ทำไมเทรนด์การผลิต เนื้อจากห้องแล็บ มาแรงในสิงคโปร์

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     องค์การอาหารและเกษตร (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แห่งสหประชาชาติคาดการณ์ราวปี 2030 ประชากรในภูมิภาคเอเชียะจะเพิ่มขึ้นอีก 250 ล้านคนมาอยู่ที่ 4,600 ล้านคน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์จะเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซนต์ ในขณะที่ผลผลิตด้านการเกษตรจะเติบโตเพียง 2 เปอร์เซนต์เท่านั้น

     นำไปสู่ความวิตกเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารไม่ใช่เฉพาะเอเชียแต่ยังรวมถึงภูมิภาคอื่นทั่วโลก และนั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพจำนวนมากหันมาจับธุรกิจอาหารทางเลือก ที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็เห็นจะเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช หรือ plant based protein และที่กำลังได้รับการจับตามองและคาดว่าจะเป็นอาหารในอนาคตที่มาแรงไม่แพ้กันได้แก่ เนื้อจากห้องแล็บ (Lab grown meat)

     เนื้อจากห้องแล็บเกิดจากการนำสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบมาเพาะเลี้ยงในถังหมัก (bioreactor) ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ด้วยน้ำเลี้ยง (culture medium) ที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสเต็มเซลล์ ซึ่งเนื้อแต่ละชนิดจะต้องการการเลี้ยงในสภาพที่ต่างกัน เทคโนโลยีนี้ทำให้สามารถผลิตได้ทั้งเนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู และสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาและกุ้ง

     อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผลิตภัณฑ์เนื้อที่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บจะยังไม่แพร่หลายเนื่องจากหลายประเทศยังไม่มีการอนุญาตให้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ ยกเว้นที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่รัฐบาลเปิดให้จำหน่ายทั่วไปแล้ว บรรดาสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้จึงพุ่งเป้ามายังสิงคโปร์เพื่อชิมลางตลาด เช่น อีทจัสต์ (EatJust) สตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคระดับยูนิคอร์นจากสหรัฐฯ ที่เข้ามาแนะนำเนื้อไก่ที่เพาะจากห้องแล็บในสิงคโปร์โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับร้านอาหารต่างๆ

     นำโดย จอช เทริค ซีอีโออีทจัสต์ เขาเริ่มด้วยการทาบทามร้านข้าวแกงกะหรี่ไก่ไหหลำชื่อดัง Loo’s Hainanese curry rice ซึ่งจำหน่ายที่ศูนย์อาหารย่านเตียงบาห์รูเพื่อมอบ GOOD Meat ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เพาะจากห้องแล็บของอีทจัสต์ไปลองปรุงอาหารให้ลูกค้าชิม ส่งผลให้ร้าน Loo เป็นร้านอาหารแห่งแรกของโลกที่จำหน่ายเมนูที่ปรุงด้วยเนื้อไก่เพาะจากเซลล์ ผลปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมาก มีลูกค้าไปต่อแถวเพื่อซื้อ ลู เคีย จี เจ้าของร้านให้ความเห็นเกี่ยวกับ GOOD Meat ว่าใกล้เคียงเนื้อไก่ทั่วไปถึง 98 เปอร์เซนต์ หากในอนาคตราคาถูกลง ทางร้านก็สนใจสั่งมาทำเป็นเมนูประจำ

     ไม่เท่านั้น อีทจัสต์ยังเป็นพันธมิตรกับโรงแรมเจดับบลิว แมริออท สิงคโปร์ โดยทุกคืนวันพฤหัสบดี ทางโรงแรมจะจัดอีเวนต์เชิญแขกกลุ่มเล็ก ๆ มารับประทานดินเนอร์พร้อมกับเปิดวิดีโอเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ให้ชมไปด้วย อาหารจานหลักที่เสิร์ฟเป็นเนื้อไก่ที่ไม่มีการฆ่าไก่เลยสักตัวแต่เป็นเนื้อไก่ที่เพาะจากห้องแล็บ ซึ่วกิจกรรมที่แมริออทจัดขึ้นเป็นการแนะนำเมนูโปรตีนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองนั่นเอง

     ซีอีโอของอีทจัสต์ให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันบริษัทสามารถผลิตเนื้อไก่จากแล็บได้ปีละไม่ถึง 1,000 กิโลกรัม แต่มีแผนขยายกำลังการผลิตโดยเปิดโรงงานแห่งใหม่ในสิงคโปร์ คาดว่าในเวลาไม่ถึง 10 ปี ไม่เพียงเพิ่มการผลิตได้ยังจะทำให้เนื้อไก่เพาะจากเซลล์มีราคาถูกลงเทียบเท่าเนื้อไก่เลี้ยงจากฟาร์ม ผู้บริหารอีทจัสต์เผยอีกว่านอกเหนือจากไก่ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเพาะเนื้อวัวจากแล็บด้วย

     อีทจัสต์ไม่ใช่รายเดียวที่บุกตลาดสิงคโปร์ บริษัทท้องถิ่นสิงคโปร์เองก็เกาะเทรนด์นี้เช่นกัน อาทิ Shiok Meat สตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเนื้อกุ้งจากห้องทดลอง และได้เปิดตัวในรูปติ่มซำไส้กุ้งแล็บมาแล้วจนสามารถระดมทุนจากนักลงทุนมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากแล็บโดย Shiok Meat ซึ่งประกอบด้วยเนื้อกุ้ง กุ้งล็อบสเตอร์ และเนื้อปูจะวางจำหน่ายได้ในปีหน้า โดย Shiok Meat ตั้งเป้าเจาะหลายตลาดรวมถึง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง

     เทอร์เทิลทรี (TurtleTree) สตาร์ทอัพที่ดำเนินการทั้งในแคลิฟอร์เนีย และสิงคโปร์ก็เป็นอีกบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนภายใต้โปรเจ็คการผลิตน้ำนมด้วยการเพาะเซลล์ในห้องแล็บเพื่อให้ได้ผลิตภณฑ์จากนม เช่น ชีส ครีม และเนย ด้วยเทคโนโลยีการหมักบ่มที่แม่นยำจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงในการผลิต โดยเฉพาะการผลิต “แลคโตเฟอร์ริน” โปรตีนในนมที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายและดีต่อระบบลำไส้ เทอร์เทิลทรีมีแผนจะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้

     การที่รัฐบาลสิงคโปร์เปิดไฟเขียวให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เพาะจากห้องแล็บวางจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฏหมายถือเป็นความตั้งใจ อย่างที่ทราบกัน แม้จะเป็นเกาะเล็ก ๆ แต่สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักกินเนื่องจากความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีพื้นที่จำกัดโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่มีเพียง 1 เปอร์เซนต์เท่านั้น ทำให้มากกว่า 90 เปอร์เซนต์ของวัตถุดิบอาหาร สิงคโปร์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

     ภายใต้ยุทศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารที่รัฐบาลกำหนดนโยบาย 30x30 หรือการตั้งเป้าหมายผลิตอาหารในประเทศให้ได้ 30 เปอร์เซนต์ของคววามต้องการในประเทศภายในปี 2030 สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลดำเนินการคือการลงทุนอย่างหนักหน่วงในด้านเทคโนโลยีอาหาร สตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคจึงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเพราะถือเป็นธุรกิจที่จะเข้ามาเปลี่ยนวงการอาหารอย่างถอนรากถอนโคน

     นักวิชาการมองว่าอาหารอนาคตไม่จำเป็นต้องมาจากการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าอะไรก็สามารถเกิดจากการเพาะเซลล์ได้ทั้งนั้น ตั้งแต่ฝักวานิลลา ไปจนถึงไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์นม และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เชื่อว่าอีกไม่นานอาหารที่บริโภคในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากห้องทดลอง ตอกย้ำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมฟู้ดเทคกำลังมาแรง คาดว่าราวปี 2050 มูลค่าตลาดจะขยับไปอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนจะมีส่วนแบ่งมากสุดในตลาด

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Feeding-Asia/Asia-s-new-food-frontier-The-rise-of-edible-tech

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

Luxumer โอกาสธุรกิจปี 2025 โตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์” ของคนไทยกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา จากพฤติกรรมต่อคิวรอซื้อ เกลี้ยงเชลฟ์ “หยุดไม่ได้ ก็ใจมันลักซ์” ของชาว Luxumer จึงกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด