สร้างแบรนด์รุก AEC

 

 
 
 
 
เรื่อง สรณ์ จงศรีจันทร์
 
 
ผู้บริโภคแต่ละคนมีความแตกต่างและความหลากหลายในทัศนคติ ความคิด ความชอบ บุคลิกภาพ การศึกษาและความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน
 
ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน การสร้างแบรนด์หนึ่งแบรนด์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกคนคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
 
การตลาดที่ดีต้องเริ่มต้นจากการหากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมให้เจอ รักษากลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ไว้ให้ดี แล้วก็ค่อยๆ สร้างกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวให้เติบโตขึ้น
 
สินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคคนไทยใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงสินค้าหรือบริการที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในอีก 9 ประเทศในอาเซียนได้
 
การสร้างแบรนด์เพื่อเตรียมรุกตลาด AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) เป็นบทท้าทายของผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยที่ต้องมีความเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคในประเทศต่างๆ เหล่านั้น
 
ถ้าคิดว่าการรุกตลาดในประเทศไทยยาก สิ่งที่จะตามมาด้วยประชากรอีกประมาณ 500 กว่าล้านคนในอีก 9 ประเทศจะเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งกว่า
 
สินค้าบางประเภทอย่างเช่น สมุนไพรไทยที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย อาจจะเป็นสินค้าที่น้อยด้วยคุณค่าและความต้องการในประเทศอย่างเช่น สิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่เจริญด้วยวัตถุนิยม ผู้บริโภครุ่นเก่าที่มีเชื้อสายจีน ลี้ภัยมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เริ่มมีจำนวนลดน้อยลงไป เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อในวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่มากกว่าการแพทย์แผนโบราณ
 
แต่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น พม่า ลาวหรือกัมพูชา ผู้บริโภคมีลักษณะการกินอยู่ที่คล้ายกับคนไทย มีความเชื่อในการแพทย์แผนโบราณแบบคนไทย ดังนั้น การเคลื่อนตัวของสินค้าประเภทดังกล่าวข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้จึงเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่
 
มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากผู้ประกอบการ SME ของไทยรายหนึ่ง ที่ประสบกับความสำเร็จในการนำแบรนด์ออกสู่ตลาด AEC ด้วยการ Re-Branding สินค้าจากเดิมที่เป็นสินค้าภายใต้ชื่อ “หน้าวัว” มาเป็น “วิริยะมัยโอสถ” ด้วยภาพลักษณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม มีจุดยืนและบุคลิกของแบรนด์ที่สามารถเดินทางเข้าหากลุ่มเป้าหมายในตลาด AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยสินค้าที่เป็นสบู่สมุนไพรธรรมชาติ หรือ Organic Soap 
 
รูปแบบหีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่สวยสะดุดตาระดับนานาชาติ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าจากประเทศไทย
 
ผู้ประกอบการรายนี้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งมีผลสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงแบรนด์ของตัวเองที่อยู่มาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5
 
อย่าลืมว่าถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลงในวันนี้ คุณคงต้องพลาดรถไฟขบวน AEC อย่างแน่นอนที่สุด ขบวนการสร้างแบรนด์ต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนที่ต้องเดินไปทีละก้าว กระโดดข้ามขั้นไม่ได้
 
ประสบการณ์ได้สอนผมว่า คุณต้องมีเวลาอย่างน้อย 1 ปีในการจัดการกับตัวเองในเรื่องของการสร้างแบรนด์ 
 
สิ่งแรกที่ทุกธุรกิจต้องเริ่มทำ คือ การค้นหาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคในแต่ละประเทศให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการวิจัยขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
 
เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประกอบการจะนำสินค้าของตัวเองเข้าทุกตลาดด้วยสินค้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้วยต้นทุนการผลิต การตลาดและอื่นๆ ที่สูงแบบผิดปกติ
 
การสร้างแบรนด์บนพื้นฐานของ Economy of Scale และกลยุทธ์ Single Brand จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ธุรกิจประสบกับความสำเร็จและความยั่งยืนอย่างถาวร
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024