รับจ้างลาออก ธุรกิจใหม่มาแรงในญี่ปุ่น ตอบโจทย์คนทำงานยุคใหม่ขี้เกรงใจ เปิดให้บริการแล้วกว่า 100 แห่ง

TEXT : Sir.nim

     ด้วยเทรนด์การทำงานของผู้คนยุคนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนมาก รักในอิสระ ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต แสวงหาความสุข และประสบการณ์ใหม่ๆ พอๆ กับการทำงาน จนเกิดเป็นเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย อาทิ  The Great Resignation – การลาออกครั้งใหญ่ ที่พนักงานชิงลาออกเป็นจำนวนมาก หรือ Quiet Quitting – การลาออกเงียบ ที่ไม่ได้ลาออก แต่ไม่ได้ทุ่มเท ไม่ทำเกินหน้าที่

     จนล่าสุดทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมา ที่เรียกว่า “บริษัทรับจ้างลาออก” โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในเรื่องสังคมการทำงานที่กดดัน และเคร่งเครียดมากที่สุดแห่งหนี่งของโลก จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศต้นกำเนิดของโรค “คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome) หรือการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป

     โดยการให้บริการรับจ้างลาออกเพิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้พนักงานลาออกจากบริษัทได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องไปพบหน้าหรือยื่นลาออกด้วยตัวเอง จากความอึดอัดใจที่จะบอก พูดไม่เป็น เกรงใจ หรือแม้แต่ความไม่สะดวกใจที่จะกลับไปอีก

     “Exit” เป็นบริษัทแรกๆ ที่เปิดให้บริการ “รับจ้างลาออก” โดยเปิดทำการเมื่อปี 2017 นิอิโนะ โทชิยูกิ (Niino Toshiyuki) ผู้ก่อตั้งเปิดเผยว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวเอง โดยหลายปีก่อนเขาต้องการลาออกจากงาน เพราะไม่มีความสุข แต่ต้องเจอกับความกดดันจากหัวหน้าที่ทำให้รู้สึกผิด จนกระทั่งสุดท้ายก็ต้องนั่งทำงานต่อ และยกเลิกการลาออกไป จึงทำให้เขาเกิดความเข้าใจและเห็นใจคนทำงานที่รู้สึกแบบเดียวกัน ซึ่งจนถึงปัจจุบันบริษัท Exit สามารถช่วยให้ลูกค้าลาออกจากงานสำเร็จมาแล้ว 10,000 คนต่อปี

     สำหรับกระบวนการ “ลาออกแทน” จะเริ่มต้นเมื่อลูกค้าติดต่อเข้ามา และทำการจ่ายค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งค่าบริการต่อครั้งจะอยู่ที่ 20,000 เยน หรือราว 5,000 บาท หลังจากนั้นทางบริษัทจะดำเนินการยื่นใบลาออกในนามของลูกค้า  รวมถึงการเจรจาให้ลาออกจากงานได้ทันที โดยไม่ต้องกลับไปทำงานอีก

     นิอิโนะกล่าวว่า สาเหตุหลักของการเข้ามาใช้บริการของลูกค้ามักมาด้วย 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.ไม่มั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับนายจ้าง เพื่อขอลาออก 2.รู้สึกผิดที่ต้องลาออก เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองกำลังทอดทิ้งบริษัท โดยเขามองว่าข้อดีของการใช้บริการดังกล่าว ไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกค้าที่เป็นพนักงานบรรลุจุดประสงค์การลาออกอย่างที่ต้องการ แต่บริษัทที่เป็นต้นเรื่องยังได้รับรู้สาเหตุแท้จริงในการลาออกของพนักงานอีกด้วย ทำให้สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะเป็นเรื่องยากที่พนักงานจะกล้าบอกความจริงตรงๆ ด้วยตัวเอง

     โดยหลังจากก่อตั้งบริษัทขึ้นมา นิอิโนะกล่าวว่าได้มีอีกหลายบริษัทเริ่มเปิดตัวขึ้นมาเพื่อให้บริการรับจ้างลาออกเหมือนกับเขาเพิ่มมากขึ้นอีกหลายแห่งทีเดียว

     เช่นเดียวกับบริษัท Albatross ที่เพิ่งเปิดให้บริการรับจ้างลาออกเมื่อปี 2022 โดยได้กล่าวว่าบริษัทเองสามารถรองรับลูกค้าได้ประมาณ 200 คนต่อเดือน แต่ปัจจุบันกลับมีลูกค้าติดต่อเข้ามามากกว่า 1,400 รายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 60 โดยมองว่าสาเหตุหลักของการกระตุ้นให้เกิดการอยากลาออกดังกล่าว มาจาก 1.ความไม่ตรงกันในค่านิยมระหว่างคนทำงานอายุน้อย และบริษัทที่มีวัฒนธรรมล้าสมัย และ 2.แรงผลักดันจากการขาดแคลนแรงงานท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลง และอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

     ณ ปัจจุบันมีบริษัทที่ให้บริการรับจ้างลาออกในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นกว่า 100 แห่ง เรตราคาจะอยู่ที่ราว 20,000 -  50,000 เยน แม้จะมีความสะดวกมากขึ้น แต่บริการรับจ้างลาออกก็ยังมีข้อจำกัด หากต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายเกิดขึ้น ผู้รับมอบฉันทะจะต้องมีคุณสมบัติเป็นทนายความที่ถูกต้อง จึงจะสามารถยื่นเรื่องแทนได้นั่นเอง

     นับเป็นอีกธุรกิจการให้บริการรูปแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นจากกระแสความต้องการของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป ถึงแม้จะดูแปลกอยู่สักหน่อย แต่ก็มีอุปสงค์ความต้องการจริงของลูกค้าเกิดขึ้น ไม่แน่นี่อาจเป็นแนวทางการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ต่อไปในอนาคตที่น่าสนใจก็ได้

ที่มา : https://news.abs-cbn.com/business/2024/5/14/more-japan-workers-turning-to-job-resignation-services-after-holidays-824

https://finance.yahoo.com/news/startup-quit-job-behalf-save-155120291.html?guccounter=1

https://www.aljazeera.com/economy/2023/6/7/in-japan-embarrassed-employees-pay-agencies-to-quit-for-them

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ปฏิวัติวงการเดลิเวอรี่! ใช้โดรนส่งอาหารถึงกำแพงเมืองจีน ตีตลาดพื้นที่ระดับความสูง 0.6 ไมล์

ตั้งแต่บริการธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นมาก เรามักได้เห็นความพยายามคิดรูปแบบการขนส่งใหม่ๆ ล่าสุดใครจะคิด แม้แต่บนกำแพงเมืองจีนที่ยาวกว่า 20,000 กม. ก็มีการใช้โดรนส่งอาหารให้นักท่องเที่ยวกันแล้ว

6 โอกาสทำเงินในธุรกิจอาหาร 2025

โลกของอาหารกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปี 2025 ก็เป็นอีกปีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจอาหาร ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอาหารมากมาย

หรือจะหมดยุค Double Day? เมื่อกลยุทธ์ของถูกเริ่มไม่ขลัง ยอดช้อปออนไลน์ในจีนลดฮวบ 7 พันล้าน

ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มักได้ยินแต่ข่าวเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ ปิดกิจการอยู่เต็มไปหมด ล่าสุดแว่วมาว่าแม้แต่ตลาดจีน ที่เป็นอีกแหล่งส่งออกรายได้หลักของไทย จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน