เผยทริคเจาะตลาด Fandom ลูกค้าสายเปย์ จ่ายไม่อั้น กำลังมาแรงในอาเซียน

 

 

      ด้วยสังคมโลกการสื่อสารที่เติบโตขึ้น ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถทำความรู้จัก พูดคุย และแชร์ประสบการณ์กับผู้คนได้มากมาย ทั้งเรื่องราวที่สนใจ หรือสิ่งที่ชอบ จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนชุมชนเล็กๆ ขึ้นมาที่เรียกว่า “Fandom” (มีรากศัพท์มาจากคำว่า Fanclub และ Kingdom รวมกัน = อาณาจักรของแฟนคลับ) ไม่ว่าจะเป็นความชอบจากศิลปินในดวงใจ การ์ตูน กีฬา งานอดิเรกต่างๆ

      ซึ่งในทางธุรกิจแล้วแฟนด้อมก็เปรียบเหมือนกลุ่มผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่มีความชื่นชอบคล้ายกัน โดยหากคนในแฟนด้อมมีความสนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วละก็ ย่อมส่งต่อความชอบนั้นไปสู่เพื่อนๆ ในกลุ่ม จนอาจเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง รวมถึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในเรื่องที่คล้ายกันก็ได้ โดยการเกิดแฟนด้อมอาจไม่จำเป็นต้องมีการรวมตัวกันเป็นกิจจะลักษณะ แต่อาจเกิดจากการติดตามซึ่งกันและกัน พูดคุยหรือแชร์ข้อมูลในพื้นที่ของตนก็ได้

โควิด – โซเชียลทำยอดแฟนด้อมเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 2 ปี

      โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ จากการสำรวจของ ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ ฮิลล์ อาเซียน สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มฮาคูโฮโด ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยถึงพฤติกรรมแฟนด้อมในอาเซียนพบว่ามีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่

1. โควิด-19 ทำให้ผู้คนมีเวลาว่างเยอะขึ้น เนื่องจากหลายบริษัทเลือกแก้ใช้มาตรการ WFH ให้พนักงานทำงานอยู่บ้านมากขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจึงทำให้มีเวลามากขึ้นในการทำสิ่งที่ชอบมากขึ้นไปด้วย

2. ความแพร่หลายของสังคมออนไลน์ที่มีมากขึ้น ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลและเข้าถึงสิ่งที่ชื่นชอบได้มากขึ้น ชุมชนกลุ่มคนที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกันจึงขยายเติบโตเพิ่มขึ้น

      โดยได้มีการทำการสำรวจวิจัยเชิงปริมาณและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างแฟนด้อมจำนวน 5,000 คนใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย,​ สิงคโปร์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และประเทศญี่ปุ่นเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างให้เห็น

     โดยพบว่า Top 3 แฟนด้อมที่ผู้คนในอาเซียนให้ความนิยมสนใจมากที่สุด ก็คือ

  • K-Pop
  • Games
  • Cooking

 

      แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า K-Pop จะได้รับความนิยมสูงสุดในทุกประเทศ โดยอินโดนีเซีย แฟนด้อมยอดนิยมอันดับ 1 คือ ทำอาหาร, ขณะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์ คือ เกม, ไทย อันดับ 1 คือ K-Pop, สิงคโปร์ คือ มังงะ หรือแอนิเมชั่น และมาเลเซีย แฟนด้อมที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ วิดีโอสตรีมมิ่งต่างๆ

ทำไมผู้คนถึงหันมาใช้ชีวิตบนแฟนด้อมมากขึ้น

      จาก 2 ปัจจัยที่กล่าวมานั้น แม้จะเอื้อให้เกิดจำนวนแฟนด้อมเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่เหตุผลแท้จริงที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในอาเซียนหันมาใช้ชีวิตอยู่บนแฟนด้อมมากขึ้น ก็คือ

1. ได้พลังบวก – เติมเต็มคุณค่าจากสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง มีตัวตน มีความหวังที่ไม่อาจสมหวังหรือทำให้สำเร็จได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

2. ได้พัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ – นอกจากความเพลิดเพลินได้อยู่กับสิ่งที่ชอบแล้ว ในแฟนด้อมยังทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้น บางคนถึงขั้นนำไปต่อยอดสร้างอาชีพรายได้ให้ตัวเองได้

3. ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รู้สึกอบอุ่นเหมือนครอบครัวเดียวกัน - จากคนคอเดียวกันที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เปิดกว้าง แสดงความคิดเห็น ทุกคนพูดคุยกันได้อย่างเท่าเทียม ช่วยเหลือกันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

      จากที่กล่าวมาจึงมีการเปรียบว่าแฟนด้อม คล้ายกับสังคมในอุดมคติ หรือยูโทเปีย ที่มีแต่สิ่งดีๆ ไม่มีการแบ่งชนชั้น มีแต่การแบ่งปัน ทุกคนเท่าเทียมกัน และจากพลังที่มีอยู่รวมกันนี้ จึงสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ในสังคม โดย ฮิลล์ อาเซียน ได้เรียกแฟนด้อมของผู้บริโภคอาเซียนว่า “MATTER-VERSE” หรือ “จักรวาลแห่งคุณค่า” ชุมชนในอุดมคติที่ทุกคนจะได้รับการเติมเต็ม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากแฟนด้อมในประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นแฟนด้อมที่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินบันเทิงของตัวเองมากกว่าที่จะเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม หรือหาคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะส่วนใหญ่ของแฟนด้อมในอาเซียน

      โดยสรุปจุดเด่นของชุมชนแฟนด้อมในอาเซียน ได้แก่  1. ความเท่าเทียม (Equality) 2. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) 3. ความสัมพันธ์แบบครอบครัว” (Second Family) และ 4. พลังของแฟนคลับ (Strength in Numbers) ได้ร่วมมือกันทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม

      สำหรับลักษณะของแฟนด้อมไทยถือว่าเป็นสายเปย์เยอะที่สุดในอาเซียน โดย

  • คนไทยจอยแฟนด้อมกับต่างชาติเยอะที่สุดในอาเซียน
  • คนไทยใช้จ่ายกับแฟนด้อมเยอะที่สุดในอาเซียน
  • โดยยอมใช้จ่ายรายได้อย่างน้อย 30 % ไปกับแฟนด้อม
  • และกว่า 45 % ที่ยอมลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ลง อาทิ เสื้อผ้าแฟชั่น, รับประทานอาหารนอกบ้าน, ความบันเทิงนอกบ้าน เพื่อมาใช้จ่ายกับแฟนด้อมแทน

 

จะสร้างโอกาสธุรกิจจากแฟนด้อมได้ยังไงบ้าง

       การที่ธุรกิจจะสร้างโอกาสจากแฟนด้อมได้มีอยู่ 2 ส่วน คือ

1.ร่วมมือกับแฟนด้อม สร้างการเติบโตไปด้วยกัน (Co-growth with a fandom)

51.6 % ของแฟนด้อมในอาเซียน คาดหวังให้แบรนด์มาร่วมมือกันกับแฟนด้อมของพวกเขา เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ร่วมกัน

88.2 % แฟนด้อมในอาเซียนกล่าวว่าหากแบรนด์มา Collaborate กับแฟนด้อม ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม พวกเขายินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสนับสนุนแบรนด์นั้นๆ

หัวใจสำคัญ

  • อย่าเลือกเพียงเพราะกระแส แค่ความดัง หรือความใหญ่ของด้อม แต่ควรมองที่วิชั่น หรือจุดยืนว่าตรงกันกับแบรนด์หรือไม่

2. สร้างแฟนด้อมของตัวเอง (Build a Brand Fandom)

หัวใจสำคัญ

  • ให้ความเท่าเทียมทุกคนเท่าๆ กัน อย่าใส่ใจเฉพาะ Top Spender ที่จ่ายหนัก แต่ควรให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมเท่าๆ กัน เพื่อให้ชุมชนที่มีความสุขและเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง
  • ไม่ควรนำความคิดเห็นจากแฟนด้อมมาเป็นทิศทางหลักในการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ควรวิเคราะห์รวบรวมความคิดจากลูกค้าอื่นๆ ด้วย เพื่อชั่งน้ำหนัก และหาความต้องการที่แท้จริง

 

     แต่ไม่ว่าจะจับมือกับแฟนด้อม หรือสร้างแฟนด้อมของตัวเองขึ้นมาก็ตาม การจะทำให้ลูกค้ายอมรับและเป็นแฟนด้อมของแบรนด์ได้ในระยะยาว มีเหตุผลหลักอยู่ 3 ข้อ คือ

56.7 % สินค้าต้องมีคุณภาพ (Functional Quality)

41.3 % ให้คุณค่าด้านอารมณ์ความรู้สึก (Emotional Value)

39.1 % มีชุมชนแฟนด้อมที่น่าสนใจ (Fan Involvement)

      และนี่คือ เรื่องราวของแฟนด้อม ลูกค้าคนสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของแบรนด์ที่กำลังมาแรงในอาเซียนขณะนี้ ซึ่งหากสามารถมัดใจพวกเขาได้รับรองความสำเร็จของแบรนด์ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน อย่าลืมหาแฟนด้อมของแบรนด์คุณให้เจอ!

 

TEXT : กองบรรณาธิการ

ที่มา : HILL ASEAN

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2