ส่องเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกยังนิ่งสนิท





    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินโมเมนตัมหรือแรงส่งของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกน่าจะแผ่วลงจากไตรมาสก่อน คาดขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ใกล้เคียงกับไตรมาสสี่ปี 2557

    อนึ่ง สภาพัฒน์ฯ จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรวบรวมและประเมินตัวเลขจีดีพีรูปแบบใหม่ในวันที่ 18 พ.ค. นี้ รอติดตามว่าจะส่งผลต่อองค์ประกอบจีดีพีในแต่ละส่วนมากน้อยเพียงใด

    คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมติหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในรอบประชุมวันที่ 11 มีนาคม และ 29 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการตัดสินใจเลือกที่จะผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    แต่อีกนัยยะหนึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและหมายรวมถึงในระยะหลายไตรมาสข้างหน้า อาจมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ ซึ่งนั่นย่อมกระทบความกังวลต่อกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอย และผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ย้อนกลับมาดูเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนของหลายหน่วยงานในช่วงสามเดือนแรกของปี 2558 จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจยังคงไร้ทิศทาง จนเสมือนว่ากิจกรรมเศรษฐกิจยังคงนิ่งสนิท แทบไม่ขยับไปไหนหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

   เมื่อพิจารณาด้านอุปทาน จะเห็นได้ว่าผลผลิตภาคเกษตรยังคงหดตัวอยู่มากถึงร้อยละ 5.8 จากปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในหลายตัวที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคได้รับผลกระทบ

   ขณะที่เครื่องชี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเองแทบจะไม่ขยายตัวเลย แม้จะปรับดีขึ้นจากไตรมาสสี่ ซึ่งสอดรับกับเครื่องชี้ทางด้านการใช้จ่ายที่ยังคงอ่อนแออยู่ทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ

    หากประเมินรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท จะเห็นได้ว่าการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน(5) รวมไปถึงตลาดจีนที่อ่อนแอ กดดันให้มูลค่าส่งออกไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 4.4 แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาด CLMV ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

   ส่งผลให้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้หั่นเป้าส่งออกในปีนี้ลงจากร้อยละ 4 เหลือเพียงร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ดีหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงอ่อนแอเช่นนี้ อาจทำให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ไม่ถึงเป้าที่ทางการตั้งไว้ ส่วนการนำเข้าที่หดตัวถึงร้อยละ 6.1 เกิดจากมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันปิโตรเลียมที่หดตัวเกือบร้อยละ 50 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตอ่อนแอ ซึ่งสอดรับกับเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย.

    ทางด้านเครื่องชี้ภาคการท่องเที่ยวที่สะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับได้ว่ามีการฟื้นตัวอย่างเด่นชัดที่สุด ขยายตัวกว่าร้อยละ 23.5 ต่อปี จากร้อยละ 7 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้จากการท่องเที่ยวที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างน้อยน่าจะช่วยลดทอนผลกระทบบางส่วนจากรายได้การส่งออกสินค้าที่หดหายไปได้

    เครื่องชี้ท้ายสุดที่จะกล่าวถึงคือการใช้จ่ายของภาครัฐซึ่งนับได้ว่าเป็นความคาดหวังในปีนี้ ดูเหมือนว่าการเบิกจ่ายงบประจำ ซึ่งมีรายจ่ายด้านเงินเดือน/ค่าตอบแทนเป็นหลัก ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุน จะเห็นได้ว่าเติบโตสูงกว่าร้อยละ 123 แต่แท้จริงแล้วส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมาที่มีการเบิกจ่ายล่าช้าจากผลกระทบปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ

    อีกทั้งหากพิจารณาการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค. 57-มี.ค. 58) คิดเป็นเพียง 118 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 28 ต่ำกว่าความสามารถการเบิกจ่ายในอดีต และต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้เกือบครึ่งหนึ่ง เพราะส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากข้อติดขัดในเรื่องของความรัดกุมในการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีความโปร่งใส่มากขึ้น

    กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าจากเครื่องชี้รายเดือนดังกล่าวข้างต้น ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้นั้นน่าจะยังไม่สู้ดีนักด้วยโมเมนตัมหรือแรงส่งของเศรษฐกิจ (qoq) ที่น่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.2

   โดยคาดว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8 ต่อปี (yoy) ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับไตรมาสสี่ปี 2557 ที่เติบโตร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้ อีกทั้งในรอบนี้จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรวบรวมและประเมินตัวเลขจีดีพีในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อตัวเลขจีดีพีและองค์ประกอบจีดีพีแต่ละส่วนที่ถูกรายงานออกมาให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ต้องมีความระมัดระวังในการตีความและประเมินตัวเลขมากยิ่งขึ้น

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน