​เทรนด์ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินแลกคอนเทนท์




เรื่อง นเรศ เหล่าพรรณราย

    แม้ว่าในโลกดิจิตอล ค่านิยมส่วนใหญ่ของผู้บริโภคจะนิยมคอนเทนท์ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มของผู้บริโภคที่นิยมเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อที่จะได้สิทธิพิเศษต่างๆมากขึ้น นี่เป็นโอกาสของผู้พัฒนาคอนเทนท์ที่จะสร้างรายได้ทางอื่นนอกเหนือไปจากรายได้ค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียว

    ทั้งนี้มีการสำรวจว่าผู้ให้บริการแอพลิเคชั่นหลายรายเริ่มมีสัดส่วนรายได้จากค่าสมาชิกรายเดือนเทียบกับรายได้รวมในสัดส่วนที่สูงขึ้น เช่น  เช่น Spotify สัดส่วนถึง 25%, WhatsApp 21%, Pandora 5%, Match Group 5%,The New York Times 3% และ LinkedIn 2% 

    ตัวอย่างของผู้ให้บริการคอนเทนท์ที่ประสบความสำเร็จในด้านการหารายได้ค่าสมาชิกคือหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ที่ดิ้นรนในการหารายได้จากการขายข่าวบนระบบออนไลน์ควบคู่ไปกับการจำหน่ายหนังสือพิมพ์จนกระทั่งรายได้จากดิจิตอลคอนเทนท์มีสัดส่วนที่สูงกว่ายอดขายสิ่งพิมพ์ในที่สุด

    ผลการวิจัยโดยเวบไซท์ Business Intelligence ระบุว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการเสพคอนเทนท์ที่มีความเป็นพรีเมี่ยมหรือมีความพิเศษมากกว่าคอนเทนท์ฟรีมากขึ้นหากสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า แต่มีข้อแม้ว่าคอนเทนท์นั้นๆจะต้องมีความสม่ำเสมอ คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม โดยปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนคือเทคโนโลยีในการชำระเงินอีเล็กทรอนิคส์ที่มีความปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการสมัครสมาชิก

    ทั้งนี้คอนเทนท์ที่มียอดการสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อใช้บริการมากที่สุดประกอบด้วย คลิปวีดีโอ เพลง ข่าว โซเชียลเนตเวิร์ค บริการแชทและบริการจัดหาคู่ออนไลน์

    สำนักวิจัยด้านไอทีอย่าง Gartner ยังระบุด้วยว่าการเข้าถึงอินเทอร์เนตที่ง่ายขึ้นและการที่อินเทอร์เนตเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ทำให้ประชากรพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อที่จะใช้บริการทางออนไลน์ ต่างจากในอดีตที่อินเทอร์เนตเป็นเพียงแค่สื่อทางเลือกทำให้การตัดสินใจเสียเงินเพื่อใช้บริการออนไลน์เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจพอสมควร

    อีกปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้คนยอมที่จะเสียเงินกับบริการต่างๆบนแอพลิเคชั่นหรือเวบไซท์นั่นคือความง่ายในการชำระเงิน ตัวอย่างสำคัญคือบริษัทแอปเปิลที่พัฒนา Apple ID ขึ้นเพื่อรองรับการสั่งซื้อแอพลิเคชั่นหรือคอนเทนท์ต่างๆ เพียงแค่กดปุ่มเดียวเท่านั้นและยังมีระบบชำระเงินรายเดือนอัตโนมัติ ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกอยากที่จะใช้บริการมากขึ้น

    นอกเหนือจากรูปแบบรายได้จากค่าสมาชิกประจำแล้ว รูปแบบการจัดเก็บรายได้แบบฟรีก่อนจ่ายทีหลังหรือ Freemium Model  ยังคงได้ผลควบคู่ไปกับรายได้จากค่าโฆษณา โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือลูค้าต้องการทดลองใช้บริการก่อนที่จะเสียเงินเพื่อรับบริการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

    สำหรับผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นขายสินค้าและบริการทางระบบออนไลน์สามารถพัฒนาคอนเทนท์เพื่อรองรับกระแสดังกล่าวได้เพื่อเป็นการต่อยอดทางธุรกิจรวมถึงลดความเสี่ยงจากการที่พึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาเป็นหลักซึ่งไม่มีความแน่นอนและผันแปรตามเศรษฐกิจ ถ้าหากสามารถพัฒนาคอนเทนท์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้และเลือกที่จะสมัครเป็นสมาชิกต่อเนื่องจะช่วยให้ธุรกิจมีความมั่นคงในระยะยาวและมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการนำไปลงทุนพัฒนาธุรกิจ

Create by smethailandclub.com


RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน