จับตาตลาด Personalized Food ธุรกิจอาหารมาแรงแห่งยุคคนรักสุขภาพ

 

 

     เพราะร่างกายของคนเรานั้นมักแตกต่างกันไป บางคนผอม บางคนอ้วน ฯลฯ ความต้องการสารอาหารของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ในเมื่อผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้การพัฒนาอาหารในรูปแบบ One size fits all อาจไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคได้ดั่งเก่า จึงเกิดแนวคิด Tailored to FIT นำไปสู่การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่เรียกว่า Personalized Food ที่คาดว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ในโลกอาหารเพื่อสุขภาพ  และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการอาหารที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้า

Personalized Food หรืออาหารเฉพาะบุคคล คือ อาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นและเหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินชีวิต สุขภาพ และพันธุกรรมในแต่ละบุคคลเพื่อตอบสนองต่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และในที่นี้ยังหมายรวมถึงอาหารบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มนักกีฬา และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น

     จากข้อมูลศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งการผนวกกันของ 2 เทคโนโลยีที่ร้อนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่  FoodTech และ HealthTech จึงทำให้เกิดเทรนด์อาหารที่เรียกว่า Personalized Food หรืออาหารเฉพาะบุคคล โดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ชี้ Personalized Food ในไทยจะสามารถเติบโตได้เฉลี่ยสูงถึงปีละ 14.2% หรือแตะระดับ 5.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2025

ประเภทของ Personalized Food

     Personalized Food สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท โดยอ้างอิงจากบทความ Unlocking Personalized Nutrition ของ Oakland Innovation ปี 2020 ซึ่งแบ่งประเภท Personalized Food ด้วย Metrix ของ 2 ปัจจัย คือ 1) รูปแบบของการส่งมอบอาหารสู่ผู้บริโภค (อาหารสำเร็จรูป หรือ บริการร้านอาหาร) และ 2) ระดับความเฉพาะเจาะจงของอาหาร (ระดับกลุ่ม หรือ ระดับบุคคล)

1. อาหารสำเร็จรูปสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม

     จะอยู่ในรูปของอาหารสำเร็จรูปปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่มที่ผลิตมาเฉพาะสำหรับกลุ่มบุคคล เช่นกลุ่มคนที่ใส่ใจสุขภาพ และให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับเป็นหลักหรือเพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพในอนาคต เช่น การควบคุมน้ำหนัก การฟิตร่างกายของนักกีฬา และผู้สูงอายุ ตัวอย่างผู้ประกอบการ อาทิ บริษัท Kewpie ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น สเต็กแฮมเบอร์เกอร์ไก่และเกี๊ยวกุ้งที่เนื้ออาหารมีความนุ่มและเคี้ยวง่าย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการบดเคี้ยว ลิ้นรับรสชาติได้น้อยลง และการกลืนอาหารลำบาก ในส่วนของไทย มีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่ผลิตข้าวต้มผู้สูงวัยออกมา โดยมีคุณสมบัติเคี้ยวง่าย ดูดซึมดี และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ผู้สูงอายุต้องการมากกว่าคนปกติ

2. อาหารสำเร็จรูปสำหรับเฉพาะบุคคล

     จะอยู่ในรูปของอาหารสำเร็จรูปปรุง สำเร็จพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่ม ที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะตัวบุคคลมากขึ้น ตัวอย่างผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท Nestle ที่เริ่มมีการนำผล DNA มาวิเคราะห์เพื่อสร้างเมนูอาหารเฉพาะบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้แบรนด์ Lean Cuisine ซึ่งต่อยอดจากอาหารเฉพาะกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก โดยบริษัทมีผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการช่วยให้คำแนะนำและจัดทำแผนเมนูอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพส่วนบุคคลได้

3. ร้านอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม

     จะให้บริการอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ทำขึ้นมาเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้สูงอายุรวมทั้งกลุ่มผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ ตัวอย่างผู้ประกอบการ เช่น บริษัท Verdify ซึ่งเป็น FoodTech ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกแบบอาหารผ่านออนไลน์ อีกทั้งร่วมมือกับเชฟเพื่อรังสรรค์อาหารและพร้อมจัดส่งถึงบ้านสำหรับมื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และของว่าง ด้วยข้อมูลทางโภชนาการโดยคำนึงถึงการแพ้อาหารและเป้าหมายด้านสุขภาพ ซึ่งมีอาหารที่เหมาะสม

     กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มผู้ที่รับประทานอาหารที่มีเกลือต่ำหรืออาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ และกลุ่มผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

     สำหรับตัวอย่างในไทย เช่น ร้านต้นกล้าฟ้าใส เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่มีอาหารที่เหมาะกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น เมนูอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เมนูอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และเมนูอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาล หรือร้าน Vista Kitchen ที่มีเมนูอาหารที่เหมาะกับกรุ๊ปเลือดของแต่ละคน

4. ร้านอาหารสำหรับเฉพาะบุคคล

     จะให้บริการอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลมากที่สุด โดยผู้บริโภคสามารถเลือกเมนูอาหารที่ต้องการ พร้อมสัดส่วนสารอาหารที่ร่างกายต้องการ

    ตัวอย่างผู้ประกอบการ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร Vita Mojo ในสหราชอาณาจักร ซึ่งร่วมมือกับ DNA fit (บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน HealthTech) นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายและสุขภาพในแต่ละบุคคลได้ ด้วยข้อมูลพันธุกรรมหรือ DNA โดยผู้บริโภคที่ได้รับการตรวจ DNA แล้ว จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของตนเองผ่าน Ipad ของร้านอาหาร เพื่อเลือกสั่งอาหารที่ต้องการ รวมทั้งสามารถปรับแต่งส่วนประกอบอาหารให้ตรงกับ DNA ได้ ซึ่งระบบจะมีการแสดงสีสถานะของอาหารให้ผู้บริโภคทราบ เช่น หากแสดงสถานะสีเขียว นั่นคือ เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ขณะที่หากเป็นสีแดง แสดงว่าอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารนั้นควรหลีกเลี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับร้าน Sushi Singularity ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากลูกค้ามีการจองแล้วร้านอาหารจะส่งชุดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกค้าเพื่อทำการตรวจ DNA ของแต่ละคน เพื่อปรับส่วนผสมของซูชิให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด และมีจุดที่น่าสนใจคือ การทำชูชิออกมาเสริฟด้วยเทคโนโลยี 3D Printing Food

Personalized Food เหมือนหรือต่างกับFunctional Food อย่างไร?

     Personalized Food นับเป็นกลุ่มอาหารที่ต่อยอดมาจาก Functional Food โดยเป็นกลุ่มอาหารที่มุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกัน แต่ Functional Food เป็นอาหารที่ตอบสนองความต้องการของคนทั่วไปที่รักสุขภาพโดยจะบอกคุณสมบัติของอาหาร เช่น ไข่ไก่เสริมโอเมก้า 3 ซุปไก่สกัด นมไขมันต่ำหรือกาแฟน้ำตาลต่ำ เป็นต้น ขณะที่ Personalized Food เป็นอาหารที่ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์สุขภาพและโภชนาการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มหรือแต่ละบุคคลเป็นการเฉพาะ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนิยามข้างต้น เราขอยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น

พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการสารอาหารที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

     ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญและสนใจอาหารที่ทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะบุคคลมากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของ Ganeden Probiotic (2019) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตส่วนประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ ที่พบว่า 58% ของผู้บริโภคให้ข้อมูลว่าอาหารที่มีความเฉพาะบุคคลมีอิทธิพลต่อการเลือกที่จะบริโภค สอดคล้องกับผลการสำรวจของ Leatherhead Food Research (2020) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการศึกษาด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ชี้ว่ามีผู้บริโภคถึง 42% ที่มีความต้องการบริโภคอาหารเฉพาะบุคคลเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับผลการสำรวจของ Monate (2020) ที่พบว่าประมาณหนึ่งในสาม (32%) ของผู้บริโภคต้องการเข้าถึงอาหารที่ตรงกับความต้องการด้านโภชนาการส่วนบุคคล

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกตลาดใหม่ๆ ของผู้ประกอบการอาหารไทย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024