หลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคใส่ใจเกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้น และคนจำนวนมากยอมจ่ายเพิ่มขึ้นสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ให้กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่การวิจัยล่าสุดจาก Asda ที่สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค 3,000 ราย ก่อนการประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเมือนกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ กลับพบผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป
ผู้บริโภค 55 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ราคาสินค้ายังคงเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดเพียงข้อเดียวที่รั้งพวกเขาไม่ให้หยิบสินค้าทางเลือกที่ยั่งยืนลงในตะกร้าช็อปปิง ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่พร้อมจะจ่ายเพิ่มให้กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่ต้องซื้อเป็นประจำทุกวัน เช่น นมและขนมปัง
และเมื่อถามว่าอะไรที่จะช่วยให้พวกเขาซื้อสินค้าที่ยั่งยืนมากขึ้น
76 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ราคาที่ถูกลง
56 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า มีสินค้าทางเลือกมากขึ้น
45 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า โลโก้ที่จะบอกว่าสินค้าชิ้นไหนที่สนับสนุนความยั่งยืนบ้าง
จากข้อมูลของ Kantar ราคาข้าวของเครื่องใช้ในร้านขายปลีกค่อยๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา โดยอัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์ และสถานการณ์ในไทยก็ไม่ต่างกันเท่าไร จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 0.83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 –1.7 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลวันที่ 5 สิงหาคม 2564)
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวมีปัจจัยหลักๆ มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นถึง 29.35 เปอร์เซ็นต์ อาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ ผลไม้สด รวมถึงเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืช ซีอิ้ว พริกแกง ก็เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานทั้งสิ้น
สถานการณ์เงินเฟ้อแบบนี้ส่งผลต่อแนวโน้มการตัดสินใจซื้อสินค้าทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่าเมื่ออัตราเงินเฟ้อด้านอาหารสูงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์เมื่อไรผู้คนก็จะรัดเข็มขัดเมื่อนั้น และจะซื้อของโดยดูจากโปรโมชันและซื้อจากร้านค้าที่ขายถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม IGD องค์กรเพื่อความยั่งยืนยังมองว่าอาหารทางเลือกเพื่อความยั่งยืนยังเป็นกระแสหลัก และอาหารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงกว่าอาหารทั่วไปเสมอไป จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกต่างพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ในตลาดทั่วไปมีความยั่งยืนและมีจริยธรรมมากขึ้น
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า กลุ่มสินค้า FMCG อาหารเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้ากลุ่มแรกๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อหากสินค้านั้นแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับราคาที่ไม่แตกต่างกับสินค้าปกติมากนัก เพราะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเห็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในรูปแบบ Refill ก้านสำลี/ผ้าอนามัยจากเส้นใยธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ อาหารเครื่องดื่มจากโปรตีนทางเลือก (การผลิตเนื้อสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการผลิตพืช) สินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นต้น
เห็นได้ว่าเทรนด์สินค้ารักษ์จะยังคงอยู่ต่อไป สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องทำก็คือทำราคาสินค้าให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้นอีกหน่อยเท่านั้นเอง
ที่มา : www.foodnavigator.com, kasikornresearch.com
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี