปฏิวัติวงการเดลิเวอรี่! ใช้โดรนส่งอาหารถึงกำแพงเมืองจีน ตีตลาดพื้นที่ระดับความสูง 0.6 ไมล์

ตั้งแต่บริการธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นมาก เรามักได้เห็นความพยายามคิดรูปแบบการขนส่งใหม่ๆ ล่าสุดใครจะคิด แม้แต่บนกำแพงเมืองจีนที่ยาวกว่า 20,000 กม. ก็มีการใช้โดรนส่งอาหารให้นักท่องเที่ยวกันแล้ว

6 โอกาสทำเงินในธุรกิจอาหาร 2025

โลกของอาหารกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปี 2025 ก็เป็นอีกปีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจอาหาร ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอาหารมากมาย

หรือจะหมดยุค Double Day? เมื่อกลยุทธ์ของถูกเริ่มไม่ขลัง ยอดช้อปออนไลน์ในจีนลดฮวบ 7 พันล้าน

ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มักได้ยินแต่ข่าวเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ ปิดกิจการอยู่เต็มไปหมด ล่าสุดแว่วมาว่าแม้แต่ตลาดจีน ที่เป็นอีกแหล่งส่งออกรายได้หลักของไทย จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน