ทำแพ็กเกจจิ้งแบบไหนให้ชนะใจคนซื้อ ชมไอเดีย 3 แบรนด์ SME ที่ตีตลาดด้วยบรรจุภัณฑ์

 

 

      ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในปัจจุบันสามารถพัฒนา “บรรจุภัณฑ์” หรือ “แพ็กเกจจิ้ง” ให้น่าสนใจได้ไม่แพ้แบรนด์ใหญ่ๆ ในตลาด เช่นสินค้าที่จะพาไปรู้จักในวันนี้ได้แก่ All Season (ออลซีซัน), Clear Nose (เคลียร์โนส) และ Patto (พัตโตะ) ที่มีแพ็กเกจจิ้งโดดเด่นสะดุดตาจนสามารถชนะใจผู้ซื้อได้ และนี่คือไอเดียสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการ SME

All Season : คิดนอกกรอบ สร้างสินค้าจากตัวตน

      ด้วยรูปลักษณ์และสีสันที่สะดุดตาของแพ็กเกจจิ้งทำให้ All Season ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมแปรรูปได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในระยะเวลาอันรวดเร็ว แถมยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เจ-สุธานนท์ เดชเกิด กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซาท์เทิร์นแดรี่ จำกัด วัยเพียง 31 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์เล่าย้อนถึงความสำเร็จดังกล่าวให้ฟังว่า เดิมครอบครัวทำธุรกิจนมบรรจุถุงส่งโรงเรียนแถบภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งปี 2562 หลังจากเรียนจบปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ ก็คิดที่จะสร้างแบรนด์ของตนเอง ภายใต้คอนเซ็ปต์สินค้าที่สามารถดื่มได้ทุกเพศ ทุกวัย ในทุกที่ ทุกเวลา และ All Season ก็เป็นชื่อที่ตอบโจทย์ 

      เมื่อได้ชื่อแบรนด์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของสินค้าแล้ว ลำดับถัดมาคือการออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่ต้องไม่เหมือนใครในตลาด ต้องให้ความรู้สึก “กินแล้วเท่” ในขณะเดียวกันก็ต้องถ่ายทอดตัวตนของสินค้าที่ว่า นมกินแล้วทำให้สุขภาพดี กินนมแล้วสดใส แข็งแรง ออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งใช้เวลาการออกแบบและพัฒนานาน 6 เดือน จนได้เป็นแพ็กเกจในปัจจุบันคือ ขวดพลาสติก สีสันสดใส และได้มีการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกับแพ็กเกจจิ้งแบบเพ้าช์ ในส่วนของการทำตลาดนั้นช่วงแรกทำการตลาดผ่านร้านโชห่วย สหกรณ์โรงเรียน และตัวแทนจำหน่ายต่างๆ จากนั้นจึงตัดสินใจเข้าจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น พื้นที่ภาคใต้เบื้องต้นจำนวนกว่า 1,000 สาขา และใช้เวลาเพียง 4-5 เดือนขยายสู่เซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ 

      “การที่เราเป็นน้องใหม่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง งบการตลาดยังไม่มากและมีรุ่นพี่ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสนใจอยากลองสินค้าของเรา และแพ็กเกจจิ้งก็เป็นสิ่งแรกที่จะช่วยเราได้ เพราะแพ็กเกจจิ้ง ไม่ใช่แค่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุสินค้าเท่านั้น แต่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่จะช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค อีกทั้ง แพ็กเกจจิ้ง ยังสะท้อนตัวตนของสินค้าได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ควบคู่กับการรักษาคุณภาพสินค้า หากคุณภาพหรือรสชาติของสินค้าไม่ได้ แม้แพ็กเกจจิ้งจะน่าสนใจ แต่ผู้บริโภคก็จะไม่กลับมาซื้อซ้ำอย่างแน่นอน พร้อมกับพัฒนาสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ ล่าสุดได้มีการผลิตนมเปรี้ยวเพ้าช์สู่ตลาด ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน”

Clear Nose : ยิ่งเล็ก ยิ่งต้องใส่ใจ จบได้ในซองเดียว

      หากเอ่ยชื่อแบรนด์ “Clear Nose” เชื่อว่าหลายคนน่าจะต้องรู้จักเพราะเป็นหนึ่งในแบรนด์สกินแคร์บิวตี้ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วมากและมีการออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จากขนาดใหญ่แบบขวดและแบบหลอด สู่รูปแบบซองที่ดูทันสมัย สวยงามมีคุณภาพน่าใช้ ในราคาที่เข้าถึงได้คือ 49 บาท และ 59 บาท ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภควัยใสและวัยทำงานช่วงอายุ 18-30 ปี ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน

      แนป-ณรัฐ หาญคำภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นอาร์พีแอล เอเชีย จำกัด กล่าวว่า จากความต้องการขยายตลาดและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น จึงตัดสินใจที่จะนำสินค้าไปวางจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น เนื่องจากเป็นช่องทางการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้สะดวกและรวดเร็ว แต่ด้วยแพ็กเกจเดิมมีขนาดใหญ่และราคาค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ จึงต้องมีการปรับแพ็กเกจจิ้งใหม่ทั้งหมดเป็นรูปแบบซอง ภายใต้โจทย์ที่ว่า ต้องทำแพ็กเกจจิ้งให้ผู้บริโภคเห็นแล้วรู้สึกว่าคือสินค้าตัวเดียวกัน ข้อมูลและสาระสำคัญต้องอยู่ครบถ้วนจบในซองเดียว ต่างกับแพ็กเกจจิ้งแบบกล่องที่สามารถใส่สาระสำคัญต่างๆ แยกลงไปในกระดาษขนาดใหญได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

      “ทีมเคลียร์โนสใช้เวลาในการออกแบบและพัฒนาปรับปรุงประมาณ 5 เดือน จนได้แพ็กเกจกิ้งแบบซองที่คงไว้ซึ่งหัวใจสำคัญในตัวสินค้าเดิมทุกประการ ทั้งสี แบบอักษร พร้อมกับนำรูปแพ็กเกจจิ้งเดิมมาใส่ด้วย ผู้บริโภคจะได้ไม่เกิดความสับสน เราผลิตล็อตแรกจำนวนกว่า 100,000 ซอง จำหน่ายได้หมดในระยะเวลาเพียงสัปดาห์แรกเท่านั้น และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน Clear Nose มีจำหน่ายในรูปแบบซองที่เซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งหมด 7 รายการ ขนาดตั้งแต่ 4-30 ml. นอกจากเรื่องแพ็กเกจจิ้งเรายังต้องใส่เรื่องของนวัตกรรมเข้าไปในตัวสินค้า เพื่อสร้างความต่างด้วย เนื่องจากตลาดนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เช่น ในตัวเจลแต้มสิวเคลียร์โนส มีการใส่เทคโนโลยีที่ช่วยให้สิวยุบเร็วขึ้นและไม่แสบ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากเช่นกัน”

Patto : สร้างคาแร็กเตอร์ให้สินค้า ต่อยอดสู่สินค้าใหม่ 

      หากได้ยินเแค่ชื่อ Patto หลายคนก็คงเข้าใจได้ว่าเป็นสินค้าจากแดนอาทิตย์อุทัย และยิ่งได้เห็นแพ็กเกจจิ้งยิ่งไม่มีข้อสงสัย แต่อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น เพราะที่จริงแล้ว Patto คือหนึ่งในแบรนด์สินค้าจากบริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด SME ระดับตำนาน เจ้าของแบรนด์ “บ้านมะขาม” มะขามแปรรูปชื่อดังที่มีเส้นทางการทำธุรกิจน่าชื่นชม มาวันนี้  สวนผึ้งหวาน ได้มีการแตกไลน์สินค้าและแบรนด์เพิ่มขึ้น โดยมี เต้น-ธนนท์ โฆวงศ์ประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาช่วยพัฒนา จนทำให้ได้รูปลักษณ์และแพ็กเกจจิ้งโดดเด่นสะดุดตา 

      เต้น-ธนนท์ เล่าว่า Patto ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ของบริษัทที่เปิดตัวไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กับสินค้า “บ๊วยแผ่นนุ่ม” สไตล์ญี่ปุ่น ราคาซองละ 25 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างยอดขายเฉพาะที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในปี 2564 สูงกว่า 8 ล้านบาท ห่างจากสินค้ายอดฮิตตลอดกาลอย่างมะขามหวานแซ่บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เหตุผลที่ทำให้ Patto มียอดขายที่ดี แม้จะเปิดตัวในช่วงโควิด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นผู้บุกเบิกและรสชาติถูกปากผู้บริโภคที่ไม่ว่าใครก็ต่างติดใจ ชวนให้นึกถึงจนต้องซื้อรับประทาน ประกอบกับแพ็กเกจจิ้งนั้นสื่อถึงตัวสินค้าได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ภาพลูกบ๊วยที่ใช้ภาพจริง เพื่อให้ผู้บริโภคทราบได้ทันทีว่าสินค้าที่บรรจุในแพ็กเกจจิ้งคืออะไร ทำจากอะไร สีสันที่ดูละมุนให้ความรู้สึกสบายตา ชวนมอง 

      “สิ่งสำคัญของแพ็กเกจจิ้งที่ผู้ประกอบการไม่ควรลืม คือ การสร้างคาแร็กเตอร์และเรื่องราวให้กับตัวสินค้า อย่างของ Patto จะเป็นเรื่องราวของ 2 ย่า หลาน ที่จะมาสื่อให้เห็นว่า สินค้าของเราทำขึ้นจากความใส่ใจ เหมือนทำให้ลูกหลานทานเอง ในรูปแบบของสินค้า Homemade คนทำก็มีความสุข คนกินก็มีความสุข และ 2 ย่า หลานก็จะเป็นตัวละครสำคัญในการเดินเรื่องสู่สินค้าตัวอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ Patto ในอนาคต การที่สินค้ามีคาแร็กเตอร์และเรื่องราวจะทำให้เราทำการตลาดได้ง่ายขึ้น เป็นการสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภค”  

      สำหรับผู้ประกอบการที่มีแนวคิดที่จะปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งก็สามารถนำแนวคิดของทั้ง 3 แบรนด์ไปปรับใช้ได้

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2