Natural Hedge บริหารอัตราแลกเปลี่ยนแบบเสี่ยงต่ำ

 

 

 

       โจทย์ใหญ่ของ SME ผู้ส่งออก นำเข้าในคงหนีไม่พ้นแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าและผันผวน นอกเหนือจากเครื่องมือทางการเงินที่ใช้บริหารอัตราแลกเปลี่ยนตามปกติ เช่น การซื้อสัญญาขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Contract) การทำสวอปและออพชั่นแล้ว การบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (Natural Hedge) เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน เมื่อต้องทำธุรกรรมนำเข้าส่งออกโดยมีหลักการ คือ ไม่นำตัวเข้าไปเสี่ยงบนวินัยทางการเงินที่ดี

       หัวใจสำคัญของ Natural Hedge คือ การสร้าง ‘สมดุล’ ระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายหรือส่วนที่เป็นหนี้ ซึ่งเป็นเงินสกุลต่างประเทศให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไปจนเกิดผลขาดทุน

       องค์กรที่นิยมใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงแบบนี้ ส่วนมากจะมีรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูงหรืออาจจะทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ธุรกิจส่งออก มีฐานการผลิตในต่างประเทศและส่งเงินกลับเข้ามาบริษัทแม่ หรือราคาต้นทุน ราคาขายสินค้าต้องอ้างอิงราคากลางในตลาดโลก

       วิธีการบริหารต้นทุนอาจทำได้โดยจัดสัดส่วนระหว่างรายได้จากต่างประเทศให้มีสัดส่วนเท่าเทียมกับต้นทุนการผลิต หรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเช่นกัน เมื่อรายรับกับรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน โอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนจะน้อยลง เช่นเดียวกัน อีกวิธี คือ บริหารส่วนที่เป็นหนี้หรือเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ทำธุรกรรมให้เป็นเงินต่างประเทศ เช่น กู้เงินจากต่างประเทศในสกุลเดียวกับรายรับที่เข้ามา

       นอกจากนี้ ยังต้องจับคู่ระยะเวลาการรับ-จ่ายเงินกับคู่ค้าจากต่างประเทศให้ Matching หรือเข้ามาพร้อมๆ กัน เช่น ทำสัญญารับเงินจากคู่ค้าอยู่ที่ 90 วัน แต่ทำสัญญาชำระเงินให้ลูกค้าที่ระยะเวลาสั้นกว่า คือ 30 วัน จะเกิดความเสี่ยงในช่วงเวลา 60 วันที่เป็นช่องว่าง แม้จะใช้เงินสกุลเดียวกันในการทำธุรกรรม ทำให้อาจต้องใช้เครื่องมือการเงินลากมาให้จับคู่กันมีช่องว่างสั้นที่สุด

       ตัวอย่างเช่น บริษัท ก.ทำธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ มีรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด ทำให้เกิดความเสี่ยงเวลาที่ปรับค่าเงินกลับเป็นสกุลบาท ฉะนั้นเมื่อบริษัทต้องการลดความเสี่ยงขาดทุนจากการแปลงค่าเงินกลับมาเมื่ออยู่ในประเทศไทย จึงหันมานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์

       หมายความว่าได้เกิด Natural Hedge โดยอัตโนมัติในตัวเองระหว่างรายได้กับรายรับที่เป็นเงินต่างประเทศเหมือนกัน ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์บริษัท ต้องประกันความเสี่ยงด้วยวิธีอื่นทดแทน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ บริษัท ก.ตัดสินใจกู้เงินจากต่างประเทศให้มีสัดส่วนเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของส่วนที่เป็นทุนหมุนเวียนในการชำระค่าสินค้าก็จะถือว่าเป็นการทำ Natural Hedge ในอีกทางหนึ่ง

       กล่าวคือ Natural Hedge เป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเสี่ยง ‘ต่ำ’ ที่สุด ด้วยการบริหารงานหลังบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะขาดทุนจากความผันผวนของค่าเงิน บริษัทขนาดใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม ปตท. เครือซีพี ฯลฯ ต่างยึดแนวทางดังกล่าวทั้งสิ้น โดยอยู่บนความเชื่อว่าไม่มีใครสามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้ วิธีการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ ไม่นำตัวเข้าไปเสี่ยงด้วยนั่นเอง

       ส่วนของการบันทึกบัญชีเพื่อรายงานการเสียภาษีนิติบุคคลต่อสรรพากรซึ่งจะต้องรายงานเป็นเงินสกุลบาทเท่านั้นแม้จะมีรายได้เป็นเงินสกุลอื่น กรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทโดยตรง แม้ตามกฎหมายจะต้องแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อถึงวันสิ้นปีตามราคาตลาดจริงหรือ Mark to Market ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอาจเป็นจังหวะที่ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นได้แต่เป็นเพียงแค่การขาดทุนทางบัญชีเท่านั้นไม่ใช่การขาดทุนจริง

       สำหรับผู้ประกอบการ SME สามารถที่จะยึดแนวทางดังกล่าวมาใช้กับองค์กรได้เช่นกัน แม้ว่าหลักเกณฑ์การกู้เงินที่เป็นสกุลต่างประเทศอาจมีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ทำธุรกิจส่งออกเป็นรายได้หลักอาจจะลำบากเรื่องของการบริหารแลกเปลี่ยน

       เนื่องจากวงเงินที่ธนาคารจะปล่อยให้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีน้อยกว่าบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ แต่ขอให้เริ่มต้นสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่ก้าวแรกด้วยการใช้เงินอย่างถูกวิธีจนเติบโตเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน ค่อยปรับฐานเงินทุนหมุนเวียนด้วยวิธี Natural Hedge จนเป็นมาตรฐานของบริษัท

       ตำราการบริหารการเงินทุกสำนักต่างระบุตรงกันว่าเงินทุนส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมดสมควรจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน คือ การลงทุนในธุรกิจหลักเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไรไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ราคาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการใช้เงินอย่างผิดวินัย แม้จะเก็งถูกทางได้กำไรก็ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน


       SME ไทยควรเริ่มสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในอนาคต...!!!

 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน