วิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกไทย ยังทำกำไรดีไหมหลังโควิดคลี่คลาย

 

     ต้องบอกว่าร้านสะดวกซื้อ หรือ Convenience store (CVS) เป็นอีกหนึ่ง Segment ค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่จากการคาดการณ์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยอดขายค้าปลีก Convenience store ในภาพรวมปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัวราว 13-15% (YoY) จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า

     ถึงแม้ว่า ในระยะสั้น ตลาดค้าปลีก Convenience store จะโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การรักษายอดขายให้สม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยอดขายจากสาขาเดิม (Same-Store Sales Growth: SSSG) ในระยะกลางถึงยาวอาจทำได้ยากและลำบากขึ้น

ปัจจัยส่งผลบวกกับธุรกิจค้าปลีก

     ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน รวมทั้งได้รับแรงหนุนภายใต้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง ที่หนุนการใช้จ่ายผ่านร้านค้าปลีกเอสเอ็มอีโดยเฉพาะร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์รองหรือแบรนด์ราคาประหยัดน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงพนักงานออฟฟิศหรือพนักงานประจำที่เริ่มกลับมาทำงานเป็นปกติ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะหนุนให้ยอดขายของ Convenience store บางสาขาในแหล่งท่องเที่ยวฟื้นตัว

     การปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในบางรายการ จากภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่ายังมีสินค้าอีกหลายรายการที่มีแนวโน้มจะขอปรับขึ้นราคาสินค้าในระยะข้างหน้า ซึ่งแม้อาจจะกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่จะช่วยดันมูลค่าตลาดให้ยังคงเพิ่มขึ้นในภาพรวม

ปัจจัยส่งผลลบกับธุรกิจค้าปลีก

     จำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาใหม่ของผู้ประกอบการค้าปลีก Convenience store รายใหญ่ (Modern trade) และการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของกลุ่มค้าปลีกท้องถิ่น (Local brand) ที่มีการขยายสาขาใหม่ภายใต้แบรนด์ของตนเอง ผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีรายใหญ่ที่อยู่ในต่างจังหวัด หรือกลุ่มค้าปลีกภูธรรายใหญ่ที่จดทะเบียนการทำธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท รวมถึงโชห่วยที่มีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็น Convenience store ภายใต้การเป็นพันธมิตรหรือเครือข่ายของผู้ประกอบการหรือซัพพลายเออร์รายใหญ่ ซึ่งแม้ว่าจะยังมีสัดส่วนยอดขายที่ไม่สูงนักราว 10% ของยอดค้าปลีก Convenience store ทั้งหมด แต่สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น

     จุดอิ่มตัวของ Convenience store ในไทย หากเทียบกับฐานการบริโภค ด้วยข้อจำกัดการเติบโตจากประเด็นโครงสร้างประชากร ท่ามกลางแผนการขยายสาขาที่ยังคงเพิ่มขึ้น จะทำให้ Convenience store ในไทยหนาแน่นขึ้นอีก นำมาซึ่งความท้าทายในการที่จะรักษายอดขายโดยเฉพาะยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ให้มีความสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้น

     นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ข้อ ได้แก่ สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูง ภาวะเงินเฟ้อ, E-commerce ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น, สินค้าในแต่ละ Segment อาจไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก

การปรับตัวของธุรกิจค้าปลีก

     ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการคาดการณ์ว่า ยอดขายค้าปลีก Convenience store (CVS) ปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัวราว 13-15% (YoY) จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนทั้งการกลับมาของลูกค้าหลักอย่างพนักงานออฟฟิศและนักท่องเที่ยวต่างชาติภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ราคาสินค้าบางรายการที่ปรับสูงขึ้น และการเปลี่ยนรูปแบบสาขาจากโชห่วยมาเป็นพันธมิตรหรือเครือข่ายของค้าปลีกรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ยอดขายค้าปลีก Convenience store ปี 2566 อาจขยายตัวชะลอลง

     ถึงแม้ว่าในระยะสั้นตลาดค้าปลีก Convenience store จะโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การรักษายอดขายให้สม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยอดขายจากสาขาเดิม (Same-Store Sales Growth: SSSG) ในระยะกลางถึงยาวอาจทำได้ยากและลำบากขึ้น ซึ่งแปรผันไปตามทำเลที่ตั้งของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสภาพการแข่งขันในตลาดหรือในพื้นที่โดยรอบ เป็นต้น

     นอกจากนี้ผู้บริโภคเองก็มีทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลาย ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังคงจำกัด หรือมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังจะเป็นคนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกที่ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด

     ดังนั้นผู้ประกอบการจะจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมและเทรนด์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น รูปแบบการขายออนไลน์ Live ขายสินค้า การเลือกหาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมาจำหน่าย เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ การให้บริการเสริมอื่นๆ ที่ครบวงจร เช่น จุดรับส่งพัสดุ เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้แล้ว ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมหรือมีศักยภาพต่างมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งยังมีโอกาสในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกรวมถึงค้าปลีกกลุ่ม Convenience store ด้วย

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน