​สินค้าที่อยู่อาศัยที่ขายดี และที่ขายไม่ดี



 



 
เรื่อง :     ดร.โสภณ พรโชคชัย
              ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
     
 
         จากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมดถึง 1,634 โครงการ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 พบว่าสินค้าที่อยู่อาศัยบางกลุ่มมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น แสดงว่าขายได้ดี  และบางกลุ่มมีการปรับราคาลง แสดงว่าขายไม่ได้  เป็นสินค้าประเภทไหนบ้าง

         ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยจากผลการสำรวจล่าสุดว่า สินค้าที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาคือ ธันวาคม 2557 - มิถุนายน 2558 มีดังนี้:

         1. ตึกแถวราคา 10-20 ล้านบาท ทำเล I4: ยานนาวาสี มีการปรับราคาขึ้นจาก 12.8 ล้านบาท เป็น 14.586 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% แสดงว่าเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการ

         2 ทาวน์เฮาส์ราคา 3-5 ล้านบาท ทำเล H1: บางนา-ตราด กม.1-10 มีการปรับราคาขึ้นจาก 3.99 ล้านบาท เป็น 4.49 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.5% ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา  แสดงว่าเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดในบริเวณนี้

         3. ทาวน์เฮาส์ ราคา 5-10 ล้านบาท ทำเล F2: รัชโยธิน แต่เดิมมีราคา 8.2 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2557 เพิ่มเป็น 9.18 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2558 หรือเพิ่มขึ้น 12% แสดงว่าสินค้านี้มีความคึกคักเป็นที่ต้องการในพื้นที่นี้

         4. ห้องชุดราคา 2-3 ล้านบาท ในทำเล F6: เทพลีลา-มหาดไทย ปรับตัวขึ้นจาก 2.61 ล้านบาท เป็น 2.911 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.5%  ดังนั้นหากจะทำสินค้าประเภทนี้ออกสู่ตลาดในบริเวณนี้ น่าจะเป็นที่ต้องการ

         5. ห้องชุดราคา 1-2 ล้านบาท ทำเล H3: ศรีนครินทร์ (แมคโคร) ราคาเพิ่มจาก 1.125 ล้านบาท เป็น 1.238 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.1%  แสดงว่าสินค้านี้มีผู้ต้องการมากพอสมควร จึงมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น

         ในทางตรงกันข้าม มีสินค้าที่ราคาตกต่ำลง ซึ่งแสดงว่าคงไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก จึงต้องลดราคาลงมา ซึ่งผู้ที่จะทำโครงการใหม่พึงระวัง หรือผู้ซื้อพึงระวังเช่นกันว่าเป็นสินค้าที่อาจไม่เหมาะสมกับทำเลนั้น ๆ ได้แก่

         1. บ้านเดี่ยวราคา 20 ล้านบาทขึ้นไปในmำเล C4: บางซื่อ มีราคาปรับตัวลงจาก 25.53 ล้านบาทเป็น 22.5 ล้านบาท หรือราคาลดลงถึง 11.9% ในรอบ 6 เดือน (ธันวาคม 2557 - มิถุนายน 2558) กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าสินค้าประเภทนี้อาจไม่เหมาะสมกับย่านนี้

         2. บ้านแฝดราคา 3-5 ล้านบาท ทำเล B3: แจ้งวัฒนะ ได้ลงราคาจาก 4.117 ล้านบาท เป็น 3.651 ล้านบาท ลดลงถึง 11.3%  ในย่านนี้ อาจมีการพัฒนาเป็นทาวน์เฮาส์ หรือห้องชุด การพัฒนาบ้านแฝดระดับราคานี้อาจไม่เป็นที่ต้อนรับของตลาด

         3. ห้องชุดราคา 1-2 ล้านบาท ย่านทำเล K4: อ้อมน้อย ราคาลดจาก 1.329 ล้านบาท เหลือเพียง 1.185 ล้านบาท ลดลง 10.8%  ในย่านนี้ ห้องชุดราคาจะต่ำกว่า 1 ล้านบาท และยังมีทาวน์เฮาส์ราคา 1 ล้านบาท แข่งกับสินค้ากลุ่มนี้อยู่ด้วย

         4. ห้องชุดราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ย่านทำเล A4: รังสิตคลอง 1-7 ราคาลดลงจาก 0.69 ล้านบาท เป็น 0.616 ล้านบาท หรือลงลง 10.7%  ในย่านนี้ห้องชุดที่ขายอยู่ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก  จึงมีการลงราคาเพื่อจูงใจให้มีการตัดสินใจซื้อ

         5. ห้องชุดราคา 3-5 ล้านบาท ทำเล C2: ติวานนท์-กรุงเทพนนท์ ลงราคาจาก 4.804 ล้านบาท เหลือเพียง 4.3 ล้านบาท หรือลดลง 10.5% ทั้งนี้ในย่านนี้ ห้องชุดกลุ่มใหญ่จะมีราคาต่ำกว่านี้  แสดงว่าการกำหนดราคาอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

         อนึ่งในการตั้งราคาขายสินค้า หรือการประมาณราคาเพื่อการซื้อสินค้า ควรมีการเปรียบเทียบตลาดให้ชัดเจน ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง ในด้านทำเล การก่อสร้าง สภาพโครงการ สภาพแวดล้อม ทางเข้าออก บริการและสาธารณูปการต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ขายหรือซื้อผิดราคา กรณีตัวอย่างข้างต้น จึงเป็นอุทาหรณ์สำคัญ

         ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สำรวจพบว่า ในแต่ละเดือนโครงการหนึ่งๆ ในขณะนี้ขายได้ประมาณ 4.4% ของสินค้าในโครงการนั้น ๆ  ส่วนสินค้าที่เพิ่งเปิดใหม่ในปี 2558 มีอัตราการขายได้ต่อเดือนเท่ากับ 16% ทั้งนี้เพราะมีการส่งเสริมการขายดีกว่า  ดังนั้นโครงการใดที่ขายได้ต่ำกว่านี้จึงเป็นการขายที่ช้า อาจประสบปัญหาได้  ส่วนโครงการใด ที่ขายได้เร็วกว่านี้แสดงว่าน่าจะประสบความสำเร็จด้วยดี


RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน