ส่งออกหดตัว...แนวโน้มฟื้นตัวช่วงที่เหลือยังคลุมเครือ



 




    การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนก.ค. 2558 ติดลบ ร้อยละ 3.56 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 7.9 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2558 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ และการปรับตัวลงของราคาสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายรายการของไทยตามภาวะราคาในตลาดโลก

    - สินค้าที่การส่งออกขยายตัวดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งกลับมาขยายตัวดีขึ้นหลังจากผู้ผลิตรายสำคัญเริ่มเดินสายการผลิตรถรุ่นใหม่ ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ ที่เติบโตดี เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และยางพารา (จากผลด้านปริมาณ) เป็นต้น สำหรับสินค้าที่หดตัวสูง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เป็นต้น 

    - ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังคงหดตัว โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียนเดิม ตะวันออกกลาง แอฟริกา นอกจากนี้ การส่งออกไปเมียนมาหดตัวสูงในเดือนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากปัญหากระทบกระทั่งระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยในฝั่งชายแดนเมียนมา รวมทั้งอุทกภัยครั้งใหญ่ในเมียนมาอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าจากไทยไปเมียนมาต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม 

    - ราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 29 ที่ร้อยละ 2.5 (YoY) ในเดือนก.ค. 2558 ซึ่งนับเป็นอัตราการลดลงรายเดือนที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่กำลังดิ่งลงทุบสถิติต่ำสุดในรอบหลายปี ทั้งนี้ ราคาส่งออกทุกหมวดสินค้าปรับตัวลดลงอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะราคาทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ที่ผันแปรค่อนข้างมากตามภาวะราคาในตลาดโลก ขณะที่ ราคาสินค้าในหมวดเกษตร/และอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย เผชิญแรงกดดันจากปริมาณการผลิตล้นตลาด และภาวะการแข่งขันสูงจากประเทศคู่แข่ง 

มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกในปี 2558 อาจหดตัวลงมากกว่าที่คาด เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน) ที่เปราะบาง น่าจะทำให้ช่วงเวลาการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยต้องเลื่อนเวลาออกไปเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่ ราคาสินค้าส่งออกที่ถูกกำหนดจากภาวะราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ก็อาจจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นนานกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน 

    นอกจากนี้ อานิสงส์จากปัจจัยบวกของเงินบาทที่น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าตลอดช่วงที่เหลือของปี 2558 อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันสำหรับธุรกิจส่งออกได้เพียงบางส่วน เพราะแม้จะทำให้รายรับในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่การที่สกุลเงินของประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย (อาทิ เงินหยวนของจีน เงินด่องของเวียดนาม เงินริงกิตของมาเลเซีย เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย) 

    ซึ่งน่าจะมีทิศทางที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ฯ และเงินสกุลหลักอื่นๆ เช่นเดียวกัน ก็อาจทำให้สินค้าส่งออกของไทยไม่ได้เปรียบทางด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่งมากนัก ขณะที่ การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกสำคัญบางหมวด อาทิ การส่งออกในรถยนต์ ก็น่าจะไม่สามารถหนุนให้ภาพรวมของภาคส่งออกไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วนัก 

    โดยสรุป ความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนในตลาดการเงินโลก ในช่วงที่จังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ งวดใกล้เข้ามา ผนวกกับความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อภาพความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนและการดิ่งลงอย่างหนักของตลาดหุ้นจีน ทั้งสองปัจจัยนี้จะมีผลต่อเนื่องมาสู่เสถียรภาพทางการเงินของประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ รวมทั้งมีผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก 

    การทรุดลงของราคาโภคภัณฑ์จะกระทบต่อไทยทั้งในทางตรงผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออก และทางอ้อมผ่านอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าของไทยที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (ทั้งในภูมิภาคอาเซียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา โอเชียเนีย และกลุ่ม CIS) สูงถึงกว่าร้อยละ 25 ของตลาดส่งออกทั้งหมด 

    สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกในระยะนี้ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาล น้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มข้าวและมันสำปะหลัง ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งหากทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี อาจกระทบทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยหายไปถึง 1,500-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ (หรือ 53,000-88,000 ล้านบาท)  

    ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลกดดันต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในสถานการณ์สงครามค่าเงิน (Currency War) ที่ประเทศต่างๆ มีค่าเงินที่อ่อนลงมาในทิศทางเดียวกัน คงไม่ได้ช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของไทยดีขึ้นจากผลในเรื่องค่าเงินได้มากนัก ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกของไทยในปี 2558 อาจหดตัวสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 4.0 (คาดการณ์เดิมอยู่ที่หดตัวร้อยละ 1.7) 

SME Thailand เพื่อนคู่คิด ธุรกิจเอสเอ็มอี
ติดตามข้อมูลดีๆ เพื่อ SME ได้ที่ www.smethailandclub.com




RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน