ถอดกลยุทธ์ล้มยักษ์ บทเรียนธุรกิจ จากซีรีส์ดัง ITAEWON CLASS

 


      อิแทวอนคลาส (ITAEWON CLASS) หรือ “ธุรกิจปิดเกมแค้น” หนังซีรีส์เกาหลี ความยาว 16 ตอน สร้างจากเว็บตูนชื่อเดียวกัน เริ่มฉายทาง Netflix ตั้งแต่ต้นปี 2020 ถึงตอนนี้ก็เกือบสองปีแล้ว นอกจากความสนุกและแง่คิดดีๆ ซีรีส์เรื่องนี้ยังสร้างกระแสฮิตอาหารเกาหลีสไตล์ทันบัม (ชื่อร้านในหนัง) อยู่ระยะหนึ่ง ทั้งร้านอาหารที่นำเสนอเมนูจากหนัง และเหล่ายูทูบเบอร์ที่แนะนำวิธีปรุงรับประทานเองที่บ้านด้วย   

     พัคแซรอย หรือ รอย เป็นเด็กมัธยมปลายที่มีความฝันอยากเป็นตำรวจ พ่อของเขาทำงานในบริษัทอาหารอันดับหนึ่งของประเทศ เมื่อพ่อได้เลื่อนขั้นย้ายไปประจำสำนักงานใหญ่ของชางกากรุ๊ป เขาจึงต้องย้ายไปโรงเรียนใหม่ ซึ่งทายาทชางกากรุ๊ปก็เรียนที่นี่ด้วย เพียงวันแรกก็เกิดเรื่องที่ทำให้ชีวิตพลิกผัน เมื่อรอยยื่นมือเข้าไปช่วยเพื่อนในห้องที่ถูกรังแก และต่อยหน้าลูกชายประธานชางกากรุ๊ปเข้า พ่อของเขาต้องมาเผชิญหน้ากับประธานบริษัทในห้องฝ่ายปกครอง เมื่อเห็นว่าเป็นลูกชายของพนักงานคนเก่าคนแก่ ประธานชางบอกให้รอยคุกเข่าขอโทษลูกชายตัวเอง แล้วจะไม่เอาเรื่อง รอยยืนยันว่าได้ทำตามความเชื่อของตัวเอง อย่างที่พ่อของเขาสอนมา และยึดถือเป็นแนวทางดำเนินชีวิต ประธานชางจึงหันไปกดดันหัวหน้าพัค ให้จัดการกับลูกชาย เรื่องจบที่หัวหน้าพัคตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่เขาทำงานมาค่อนชีวิต ส่วนรอยก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียน

     หัวหน้าพัคใช้เงินเก็บลงทุนเซ้งพื้นที่เปิดร้านอาหารเล็กๆ สองพ่อลูกช่วยกันตกแต่งร้าน รอยรู้สึกผิดที่ทำให้พ่อต้องตกงาน ขณะที่หัวหน้าพัคกลับมีความสุข เขาบอกลูกชายว่า “นี่เป็นความฝันของพ่อเลยนะ ได้มีกิจการเป็นของตัวเองแบบนี้” แต่ยังไม่ทันได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ คืนนั้นก็เกิดอุบัติเหตุ รอยสูญเสียพ่อไป การทวงความยุติธรรมทำให้รอยถูกตัดสินจำคุก 3 ปีในข้อหาพยายามฆ่า  

     นับแต่นั้นเป้าหมายชีวิตใหม่ของรอยก็คือการแก้แค้น เขาใช้เวลาในคุกศึกษาหาความรู้ หนังสือเล่มโปรดของเขาคือ “รสชาติดีๆ ของชีวิต” ประวัติชีวิตของประธานชาง และเรื่องราวการสร้างอาณาจักรชางกา จากร้านอาหารเล็กๆ ใต้สะพานจนก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจอาหารอันดับหนึ่งของประเทศ เมื่อพ้นโทษออกมา เขาทิ้งหนังสือเล่มนี้ที่อ่านจนจำได้ขึ้นใจ และวางแผนแก้แค้นศัตรูที่เขายอมรับนับถือความสามารถ ด้วยการมุ่งมั่นสร้างธุรกิจให้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งเพื่อโค่นชางกากรุ๊ปลงให้ได้

     หลังพ้นโทษเขาวางแผนว่าจะทำงานประมงน้ำลึก 7 ปี เพื่อเก็บเงินเปิดร้านอาหาร อันที่จริงรอยมีเงินก้อนหนึ่ง จากการเซ้งร้านและเงินประกันชีวิตของพ่อ เมื่อรวมกับเงินที่พ่อกันไว้สำหรับให้เขาเรียนต่อ ก็พอที่จะเปิดร้านได้โดยไม่ต้องเสียเวลา 7 ปี แต่เขาไม่ใช้เงินก้อนนั้นเพราะ “เงินนั้นเท่ากับชีวิตพ่อ มันควรมีความหมายมากกว่านั้น"

     อีก 7 ปี ต่อมา รอยก็เปิดร้านอาหารในย่านอีแทวอน ชื่อว่า ทันบัมผับ ลงมือตกแต่งร้านด้วยตัวเอง ทว่าเพียงแค่ใจสู้ ไม่ได้ทำให้ธุรกิจรอดได้ เขาได้รับบทเรียนแรกของการทำธุรกิจ ทันบัมผับ แทบไม่มีลูกค้าเลย รอยพยายามหาหนทางทำการตลาดด้วยการสั่งซื้อชุดมาสคอต ใส่ไปแจกใบปลิวแนะนำร้าน แต่ต่อมาทัมบัมผับก็ถูกปิดชั่วคราวเพราะให้ผู้เยาว์ที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าไปใช้บริการ

     โชอีซอ เด็กสาวมัธยมปลายที่เป็นต้นเหตุให้ร้านถูกปิด เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนฟอลโลถึง 760,000 คน เธอเข้าใจพลังของโลกโซเชียลเป็นอย่างดี และรู้ว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร “การรีวิวร้านอร่อย พาตะลุยกิน เป็นคอนเทนต์ที่คนชอบกัน ถ้าจับทางได้ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็เอาไปใช้ได้หมด" เธอมีรายได้จากการโฆษณาลงโซเซียล รีวิวร้านอาหาร เป็นคนดังที่มีคนติดตาม อยากรู้ว่าเธอกินอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร ทว่าเธอก็มีด้านมืด เมื่อเพื่อนในห้องถูกลูกสาวคนใหญ่คนโตรุมรังแก คล้ายฉากแบบเดียวกับที่ทำให้รอยเรียนไม่จบ เธอใช้วิธีถ่ายคลิปการกระทำนั้นโพสต์ลงโซเชียล ปล่อยให้คนก่อเหตุถูกสังคมพิพากษา   

      อีซอเสนอตัวเป็นผู้จัดการร้านทันบัมผับ พร้อมเหตุผลว่าทำไมร้านนี้ถึงต้องการเธอ เธอวิเคราะห์ปัญหาของร้านว่ามีเรื่องอื่นที่ต้องแก้ไขมากกว่าเรื่องโปรโมต ไล่ไปตั้งแต่ไม่มีเมนูเด่น ร้านไม่มีคอนเซปต์ อาหารหน้าตาไม่น่ากิน ไม่มีเอกลักษณ์ และรสชาติยังต้องปรับปรุง การตกแต่งภายในก็ไม่เข้าที่เข้าทาง พนักงานไม่มีหัวเรื่องการบริการ เรียกว่าเป็นร้านที่ไม่มีทั้งเอกลักษณ์และมาตรฐาน

     รอยได้เรียนรู้การตลาดที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย การใช้สื่อยุคใหม่เข้ามาทำการตลาด โดยที่ไม่มองข้ามหัวใจสำคัญของธุรกิจ ในช่วงแรกลูกค้าอาจมาเพราะกระแสโซเชียล แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการเข้ามาใช้บริการซ้ำเพราะคุณภาพ บรรยากาศ รสชาติของอาหาร ทันบัมจึงมีการปรับเมนู ปรับปรุงรสชาติ อีซอเปรียบเสมือนขงเบ้งหรือกุนซือของร้าน เธอวางผังร้านใหม่ ทุบผนังให้วางโต๊ะได้มากขึ้น จัดแสงในร้าน ตกแต่งให้มีมุมถ่ายรูป ปรับเมนูให้มีความน่าสนใจ ทันบัมผับกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งด้วยภาพลักษณ์ใหม่ มีมาตรฐาน และกลายเป็นที่รู้จักผ่านโลกโซเชียล

     ประธานชางเฝ้ามองเส้นทางของรอยและปิดทุกช่องทางไม่ให้ทันบัมผับได้เกิด ตั้งแต่ซื้ออาคารที่ทันบัมผับเช่าอยู่ ยกเลิกการต่อสัญญา ที่สุดรอยตัดสินใจรวบรวมเงินมาลงทุนซื้อตึกแถวเป็นของตัวเอง การตกแต่งภายในรวมถึงการก่อสร้างลงมือทำกันเองทุกอย่าง จึงใช้งบประมาณน้อยมาก กุนซืออย่างอีซอยังโปรโมตร้านใหม่ไปด้วยในระหว่างการปรับปรุง เธอไลฟ์สดเบื้องหลังการทำงาน ตั้งแต่หาทำเลใหม่ ตกแต่ง ก่อสร้าง กระบวนการทุกอย่าง แนะนำสมาชิกครอบครัวทันบัม ทำให้ร้านได้รับความสนใจ กลายเป็นกระแสอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่สนใจอยากทำร้านอาหาร และวัยรุ่นที่ตามหาร้านอร่อย  

     แม้จะปรับปรุงทุกอย่างพร้อมก็ยังคงมีลูกค้าจำกัด ด้วยทำเลใหม่ที่ไม่เหมาะนัก มีคำแนะนำให้รีบขายตึกแล้วย้ายร้านไปที่อื่น การเปิดร้านบนถนนสายนี้มีแต่รอวันเจ๊ง แทนที่จะยอมแพ้ รอยกลับไปช่วยปรับปรุงร้านรอบข้าง แนะนำเรื่องการตลาด ช่วยจัดโต๊ะ ทำเมนูใหม่ ทำให้ร้านอื่นๆ ขายดีขึ้น และส่งผลทำให้ทั้งถนนกลับคึกคักขึ้นมา

     เมื่อธุรกิจไปได้ดี ทันบัม มีผู้ลงทุนรายใหญ่เข้ามาเสนอร่วมทุนให้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดแฟรนไชส์ ข่าวนักลงทุนที่มีชื่อเสียง ลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ ทำให้มีนักลงทุนรายเล็กๆ ที่สนใจอยากซื้อแฟรนไชส์ตามมาอีกมากมาย เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะที่ทีมงานมองถึงการคว้าโอกาสที่มาถึงตรงหน้า เรียกว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก รอยไม่เห็นด้วย เขาคิดว่าการตั้งใจเปิดทีละร้านจะมั่นคงกว่าเปิดหลายๆ ร้านพร้อมกัน แต่ก็รับฟังความคิดเห็นทีมงาน และตัดสินใจลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในที่สุด

     จากร้านอาหารเล็กๆ ก็ขยับขยายจดทะเบียนในชื่อบริษัท I.C. ย่อมาจาก Itaewon Class มีการเช่าออฟฟิศใหม่เตรียมขยายแบรนด์เต็มที่ นอกจากนักลงทุนรายใหญ่ ก็ยังมีผู้ซื้อแฟรนไชส์แล้ว 20 ราย และรอซื้ออีกเป็นจำนวนมาก แต่อยู่ๆ นักลงทุนรายใหญ่กลับถอนตัวไป นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วต่างมาเรียกร้องเงินคืน

      แต่ละวิกฤต แต่ละปัญหาที่ถาโถมเข้ามา ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้บริหารทั้งสองบริษัทที่เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ เช่นเดียวกัน ภาพลักษณ์ของชางกานำเสนอผ่านเรื่องราวการสร้างธุรกิจของประธานชาง เขาคือแบรนด์ชางกา ผู้คิดค้น ด้วยความเฉียบคม เด็ดขาด พร้อมจะกำจัดจุดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นใคร ส่วน พัคแซรอย บริหาร I.C. โดยให้ความสำคัญกับทุกคนในทีม จัดการกับจุดอ่อนด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาตัวเอง แม้จะถูกเล่นงานจนยับเยิน ดูแล้วไม่มีทางชนะ รอยก็ไม่เคยยอมแพ้ เขาต่อสู้ไปพร้อมกับทีมงานที่แข็งแกร่ง สร้างธุรกิจที่ยึดถือสายสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เปล่งประกาย

     นี่คือ เรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นด้วยเรื่องของเด็กมัธยมปลาย ที่ขยายกลายเป็นความแค้นส่วนบุคคล ต่อเนื่องไปสู่การต่อสู้ของธุรกิจเล็กๆ ที่คิดโค่นแบรนด์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2