TEXT: Momin
Main Idea
- กระแสความยั่งยืนมาแรงมากขึ้นทุกวัน และเพื่อตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ธุรกิจต้องปรับวิธีในการทำธุรกิจเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
- และสิ่งที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนในอนาคตมีอะไรบ้าง ไปหาคำตอบกัน
ปัจจุบันเราจะเห็นหลายๆ ธุรกิจทำธุรกิจสีเขียวที่ยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปดูเทรนด์ความยั่งยืน ปี 2023 ว่ามีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย
1. ใช้พลังงานธรรมชาติมากขึ้น
ถึงแม้ว่าพลังงานจากธรรมชาติจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2023 ทั่วโลกมีแนวโน้มในการใช้พลังงานธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ ซึ่งการที่ผู้บริโภคหรือธุรกิจเปลี่ยนไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไม่เพียงแค่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของค่าไฟได้เป็นอย่างมากอีกด้วย
Adam Smith ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Eco Energy Geek กล่าวว่า “พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะเป็นรูปแบบพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ”
2. ใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น
แม้ว่าการรีไซเคิลจะไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่ด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจมุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลมากขึ้น เพื่อทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ และด้วยมีกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขามองหาแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมบริษัทใหญ่ๆ หันมาทำธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนมากขึ้น เหตุนี้ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ อย่างธุรกิจอาหารหรือค้าปลีก จะเพิ่มการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้มากขึ้น
Garrett Yamasaki ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง WeLoveDoodles กล่าวว่า: “อุตสาหกรรมการค้าปลีกกำลังพยายามอย่างมากในการลดขยะ ดังนั้นพวกเขาจึงผลิตบรรจุภัณฑ์ในปริมาณให้พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียมากเกินไป”
3. ปรับปรุงโครงสร้างด้านการขนส่ง
เทรนด์นี้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการปรับปรุงตัวเลือกด้านการขนส่ง ซึ่งจะเห็นได้จากปัจจุบันมียานพาหนะต่างๆ ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้ามากขึ้น ยกตัวอย่างธุรกิจในประเทศไทยเช่น Muvmi รถตุ๊กตุ๊ก พลังงานสะอาดที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจด้านการขนส่งที่ปรับเปลี่ยนจากรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้น้ำมันมาเป็นไฟฟ้า เนื่องจากรายงานปี 2020 รถยนต์ส่วนบุคคลมีการปล่อย CO2 คิดเป็น 41% สำหรับการขนส่งทั่วโลก
Adam จาก Eco Energy Geek วิเคราะห์ว่า “การขนส่งที่ยั่งยืนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการขนส่งแบบเดิม และนอกจากนี้ยังมีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงที่สูงด้วย”
4. การลดขยะอาหาร (Food Waste)
เศษอาหารกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการวิจัยล่าสุดโดย UNEP มีรายงานว่า ในแต่ละปีมีอาหารที่เป็นขยะประมาณ 1.3 พันล้านตัน ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคของมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดินและน้ำ ไปจนถึงการมีกลิ่นที่เป็นอันตรายและสารเคมีที่เป็นพิษ
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารมีการคาดการณ์ว่าการลดขยะจากอาหารจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับทุกประเทศทั่วโลกได้ โดยเทรนด์นี้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือธุรกิจก็สามารถทำได้ โดยการนำขยะอาหารมาทำปุ๋ยหมักนั่นเอง และการทำปุ๋ยหมักเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ค่อนข้างง่าย ตัวอย่างเช่น บางรัฐในอเมริกาได้มีการบังคับใช้กฎหมายการทำปุ๋ยหมักแล้ว และนอกจากนี้ยังมีรัฐโอเรกอนและวอชิงตันที่มีการออฎหมายบังคับว่าทุกธุรกิจต้องหมักขยะอินทรีย์อย่างถูกกฎหมาย
Nikole Pearson จาก nikolepearson.com กล่าวว่า “เมื่อทิ้งขยะอาหารลงในหลุมฝังกลบ ขยะอินทรีย์จะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูงในการทำลายชั้นเลือนกระจก แต่เมื่อปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ขยะอินทรีย์จะกลายเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งจะปล่อยมลพิษน้อยลง 50%”
5. การนำกลับมาใช้ใหม่
การนำผลิตภัณฑ์และวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเพราะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและการจัดส่งได้อย่างมาก แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้บริโภคหลายล้านคนอีกด้วย ซึ่งข้อดีของเทรนด์นี้คือ สามารถนำสิ่งของต่างๆ มากมายกลับมาใช้ใหม่ได้ ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ เสื้อผ้า ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม Max จาก SurvivalGearShack.com กล่าวว่า “เราสามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมาก โดยการนำสิ่งของต่างๆ กลับมาใช้ซ้ำ หรือผู้บริโภคจะหันไปซื้อสินค้ามือสองมากยิ่งขึ้น”
มีการคาดการณ์ว่าตลาดเสื้อผ้ามือสองจะมีมูลค่ามากกว่า 282 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2575 ซึ่งความต้องการซื้อเสื้อผ้ามือสองที่เพิ่มขึ้นมากจากผู้บริโภคใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และการนำผลิตภัณฑ์มาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ จะกลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2023 เราอาจเห็นแบรนด์มือสอง วินเทจ มากขึ้น
6. ใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้น
ธุรกิจแฟชั่นที่ยั่งยืนนั้นอยู่ในเทรนด์ปี 2023 และจากการคาดการณ์ธุรกิจเหล่านี้จะเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ เส้นใยผ้า และรวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ธุรกิจแฟชั่นต้องมาสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมนั้น มาจากกระแสฟาสต์แฟชั่นที่กำลังเป็นอยู่นปัจจุบัน และนอกจากธุรกิจแฟชั่นแล้วมีธุรกิจสิ่งก่อสร้างที่หันสร้างความยั่งยืนด้วย
ด้วยสาเหตุข้างต้นทำให้ผู้ผลิตได้ร่วมมือกับนักวิจัยในการคิดค้นโซลูชั่นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น มีการหันมาใช้ไม้ไผ่มากกว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และในอุตสาหกรรมแฟชั่นจะหันมาใช้ฝ้ายออร์แกนิก ไม้ไผ่ หรือป่าน เป็นต้น
Ilam Padmanabhan ผู้ก่อตั้ง Ilampadman.com กล่าวกับเราว่า: ตั้งแต่ปี 2023 “คาดว่าจะวัสดุก่อสร้างบ้านที่ยั่งยืนมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ไม้ไผ่ ขนสัตว์ และไม้ก๊อกกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทนทาน และดูดีมีสไตล์”
7. เพิ่มความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
แบรนด์และธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความโปร่งใสมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค และความภักดีต่อตราสินค้าอาจเริ่มถูกทดสอบ ถ้าพวกเขาเห็นว่าแบรนด์ที่เขาเคยซื้อไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะเปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์อื่นทันที่ ดังนั้นธุรกิจควรเพิ่มความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ถ้ายังอยากรักษาลูกค้าไว้อยู่
Alan Duncan ผู้ก่อตั้ง Solar Panels Network กล่าวว่า "ธุรกิจต่าง ๆ กำลังเผชิญความต้องการของผู้บริโภคที่อยากเห็นธุรกิจปรับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ทำให้หลายบริษัทหันมาใช้มาตรการต่างๆ เช่น เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน และในอนาคตธุรกิจจะชนะหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลการรับรองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท ดังนั้นธุรกิจต้องดำเนินการทำทันที เพราะการแข่งขันนี้จะอยู่ในระยะยาว”
อย่างที่บอกไปว่าการแข่งขันนี้อยู่ในระยะยาว และเพื่อให้แบรนด์ต่างๆ สามารถอยู่ในการในการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ได้ ดังนั้น ต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนมาใช้วัสดุรีไซเคิล และผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ หรือการลงทุนในโครงการที่สนับสนุนการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมาตรการชดเชยคาร์บอน เป็นต้น
8. ผู้คนทำงานที่บ้านมากขึ้น
เทรนด์นี้สืบเนื่องมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เทรนด์การทำงานที่บ้านได้กลายเป็นเรื่องปกติ
สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ และประโยชน์ของการทำงานที่บ้านมีมาก ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำงานอยู่บ้านมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมทำให้ธุรกิจทั่วโลกยังคงใช้แนวทางปฏิบัตินี้
เนื่องจากผู้คนทำงานจากที่บ้านมากขึ้น การเดินทางโดยรถยนต์และการขนส่งสาธารณะจึงน้อยลง ซึ่งทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ เมื่อเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้มากขึ้น เช่น สามารถสื่อสารและจัดเก็บข้อมูลจากระยะไกลได้ ทำให้การใช้พลังงานในอาคารสำนักงานก็ลดลงเช่นกัน และข้อดีอย่างหนึ่งของแนวทางปฏิบัตินี้คือการส่งเสริมให้พนักงานมีสมดุลชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วย
9. ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในโลกที่ดูเหมือนมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรากฏขึ้นทุกวัน แต่เพื่อรองรับความยั่งยืนในอีกหลายปีข้างหน้าต้องการเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมาขึ้น อย่างที่เราเห็นว่าปัจจุบันมีการยานพาหนะไฟฟ้ามากขึ้นแล้ว แต่ในปีก่อนๆ ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นได้ และด้วยเศรษฐกิจและสภาพการเงินในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยให้ธุรกิจประหยัดต้นทุนได้
Alan Duncan ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานสีเขียวและพลังงานหมุนเวียน และผู้ก่อตั้ง Solar Panels Network กล่าวว่า“ตั้งแต่ปี 2023 คาดว่าจะมีการใช้ เทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เทอร์โมสตัทอัจฉริยะ และอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน”
และในปี 2023 มีการคาดการณ์ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจะประหยัดพลังงานมากขึ้น ตั้งแต่เตาอบ ตู้เย็น และไปจนถึงเครื่องล้างจานจะมีการใช้พลังงานต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังมีอยู่เพื่อสนับสนุนธุรกิจอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การประชุมทางวิดีโอและที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ แม้ว่าอาจดูเหมือนเป็นเทคโนโลยีธรรมดาเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็อาจเป็นอาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทำให้ผู้คนสามารถทำงานจากระยะไกลได้ และนี่ทำให้เกิดเทรนด์ในข้อต่อไป
10. กระแส Plant-based มาแรง ความต้องการอาหารทางเลือกจากพืชเพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แสดงให้เห็นว่าการไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากนม สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ถึง 73% นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้คนจำนวนมากถึงหันมารับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารทางเลือกมากขึ้น และการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง 30-90% และใช้ที่ดินน้อยลง 47-99% นอกจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้วยังเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ด้วย
จัสติน เลวิตต์ จาก Making.com ผู้ผลิตที่ยั่งยืนกล่าวว่า “เมื่อพูดถึงการผลิตอาหาร โลกกำลังเคลื่อนไปสู่แหล่งอาหารทางเลือกอื่นของเนื้อสัตว์ โปรตีน และนมอย่างรวดเร็ว”
และนี่คือ 10 เทรนด์ความยั่งยืน ปี 2023 ที่ธุรกิจเอสเอ็มต้องรู้
ที่มา : https://www.greenmatch.co.uk/blog/sustainability-trends
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี