ส่งออกติดลบตลอดไตรมาสแรก...การฟื้นตัวขึ้นกับหลายปัจจัย





    กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. 2558 มีมูลค่า 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม ที่ร้อยละ 4.45 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในเดือนมี.ค. 2558 จะหดตัวลงประมาณร้อยละ 3.45)

   ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 6.14 (YoY) ในเดือนก.พ. 2558 ซึ่งทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2558 พลิกกลับมาหดตัวลงถึงร้อยละ 4.7 (YoY) นับเป็นตัวเลขที่ติดลบรายไตรมาสที่มากที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่ง และแย่ลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 (YoY) ในไตรมาส 4/2557 

    ทั้งนี้ แรงฉุดรั้งสำคัญที่กดดันการส่งออกไทยตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี มาจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลัก ซึ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์การส่งออกที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง ในตลาดจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่มอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 

    ขณะที่ ผลกระทบจากความเสียเปรียบของค่าเงินบาท และการปรับตัวลงของราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบ หรือที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบที่มาจากการกลั่นปิโตรเลียม ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรและทองคำ ที่เป็นไปตามภาวะตลาดโลก ก็เป็นตัวกดดันการฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยด้วยเช่นกัน 

    ทั้งนี้ จากสถานการณ์ของภาคการส่งออกที่อ่อนแอดังกล่าว ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยในปี 2558 มาที่ร้อยละ 1.2 (จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0) พร้อมกับเตรียมแผนผลักดันการส่งออกเพิ่มเติม เพื่อให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น  


มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

    แนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2/2558 น่าจะยังคงหดตัว แม้ว่าอัตราติดลบอาจชะลอลง ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมของภาคการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2558 อาจไม่ได้แตกต่างไปจากในช่วงไตรมาสแรกมากนัก เพราะหลายๆ ตัวแปรลบ 

    อาทิ การขยายตัวอย่างอ่อนแอของเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และการปรับตัวลงของราคาสินค้าเกษตร/สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญหลายรายการ ตามภาวะราคาในตลาดโลก ยังคงมีผลคาบเกี่ยวต่อเนื่องมายังในช่วงไตรมาส 2/2558

    อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงฉุดจากตัวแปรลบดังกล่าว อาจบรรเทาลงบางส่วน โดยเฉพาะหากภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกทยอยปรับตัวขึ้นสู่กรอบที่สูงขึ้นกว่าในช่วงต้นปี ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดที่เป็นความหวัง อย่างตลาดในกลุ่ม CLMV และตลาดสหรัฐฯ น่าจะสามารถประคองภาพการขยายตัวได้ต่อเนื่อง

     โดยสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2558 น่าจะกลับมามีโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก (ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายด้านถูกกระทบจากสภาวะอากาศที่ค่อนข้างหนาวจัด) ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาส 2/2558 อาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.0 (YoY) ซึ่งเป็นภาพที่บรรเทาลงกว่าสถานการณ์ไตรมาส 1/2558 ที่หดตัวถึงร้อยละ 4.7 (YoY)
 
    แนวโน้มการส่งออกทั้งปี 2558 สถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ที่หดตัวลงมากกว่าที่คาดเล็กน้อย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นต่อการประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งทำให้ยังคงคาดว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2558 อาจขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 0  (โดยมีกรอบคาดการณ์ในช่วงติดลบร้อยละ 1.0 ถึง ขยายตัวร้อยละ 2.0) ท่ามกลางการฟื้นตัวในกรอบที่จำกัดของราคาสินค้าส่งออกรายการสำคัญของไทย  

    นอกจากนี้ หากมองไปในช่วงเหลือของปี 2558 แม้จะคาดว่า เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยน่าที่จะทยอยกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าในช่วงต้นปี อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยอาจได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าวเพียงบางส่วน เพราะมีข้อจำกัดของโครงสร้างในภาคการผลิต ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายประเภท (โดยเฉพาะสินค้าเกษตร) ยังต้องรับมือกับภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นทั้งทางด้านราคาและปริมาณผลผลิตจากประเทศคู่แข่ง 

    นอกจากนี้ คงต้องติดตามผลจากปัจจัยลบที่เข้ามาเพิ่มเติมของตลาดส่งออกบางแห่ง อาทิ มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงไทยที่จะถูกประเมินอีกครั้งจากสหภาพยุโรปในด้านมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทําประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ในเดือนต.ค. 2558 ตลอดจนผลการรายงานประจำปี เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report) ของสหรัฐฯ ที่จะออกมาในช่วงกลางปี 2558 นี้ ของสหรัฐฯ ที่จะออกมาในช่วงกลางปี 2558 นี้ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่อาจเพิ่มความเสี่ยงเชิงลบต่อการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า







RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน