การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ไม่เพียงแต่สามารถเริ่มต้นได้เร็วกว่าเท่านั้น แต่ยังใช้ทุนที่ต่ำกว่าอีกด้วย โดยเฉพาะการทำธุรกิจออนไลน์ที่มีโซเชียลมีเดียในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงมาร์เกตเพลสที่เป็นช่องทางในการนำเสนอสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง อย่างไรก็ตาม แม้จะมี 2 เครื่องมือการตลาด และการขายที่สร้างโอกาสได้เป็นอย่างดีแล้ว สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ ยังอาจจะต้องการตัวช่วย เพื่อให้การเริ่มต้น และสามารถไปต่อได้ง่ายยิ่งขึ้น
สาเหตุก็เนื่องจากว่า การเริ่มต้นธุรกิจนั้นมีรายละเอียดที่ต้องขบคิดจินตนาการมากมายพอสมควร ต้องมีการตั้งชื่อ ออกแบบโลโก้ สร้างเว็บไซต์ สร้างแบรนด์ ตลอดจนการผลิตคอนเท็นต์รูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่บนสื่อโซชียล เพื่อนำเสนอตัวเองบนโลกออนไลน์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จัก สนใจ และตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการในที่สุด ซึ่ง 7 เครื่องมือที่จะแนะนำในบทความตอนนี้ จะช่วยให้การเริ่มต้นของคุณง่ายขึ้น ที่สำคัญเครื่องมือเหล่านี้สามารถใช้งานได้ฟรีอีกด้วย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันครับ
Namech_k (namechk.com) ก่อนเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ สิ่งแรกที่หลายคนต้องไม่พลาดก็คือ การเลือกชื่อโดเมน (domain name) ให้กับเว็บไซต์ ตลอดจนบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งการที่จะมานั่งเช็คว่า ชื่อโดเมนที่ต้องการถูกจดไปแล้ว หรือยัง หรือถ้าดอทคอมถูกจดไปแล้ว มีดอทอื่นๆ ที่น่าสนใจหรือไม่ แนะนำให้เข้าไปตรวจสอบที่ Namech_k เพราะที่นี่ที่เดียวคุณสามารถตรวจสอบได้มากกว่า 30 โดเมนเนม และบัญชีผู้ใช้บนโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้มากกว่า 90 แพลตฟอร์ม เพียงแค่กรอกชื่อที่ต้องการเข้าไปในช่องค้นหา (Search) แล้วคลิกปุ่มแว่นขยายข้างๆ ชื่อโดเมนที่สนใจทั้งที่ถูกจดไปแล้ว และที่ยังว่างอยู่ ตลอดจนบัญชีผู้ใช้ชื่อเดียวกันบนโซเชียลมีเดียกว่า 90 แพลตฟอร์มจะแสดงให้ทราบภายในอึดใจ การบ้านคือ เลือกเอาชื่อที่ต้องการ หรือค้นหาใหม่จนได้ชื่อที่ถูกใจครับ
Namech_k บริการตรวจสอบชื่อโดเมน และยูสเซอร์แอคเคาท์ที่ถูกใช้แล้ว และที่ยังว่างอยู่
นอก Namech_k จะใช้ตรวจสอบโดเมน และยูสเซอร์แอคเคาท์ได้แล้ว ยังมีบริการคิดชื่อธุรกิจ ให้อีกด้วย โดยคลิกเมนู Name Generators ที่ด้านบนเลือก Business Name Generator พิมพ์คีย์เวิร์ดธุรกิจในช่องค้นหา แล้วคลิกปุ่มแว่นขยายครับ
Looka (looka.com) หลังจากได้ชื่อธุรกิจแล้ว ขั้นต่อมาก็ต้องออกแบบโลโก้ แนะนำให้ลองใช้เครื่องมือสร้างโลโก้ฟรีชื่อว่า Looka โดยเมื่อคุณเข้าไปที่หน้าแรก ระบบจะให้ป้อนชื่อธุรกิจเข้าไป ตามด้วยอุตสาหกรรมของธุรกิจ จากนั้นเลือกรูปแบบโลโก้ที่ชื่นชอบ ตามด้วยชุดสี ชื่อบริษัท และสโลแกน ปิดท้ายด้วยสัญลักษณ์ที่เกียวข้องกับธุรกิจ จากนั้น Looka จะใช้ข้อมูลที่คุณให้ไปสร้างเป็นโลโก้ให้คุณได้เป็นไอเดียภายในอึดใจ ง่ายเลยใช่ไหมครับ
ตัวอย่างโลโก้บางส่วนที่ออกแบบโดย Looka ภาพที่ได้จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่กำหนดให้ในตอนเริ่มต้น
BrandCrowd (brandcrowd.com) ถ้าคุณใช้ Looka แล้วยังไม่ได้โลโก้ที่ถูกใจ ขอแนะนำบริการออกแบบโลโก้ฟรีอีกที่หนึ่งชื่อว่า BrandCrowd วิธีใช้งานจะง่ายกว่า แค่ใส่ชื่อธุรกิจ คีย์เวิร์ด และก็สไตล์ของโลโก้ที่ต้องการ เพียงแค่นี้ก็ได้ไอเดียโลโก้ธุรกิจไปใช้แล้ว (ทดลองใช้พบว่า เครื่องมือนี้จะให้โลโก้ที่ลูกเล่นมากกว่า Looka ครับ เลยเสนอให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติม)
ตัวอย่างโลโก้บางส่วนที่ออกแบบโดย BrandCrowd
teleportHQ (teleporthq.io) เมื่อได้ชื่อธุรกิจ โดเมเนม และโลโก้ที่ต้องการแล้ว ขั้นต่อมาก็คือ การสร้างเว็บไซต์ ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ประกอบการมือใหม่ แนะนำให้ลองใช้บริการฟรีของ teleportHQ ซึ่งคุณสามารถสร้างเว็บไซต์ด้วยการลากและวางรูปภาพ กล่องข้อความต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดแต่อย่างใด แถมยังมีเทมเพลตให้เลือกใช้อีกมากมาย และเมื่อสร้างเว็บไซต์เสร็จสามารถโฮสติ้งได้ฟรีอีกต่างหาก ใครสนใจลองใช้ดูก่อนได้เลยครับ (สำหรับนักพัฒนาเว็บ หรือฟรีแลนซ์ สามารถใช้บริการนี้ในการลดขั้นตอนการเขียนโค้ดได้ด้วย) ดูแล้วน่าใช้ไม่แพ้ Wix.com เลยทีเดียว
teleportHQ สามารถสร้างเว็บไซต์ได้หลากหลายรูปแบบ และตอบสนองการแสดงผลบนทุกหน้าจอ
Ryte (rytr.me) คราวนี้มาดูในส่วนของเครื่องมือที่ช่วยคุณเรื่องเขียนข้อความให้น่าสนใจกันดูบ้าง ไม่ว่าจะเป็น บล็อก ไอเดียธุรกิจ ข้อความโฆษณา เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โฆษณากูเกิ้ล SEO หัวเรื่อง อีเมล์ ข้อความอธิบายช่องยูทูบ ข้อความอธิบายคลิป ฯลฯ Ryte นักเขียน AI ช่วยคุณได้ เพียงแค่เลือกภาษาที่ต้องการ รูปแบบของข้อความเช่น โน้มน้าว ประทับใจ ล้อเล่น ฯลฯ ตามด้วยประเภทข้อข้อความที่ต้องการนำไปใช้ (บล็อก อีเมล์ โฆษณาเฟสบุ๊ค ยูทูบ ฯลฯ) อาจจะเลือกระดับความคิดสร้างสรรค์อีกเล็กน้อย แล้วคลิกปุ่ม Ryte for me เพียงแค่นี้ ข้อความสร้างสรรค์ที่คุณต้องการ ก็จะปรากฎให้คุณนำไปปรับแต่งใช้งานได้ทันที อะไรจะง่ายปานนี้ มีภาษาไทยให้เลือกใช้ด้วยครับ
ตัวอย่างให้ Ryte เขียนข้อความอธิบายคลิปยูทูบที่ใช้ไตเติ้ลว่า “โอไมครอน อันตรายกับเด็กแค่ไหน?”
Crello (crello.com) มือใหม่ที่ต้องการใช้เครื่องมือออกแบบกราฟิกสำหรับโพสต์บนโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือแม้แต่ธัมบ์เนลล์ของยูทูบ ต้องชื่นชอบ Crello อย่างแน่นอน เพราะมันช่วยให้คุณสามารถออกแบบชิ้นงานสวยๆ ด้วยฟรีเทมเพลตที่มีมากกว่า 50K+ รายการ ชิ้นส่วนกราฟิกสำหรับสร้างงานมากกว่า 10 ล้านชิ้น รวมถึงชุดตัวอักษรสวยๆ เพลง ภาพเคลื่อนไหว แบคกราวด์ และองค์ประกอบอื่นๆ ให้อีกเพียบ ที่สำคัญคุณสามารถใช้งานได้ฟรีทั้งหมดนี้ ซึ่งในการใช้งานก็ง่ายมาก แค่เลือกเทมเพลตของกราฟิกที่ต้องการ แล้วปรับแต่งแก้ไขแบบ ลากแล้ววาง เสร็จแล้วดาวน์โหลดมาใช้ได้ทันที ความเห็นส่วนตัว Crello จะเหมือนกับ Canva อาจจะไม่เก่งเท่า แต่มีรูปแบบการใช้งานเรียบง่าย เหมาะสำหรับมือใหม่อย่างแท้จริง (* crello.com ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเว็บไซต์ vistacreate – create.vista.com)
ตัวอย่างการใช้งานเทมเพลตธัมบ์เนลล์ยูทูบ ง่าย และฟรี ดีจริงๆ
Genially (genial.ly) และเพื่อให้ธุรกิจของคุณดูโปรเฟชชันแนลยิ่งขึ้น แนะนำให้ใช้ Genially ในการสร้างคอนเท็นต์ที่มีปฎิสัมพันธ์กับผู้ใช้ (interactive content) ได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นพรีเซนเทชั่นนำเสนอผลงาน อินโฟกราฟิก เกมมิฟิเคชั่น ภาพที่โต้ตอบได้ วิดีโอพรีเซนเทชั่น หรือคอนเท็นต์ฝึกอบรม เป็นต้น สำหรับการใช้งานก็แสนง่าย เพียงแค่เลือกชนิดของเอกสารโต้ตอบที่ต้องการ เลือกเทมเพลต จากนั้นแก้ไขข้อความ รูปภาพ และรูปแบบการโต้ตอบที่ต้องการ ลองสมัครแล้วใช้งานกันดูนะครับ รับรองว่า งานของคุณจะดูโปรขึ้นอีกเยอะเลย
ใครที่กำลังมองหาเครื่องมือสร้างคอนเท็นต์โต้ตอบได้ Genially คือ คำตอบที่คุณต้องชอบอย่างแน่นอน
และทั้งหมดคือ 7 เครื่องมือสำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่ต้องการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างมั่นใจ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ ท่านครับ
Text: ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช – ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี