​ยุโรป ... เป้าหมายลงทุนที่น่าสนใจของอุตฯอาหารไทย






เรื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

    จากแรงกดดันหลากปัจจัยกระทบผู้ประกอบการส่งออกไทยไปยุโรป ทั้งการทยอยถูกตัดสิทธิ GSP ในบางรายการสินค้าของไทยเมื่อปี 2557 และตัดสิทธิทุกรายการในปี 2558 รวมไปถึงแนวโน้มกฎระเบียบด้านการค้าที่เข้มงวดขึ้นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิต เพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยท่ามกลางแนวโน้มที่เงินยูโรยังมีโอกาสอ่อนค่าลงอีก

    อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกด้านหนึ่งก็อาจเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าไปแสวงหาช่องทางลงทุนในยุโรป ทั้งการเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมทุนในกิจการที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง หรือมีเครือข่ายฐานการตลาดขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อลดต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าภายในภูมิภาคยุโรป ขณะที่มาตรฐานการผลิตที่สูงของยุโรปจะเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าต่อไปยังประเทศที่สามได้ด้วย

    ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและผลิตสินค้าอาหารเป็นอุตสาหกรรมเด่นที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและมีโอกาสขยายการลงทุนไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยที่ยังต้องการคงส่วนแบ่งในตลาดยุโรป ตลอดจนผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก โดยพื้นที่ยุโรปกลางและตะวันออกเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ในขณะที่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่อาศัยเทคโนโลยี ควรเลือกลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีอาหารในยุโรปตะวันตก

    ประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรป

    ยุโรปตะวันตก : เบลเยี่ยม เยอรมนี  เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร

    ยุโรปตะวันตก โดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิต กำลังซื้อสูง ระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อต่างประเทศ

   เบลเยี่ยม เทคโนโลยีอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งแบบแช่แข็ง และแบบไม่ต้องแช่แข็ง

  สหราชอาณาจักร กำลังซื้อสูงในสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม ศักยภาพเด่นในการแปรรูปเนื้อสัตว์

  เนเธอร์แลนด์ ท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปเชื่อมต่อต่างประเทศ ระบบภาษีที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ

  เยอรมนี ตลาดสินค้าเกษตรและอาหารที่ใหญ่สุดในสหภาพยุโรป ตลาดสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ อาทิ สินค้าเกษตรอินทรีย์ เชี่ยวชาญนวัตกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์แช่แข็ง นอกจากนี้ โครงสร้างผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศประกอบด้วย SMEs จำนวนมากซึ่งส่งผลให้ได้รับความสะดวกในการลงทุน   

    ยุโรปกลางและตะวันออก:โปแลนด์  ออสเตรีย ฮังการี โรมาเนีย

    ยุโรปกลางและตะวันออก การลงทุนด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปเด่น แรงงานมีคุณภาพและค่าแรงไม่สูงนักหากเทียบกับพื้นที่ยุโรปตะวันตก

   โปแลนด์ เป็นตลาดใหญ่และเศรษฐกิจเติบโต เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย  

    สำหรับการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลโปแลนด์ อยู่ในรูปแบบเงินช่วยเหลือหากคุณสมบัติในการลงทุนตรงกับข้อกำหนดที่รัฐบาลให้การส่งเสริม อาทิ การลงทุนที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า42.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร ที่มีการจ้างงานขั้นต่ำ 50 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือราวร้อยละ 1.5-7.5 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับการดำเนินโครงการ

    ออสเตรีย มีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปตะวันตก ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กิจการการลงทุนของ SMEs ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ อาทิ สินเชื่อวงเงิน 0.1-7.5 ล้านยูโร ต่อโครงการต่อปี สำหรับการลงทุนใหม่ในพื้นที่ที่กำหนด  หรือเงินอุดหนุนเบื้องต้นร้อยละ 5 สำหรับกิจการ SMEs ที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ 

    ฮังการี มีพื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์และสร้างผลผลิตได้สูง เหมาะสำหรับธุรกิจไทยที่มีความสนใจในการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ใช้เป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าไปในยุโรปตะวันออกและตะวันตก โดยเชื่อมต่อกับท่าเรือสำคัญ

   สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในฮังการีมีข้อเด่นด้านบรรยากาศการลงทุนและกฎระเบียบมีความโปร่งใส มีกฎหมายปกป้องนักลงทุนต่างชาติเยี่ยงคนในชาติ และอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในกิจการได้ร้อยละ 100 ยกเว้นกิจการที่เกี่ยวกับการทหาร

    โรมาเนีย มีโอกาสลงทุนในภาคการเกษตร รวมไปถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำการเกษตร ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐของโรมาเนียแตกต่างกันไปตามรูปแบบอุตสาหกรรมและขนาดการลงทุน โดยเป็นการช่วยเหลือทั้งจากรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่น อาทิ การยกเว้นภาษีในกรณีการลงทุนตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นของนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ 

    โดยสรุปแล้ว สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำตลาดยุโรป การลงทุนผลิตสินค้าในภูมิภาคนั้นมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสทางการค้ากับภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ รัสเซีย แอฟริกา 

    นอกจากนี้ ข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าระหว่างยุโรปกับประเทศต่างๆ ที่บรรลุข้อตกลงแล้ว อาทิ ชิลี เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยการกระจายสินค้าไปยังประเทศคู่สัญญา ตลอดจนข้อตกลงที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ แคนาดา อินเดีย และกลุ่มประเทศ GCC  อนึ่ง การเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership: TTIP) ที่ยังอยู่ระหว่างการการเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพยุโรป ซึ่งหากการเจรจาบรรลุข้อตกลงจะเป็นอีกช่องทางและโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีฐานการผลิตในสหภาพยุโรปในการเชื่อมโยงตลาดการค้ากับสหรัฐฯ

    อย่างไรก็ดี การลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรปยังมีประเด็นความแตกต่างในรายละเอียดที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ อย่างนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่นอกจากจะแยกไปตามประเทศแล้ว ยังมีความแตกต่างกันไปในตามเขตการปกครองในประเทศนั้นๆด้วย 


RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน