Plant-based แรงไม่แผ่ว! จากอาหารสู่เครื่องแต่งกาย แบรนด์ระดับโลกเริ่มผลิตเสื้อผ้าจากพืช

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • ไม่ใช่มาแรงแค่ในวงการธุรกิจอาหารเท่านั้น แต่กระแส plant-based ยังแรงต่อเนื่อง โดยเทรนด์นี้ได้ขยายไปยังธุรกิจแฟชั่นเรียบร้อย

 

  • ผลสำรวจพบว่าเทรนด์นี้ได้รับความสนใจสูง โดยร้อยละ 46 ของผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์แฟชั่นมีแผนพัฒนาหรือเปิดตัวสินค้าแฟชั่น plant-based ในอนาคต โดยใช้วัสดุทางเลือก อาทิ หนังที่ทำจากเส้นใยของพืช และนวัตกรรมอื่นๆ

 

     ฟาสต์แฟชั่นหรือแฟชั่นเสิร์ฟด่วนที่เน้นตามกระแสมาไวไปเร็วกำลังเป็นแฟชั่นที่คนรุ่นใหม่ผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่ปลื้มเพราะถูกมองว่ากระบวนการผลิตแฟชั่นเหล่านี้เป็นต้นเหตุใหญ่ของการก่อมลพิษด้านต่าง ๆ โดยร้อยละ 10 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่บรรยากาศมาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น มีการประมาณการณ์ว่า 70 เปอร์เซนต์ของอุตสาหกรรมแฟชั่นซึ่งมีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์นี้มีการใช้วัสดุสังเคราะห์หรือปิโตรเคมี

     ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นหลายรายจึงพยายามนำเสนอเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดคาร์บอนในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแส plant-based กำลังได้รับความสนใจ จากอาหาร plant-based เทรนด์นี้ได้ขยายไปยังอุตสาหกรรมแฟชั่นเรียบร้อยแล้ว หลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น “Activ” ผู้ผลิตเสื้อผ้าออกกำลังกาย “Kent” ผู้ผลิตกางเกงใน “Unless” สตาร์ทอัพเจ้าแรกของแบรนด์สตรีทแฟชั่นที่ประกาศเป็นรายแรกผลิตเสื้อผ้าแบบย่อยสลายได้

     ไปจนถึงแบรนด์ใหญ่อย่างรีบอคที่เคยเปิดตัว Reebok Floatride Grow รองเท้าวิ่งรุ่นแรกที่ผลิตด้วยวัสดุอินทรีย์เกือบทั้งหมด โดยด้านบนทำจากต้นยูคาลิปตัส  แผ่นรองเท้าใช้โฟมที่มีส่วนผสมของสาหร่าย และพื้นรองเท้าด้านนอกใช้ยางธรรมชาติ และพื้นส่วนกลางของรองเท้าที่โดยมากทำจากส่วนผสมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่รุ่นนี้ทำด้วยเมล็ดละหุ่ง

     ด้าน "เวจา" (Veja) แบรนด์รองเท้าหรูจากฝรั่งเศส หลังใช้เวลา 5 ปีในการพัฒนาก็เปิดตัวรองเท้าสนีกเกอร์ใช้วัสดุหนังที่ทำจากข้าวโพดและย่อยสลายตามธรรมชาติได้มากถึง 63% ตามด้วยรองเท้ารุ่น “Urca” สนีกเกอร์วีแกนที่ทำด้วยวัสดุจากขยะอาหาร เทคโนโลยีการนำขยะอาหารมาพัฒนาเป็นวัสดุต่าง ๆ ถือเป็นการปฏิวัติในวงการแฟชั่นแบบยั่งยืน สเตลล่า แมคคาร์ทนีย์ ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษก็ได้รับอิทธิพลจากลินดา เบลซ มารดาซึ่งเป็นวีแกนและทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิสัตว์ ดีไซน์ของเธอหลายคอลเลคชั่นเป็นการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพชื่อ “โบลต์” (Bolt) ที่ผลิตผ้าและสิ่งทอที่ทำจากเส้นใยไมซีเลียมในเห็ดในชื่อ “ไมโล” 

     ไมโลซึ่งเป็นนวัตกรรมของโบลต์ถูกนำมาใช้แพร่หลายโดยผู้ผลิตชุดออกกำลังกายแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ อาดิดาส ลูลู่เลม่อน และแบรนด์แฟชั่นหรู เช่น กุชชี่, เซนต์ลอเรนต์, โบเตก้า เวเนต้า, บาเลนเซียก้า และอเล็กซานเดอร์ แมคควีน เมื่อรังสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่นออกมาก็ทำให้ลูกค้าสายเขียวรู้สึกฟินไปตาม ๆ กันที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รักษาสภาพแวดล้อมโลก ทั้งยังไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อีกด้วย   

     หลังเกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา ดูเหมือนผู้บริโภคจะคาดหวังจากอุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้นทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จากที่กำลังมาแรงในอุตสาหกรรมอาหาร เทรนด์ plant-based ก็ได้ขยับขยายเข้ามาในวงการแฟชั่น ผลสำรวจพบว่าเทรนด์นี้ได้รับความสนใจสูง โดยร้อยละ 46 ของผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์แฟชั่นมีแผนพัฒนาหรือเปิดตัวสินค้าแฟชั่น plant-based ในอนาคต โดยใช้วัสดุทางเลือก อาทิ หนังที่ทำจากเส้นใยของพืช และนวัตกรรมอื่น ๆ  

     แม้กระทั่ง เอช & เอ็ม แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเจ้าดังยังอดไม่ได้ที่จะเกาะกระแสนี้ ประกาศจับมือกับ Desserto สตาร์ทอัพเม็กซิโกที่คิดค้นวัสดุทางเลือกเป็นหนังที่ทำจากต้นกระบองเพชรเพื่อรังสรรค์แฟชั่นยั่งยืน เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นแบรนด์ต่าง ๆ ตบเท้านำเสนอแฟชั่นที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นที่ไม่เพียงจำกัดแค่การใช้วัสดุ plant-based แต่ยังรวมไปถึงแฟชั่นปลอดพลาสติก และเคมีอีกด้วย  

     อย่างไรก็ตาม ระหว่างเสื้อผ้า plant-based กับเสื้อผ้าวีแกนนั้นฟังดูเผิน ๆ อาจใช้วัสดุเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วมีความแตกต่างกันเล็กน้อย วีแกนแฟชั่นหมายถึงการใช้วัสดุตัดเย็บที่ไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ขนแกะ ไหม ขนเป็ด และหนัง เสื้อผ้าวีแกนอาจเป็น plant-based ก็ได้แต่ไม่เสมอไปเพราะบางเจ้าก็ใช้วัสดุสังเคราะห์แทน อาทิ โพลีเอสเตอร์ ไนล่อน และวัสดุที่มีปิโตรเคมีเป็นส่วนประกอบซึ่งก็ไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนัก

     ต่างจากเสื้อผ้า plant-based ที่ใช้เส้นใยธรรมชาติเท่านั้น เช่น ฝ้าย กัญชง และเยื่อไม้ต่างๆ และไม่มีผ้าสังเคราะห์เจือปนเลย ดังนั้น ผู้ผลิตรายใดที่ต้องการตามเทรนด์จึงต้องให้แน่ใจว่าสินค้าที่ผลิตออกมานั้นใช้วัสดุหรือผ้าธรรมชาติล้วน ๆ จึงจะสามารถอ้างได้เต็มปากว่าเป็นแฟชั่น plant-based ของจริง

 

ที่มา : https://www.finedininglovers.com/article/plant-based-fashion

https://shopvalani.com/blogs/news/plant-based-clothing-vs-vegan-clothing-whats-the-difference

https://fashionunited.uk/news/fashion/inside-the-new-plant-based-craze-in-fashion/2022072164253

https://www.cnbc.com/2023/01/23/hate-fast-fashion-you-can-compost-this-new-streetwear-clothing-line.html

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน