จากถุงสินค้าวัดดวงช่วงปีใหม่ สู่เทรนด์กล่องสุ่มที่ทำกำไรให้ SME

 

 

     เทรนด์การตลาดที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ต้องยกให้ “กล่องสุ่ม” ที่สุ่มกันตั้งแต่สินค้าแฟชั่นอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องสำอาง อาหารทะเล ผัก-ผลไม้ และล่าสุดที่เป็นกระแสสุดๆ เมื่อพิมรี่-พายขายกล่องสุ่มทั้งกล่องละ 10,000 และ 100,000 สร้างรายได้หลักร้อยล้านได้ภายใน 5 นาที

ถุงโชคดีในวันปีใหม่

     กล่องสุ่มเริ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นโดยเรียกว่า “ฟุคุบุคุโระ” ที่แปลว่าถุงโชคดี ชาวต่างชาติก็จะเรียกว่า “Lucky Bag” นั่นเอง

     ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะนำสินค้าหลายๆ ชนิดใส่ลงไปในถุง 1 ใบแล้ววางขายในช่วงเทศกาลปีใหม่เท่านั้น ใครที่ซื้อไปจะรู้สึกว่าได้สินค้าในราคาคุ้มค่าสุดๆ เพราะเงินที่จ่ายไปเรียกว่าถูกมากๆ เมื่อเทียบกับราคาขายแยกชิ้น บางครั้งถูกกว่าครึ่งต่อครึ่ง หรือบางคนเคยเจอว่ามูลค่าของสินค้าที่ได้รับนั้นสูงกว่าที่จ่ายไปถึง 9 เท่าเลยทีเดียว ก็เหมือนกับตอนที่ลูกค้าผู้โชคดีของพิมรี่พายซื้อกล่องสุ่มในราคา 100,000 แต่สิ่งที่ได้คือรถยนต์มูลค่าหลักล้านบาทนั่นล่ะ

     ด้วยความคุ้มค่าขนาดนั้นทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมากจองตั๋วไปญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อไปต่อแถวซื้อฟุคุบุคุโระโดยเฉพาะ แล้วก็เอามาเปิดกล่องรีวิวในยูทูปให้คนดูที่ไม่ได้ไปซื้ออิจฉากันเล่นๆ แต่บางทีก็มีคนรับหิ้วถุงโชคดีมาให้ คนซื้อก็จ่ายค่าหิ้วเพิ่มอีกหน่อยแต่เบ็ดเสร็จแล้วก็ยังถือว่าได้ของมาในราคาถูกอยู่ดี

กำเนิดธุรกิจขายสินค้าสุ่มโดยเฉพาะ

     การขายถุงโชคดีไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น ที่สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือฮาวายต่างก็มีกระแสกล่องสุ่มผุดขึ้นมา แต่ไม่ได้เรียกว่า Lucky Box มันถูกเรียกว่า Mystery Boxes มากกว่า

     เอาจริงๆ Mystery Boxes บูมสุดๆ ก็ในช่วงโควิดนี่เอง เพราะหลายประเทศล็อกดาวน์ ทั้งแบรนด์ดังหรือร้านเล็กต่างก็เปิดหน้าร้านขายไม่ได้ และคนหันไปซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น การทำกล่องปริศนาจึงเป็นไอเดียที่เข้าที

     อย่างที่บอกว่านี่เป็นยุคของกล่องสุ่ม ไม่ใช่แค่แบรนด์สินค้าทำกล่องปริศนาออกมาขายเองเท่านั้น แต่ถึงขั้นมีแพลตฟอร์มธุรกิจขายกล่องสุ่มขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Lootie ที่รวบรวมเอาสินค้าของแท้จากแบรนด์ต่างๆ มาจัดลงกล่อง เช่น กล่อง iPhone 12 ขายในราคา 2.99 ดอลลาร์ กล่อง Louis Vuitton Lucky ในราคา 4.99 ดอลลาร์ กล่อง Xbox VS PlayStation ในราคา 29.00 ดอลลาร์ หรือแม้กระทั่งจับคู่แบรนด์ Gucci x Louis Vuitton ลงกล่องขาย 99.99 ดอลลาร์ เป็นต้น

     อีกเจ้าหนึ่งก็คือ Scarce ที่ขนเอาสินค้าแบรนด์เนมอย่าง Off-White, Balenciaga หรือ Saint Laurent เป็นต้น มาลงกล่องแล้วเรียกมันว่า Luxury Mystery Boxes กล่องปริศนาสุดหรู โดยที่ผู้ซื้อสามารถเลือกสไตล์กว้างๆ 2 ประเภทคือ streetwear และ contemporary ซึ่งถ้าลูกค้าได้ของไปแล้วไม่ถูกใจบริษัทอนุญาตให้ส่งคืนได้แต่ต้องคืนทั้งกล่องภายใน 14 วัน จากข้อมูลจาก Scarce บอกว่ามีการส่งคืนกล่อง 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างไรสุดท้ายแล้วบริษัทก็ทำกำไรได้ เรียกได้ว่าขายกล่องสุ่มแบบจริงจังกันไปเลย แล้วก็มีลูกค้าเยอะเสียด้วย

     ส่วนในประเทศไทยก็เห็นๆ กันอยู่ว่ากล่องสุ่มได้กลายเป็นเทรนด์ที่มีหลายแบรนด์ลุกขึ้นมาทำ โดยเฉพาะ SME หลายแบรนด์ที่ SME Thailand Online ก็ได้ไปนั่งคุยมาแล้ว แทบทุกแบรนด์ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และเป็นกลยุทธ์ที่พาให้ผ่านวิกฤตโควิดมาได้ด้วยซ้ำ

ทำไมผู้บริโภคชอบกล่องสุ่ม

  • ชอบความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ลุ้น
  • รู้สึกว่าคุ้มค่า เพราะของที่ได้มามีมูลค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป
  • ได้โชว์ แทบทุกครั้งที่เปิดกล่องพวกเขามักจะแชร์ต่อในโลกโซเชียลว่าเปิดมาแล้วได้อะไรบ้าง

 

 ผลดีต่อผู้ประกอบการ

  • ได้ระบายสินค้า สินค้าบางชนิดขายไม่ค่อยดีเท่าไร กล่องสุ่มจึงเป็นโอกาสให้สินค้าเหล่านี้ไปถึงมือผู้บริโภคบ้าง แต่อย่ายัดเยียดแต่ของที่ขายไม่ค่อยออกลงในกล่องสุ่ม เพราะลูกค้าจะรู้สึกว่าถูกยัดเยียดมากเกินไป และไม่ประทับใจร้านเอาได้
  • ควบคุมต้นทุนได้ การจัดสินค้าแบบเฉลี่ยราคาสูงต่ำ กำไรมาก-น้อยจะช่วยเฉลี่ยต้นทุนสินค้าได้อัตโนมัติ
  • เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าใหม่ ลองใส่สินค้าที่ลูกค้าไม่เคยซื้อ หรือโปรดักต์ใหม่ให้ลูกค้าได้เอาไปทดลองใช้บ้างก็ได้

     

     ใกล้เทศกาลปีใหม่แล้ว ลองเอาสินค้าของตัวเองมาทำ Lucky Bag หรือกล่องสุ่มให้ลูกค้าตื่นเต้นกันบ้างไหม

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน