มีอะไรอยู่ในตัวเลข? เทคนิคสื่อสารกับลูกค้าง่ายๆ ผ่านถ้วยไอศกรีม ให้ผลลัพธ์เกินคาดจากแบรนด์มีบุญ

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Meeboon Icecream

 

     ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย คือ หัวใจสำคัญของการทำสินค้าขายในเบื้องต้น แต่หากมีการสื่อสารที่ดีเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด นอกจากจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการขายและทำรายได้ให้กับธุรกิจได้มากขึ้นด้วย

     เหมือนกับชุดตัวเลข 1, 4 และ 5 ที่เห็นอยู่บนถ้วยไอศกรีมหลากสีในขณะนี้ รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ ตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญกับคนกินไอศกรีมยังไง ลองมาฟัง “น้ำปรุง ศรีสุวรรณ” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “ไอติมมีบุญ” ไอศกรีมเพื่อสุขภาพที่ไม่ว่าสายไหนๆ คีโต - วีแกน - โลว์คาร์บ - เบาหวาน - แพ้นมวัว ก็สามารถรับประทานได้หมด ไปฟังเฉลยเรื่องราวที่มาของตัวเลขเหล่านั้นกัน

สารตั้งต้นตัวเลข

     “เบื้องต้นไอศกรีมของเราจะมี  2 สูตร คือ สูตรกะทิ และสูตรอัลมอนด์ โดยมีทั้งหมด 14 รสชาติ แบ่งเป็น Almond Based ซึ่งมีนมเป็นส่วนผสม 4 รสชาติ ได้แก่ อัลมอนด์, อัลมอนด์ช็อก, อัลมอนด์ช็อกบานาน่า, อัลมอนด์ช็อกกาแฟ และ Coconut Based อีก 10 รสชาติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ รสทั่วไป ได้แก่ กะทิ, ชาเขียวมัทฉะ, ดาร์กช็อกโกแลต, ชาไทย,  กาแฟ, ใบเตย, ช็อกบานาน่า และรสผลไม้ ได้แก่ สตรอว์เบอรี, มิกซ์เบอร์รี และบลูเบอร์รี มีให้เลือก 2 ขนาด คือ 4 ออนซ์ และ 22 ออนซ์

     “โดยในทั้ง 2 สูตรนั้นจะให้คาร์บ (คาร์โบไฮเดรต) ในปริมาณที่แตกต่างกัน เราจึงพยายามหาวิธีสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่าย เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นไอศกรีมเพื่อสุขภาพ ไม่ใช้น้ำตาล (Sugar Free) และแป้งในส่วนผสม จึงเหมาะกับลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพในหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มคีโตที่ในแต่ละวันต้องจำกัดการกินคาร์บ, กลุ่มคนเป็นโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมน้ำตาล, กลุ่มคนแพ้นมวัว (Dairy Free), กลุ่มวีแกน เจ มังสวิรัติ ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์, กลุ่มโลว์คาร์บ และกลุ่ม Gluten Free ที่แพ้แป้งสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ เราจึงต้องพยายามหาวิธีสื่อสารให้เข้าใจ” น้ำปรุงเกริ่นถึงที่มาและเหตุผลการนำตัวเลขเข้ามาใช้ในบรรจุภัณฑ์  

ถอดรหัสตัวเลข

     โดยชุดตัวเลขที่นำมาใช้บนบรรจุภัณฑ์ของไอติมมีบุญ ประกอบด้วย 3 ตัว ได้แก่ เลข 1, 4 และ 5 แต่ละเลขจะหมายถึงปริมาณคาร์บในแต่ละถ้วยที่จะได้รับ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานได้ตามความเหมาะสมที่ต้องการ โดยมีความหมายดังนี้

     เลข 1 เน็ทคาร์บ 1 กรัม (เบสด์อัลมอนด์ / มีนมเป็นส่วนผสม) เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มคีโต, โลว์คาร์บ, ซูการ์ฟรี และกลูเตนฟรี

     เลข 4 เน็ทคาร์บ 4 กรัม (เบสด์กะทิ) เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มคีโต, วีแกน, โลว์คาร์บ, ซูการ์ฟรี และกลูเตนฟรี

     เลข 5 เน็ทคาร์บ 5 กรัม (เบสด์กะทิ / รสผลไม้) เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มคีโต, วีแกน, โลว์คาร์บ, ซูการ์ฟรี และกลูเตนฟรี (ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม)

     โดยหลังจากสร้าง How to ชุดตัวเลขในการเลือกรับประทานไอศกรีมของแบรนด์ขึ้นมาแล้ว น้ำปรุงเล่าว่าวิธีการต่อมาหลังจากที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาขอซื้อไอศกรีม ก็คือ จะเริ่มต้นด้วยการสอบถามลูกค้าก่อนว่าเป็นผู้บริโภคกลุ่มใด เพื่อจัดส่งรสชาติที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้เลือก ยกตัวอย่างเช่น หากลูกค้าแพ้นมวัวหรือวีแกน ก็จะไม่จัดส่งเลข 1 ซึ่งเป็นสูตรอัลมอนด์ที่มีนมวัวเป็นส่วนผสมไปให้ หรือสำหรับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเบาหวาน ก็จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงเลข 5 ที่เป็นสูตรรสผลไม้ เป็นต้น

     ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มต้นออกแบบไอเดียขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้ลงตัวมากขึ้นไม่ให้เหลือเป็นสต็อกค้าง จึงเลือกใช้วิธีสั่งผลิตถ้วยไอศกรีมตามตัวเลข 1, 4 และ 5 เป็นพื้นฐานขึ้นมาก่อน ส่วนในแต่ละรสชาติจะใช้วิธีสั่งพิมพ์เป็นสติ๊กเกอร์ขึ้นมา เพื่อนำมาแปะในภายหลัง

ผลลัพธ์ตัวเลข

     จากที่แค่ต้องการหาวิธีสื่อสารออกไปยังลูกค้า น้ำปรุงเล่าว่าด้วยไอเดียการนำตัวเลขมาใส่ลงในแพ็กเกจจิ้งที่แปลกไม่เหมือนใครบวกกับสีสันที่ใช้ จึงกลายเป็นการสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ที่ช่วยดึงดูดลูกค้าเพิ่มเข้ามาด้วยอีกทาง โดยในช่วง 2 ปีก่อนที่โควิด-19 เริ่มต้นระบาดใหม่ๆ และเป็นช่วงที่แบรนด์เริ่มหันมาขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยอดขายบางเดือนพุ่งขึ้นมาเป็น 10 เท่าเลยก็มี เช่น เคยขายได้เดือนละ 50,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 5 – 6  แสนบาทเลยก็มี

     “เราเป็นแบรนด์เล็กๆ การทำให้ลูกค้าจดจำได้เป็นสิ่งจำเป็น ลูกค้าหลายคนที่ได้เห็นวิธีที่เราสื่อสารออกไป ก็ชมว่าคิดได้ยังไงเป็นไอเดียที่ดีมากเลย ทั้งเข้าใจได้ง่ายและตอบโจทย์ด้วย บางคนก็สารภาพว่าเข้ามาเพราะสีถ้วยสะดุดตา ดูน่ารัก เรียกว่าเป็นความพอดีที่ลงตัวมากกว่า ซึ่งเราจะไม่หยุดพัฒนาอยู่แค่ไอศกรีมโลว์คาร์บแน่นอน ต่อไปในอนาคตอาจจะมีไอศกรีมสำหรับคนออกกำลังกายที่ต้องการโปรตีนสูงออกมาเพิ่มก็ได้ เป็นชุดตัวเลขใหม่ที่คิดเพิ่มขึ้นมา” น้ำปรุงกล่าวทิ้งท้าย

     ไอเดียชุดตัวเลขของไอติมมีบุญ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจ ซึ่งบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรที่มากมาย หรือสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่เสมอไปก็ได้ แค่ตอบโจทย์ธุรกิจ ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้ ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่ดีแล้วได้เหมือนกัน

 

แรงบันดาลใจตัวเลข

     “จริงๆ แบรนด์ไอติมมีบุญเริ่มต้นมาจากสูตรไอศกรีมกะทิของครอบครัวพี่เองที่คุณพ่อคุณแม่ยังทำขายอยู่ แต่ด้วยความที่ช่วงหนึ่งแม่ของสามีป่วยเป็นโรคเบาหวาน พี่และสามี (วัชชระ สำราญสุข) จึงลองนำมาปรับสูตรเป็นไอศกรีมที่ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่แป้งและดีต่อสุขภาพให้ท่านรับประทาน จนต่อมาภายหลังด้วยเทรนด์สุขภาพกำลังมา เราจึงต่อยอดนำมาทำเป็นธุรกิจขึ้นมา เพราะใจจริงก็อยากรักษาสูตรไอศกรีมเอาไว้ด้วย จากเริ่มแรกก็เป็นไอศกรีมรักสุขภาพทั่วไป ต่อมาภายหลังจึงพยายามทำการตลาดและเจาะกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนมากขึ้นว่าไอศกรีมของเราเหมาะกับกลุ่มลูกค้าใดบ้าง จนกลายเป็นไอเดียชุดตัวเลขออกมา โดยที่มาของชื่อ “ไอติมมีบุญ” มาจากชื่อคุณแม่ของพี่เอง ท่านชื่อ “บุญมี” เราจึงนำมาตั้งให้คล้องจองกัน”

ไอติมมีบุญ

FB : meeboonicecream

โทร. 095 745 2871

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน