ห้องพักล้น คนหดหาย หนี้เสียพุ่ง! วิกฤตโรงแรมระดับกลาง-ประหยัด ที่ยังเจ็บหนักเพราะพิษโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ





     รู้หรือไม่ว่าธุรกิจโรงแรมเริ่มมีสัญญาณ Oversupply มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและประหยัด ยิ่งมาถูกซ้ำเติมด้วยพิษโควิด สถานการณ์ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และมีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เป็นต้นมา


     ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นคืนกลับ โดยที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนในสัดส่วนสูงถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์  และแม้ว่าสถานการณ์ไวรัสจะผ่านพ้นไปในอนาคต ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาคึกคักเหมือนที่ผ่านมา เพราะวันนี้จีนสนับสนุนให้คนเที่ยวในประเทศ บวกกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของการตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ
               

     โดย KKP Research ประเมินว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาปีนี้ที่ 2 ล้านคน อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมถึงราวครึ่งหนึ่งต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดตัวลงถาวร
               


           
เมื่อนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนหดหาย
          
               

     ในยุคที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก เรียกว่าเป็นลำดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยคิดเป็นมูลค่าต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ขณะที่ขนาดของภาคการท่องเที่ยวทั้งหมดของโลกอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP โลก ในปี 2019 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเหมือนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะกับ “จีน” มังกรแห่งความหวังของตลาดท่องเที่ยวไทย
               

      โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทย และล่าสุดในปี 2019 มีจำนวนคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 (ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP หรือกล่าวได้ว่าการใช้จ่ายเกือบ 3 เปอร์เซ็นต์ ในเศรษฐกิจไทยมาจากนักท่องเที่ยวจีน
               

     แต่สัญญานแห่งความหวังเริ่มอ่อนแรงลง เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยเริ่มชะลอตัวลง จากช่วงปี 2012 - 2015 ที่เคยขยายตัวก้าวกระโดดถึงเฉลี่ย 50 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี  มาปี 2016-2018 เหลือโตเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี จนมาปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนขยายตัวเพียง 4.4 เปอร์เซ็นต์ ก่อนสถานการณ์โควิด-19


     สอดคล้องกับแนวโน้มการเดินทางออกนอกประเทศของคนจีนที่เติบโตชะลอเหลือเพียง 3.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศจีนเองยังขยายตัวได้ดีถึง 8.4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019 เมื่อประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 และการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจทำให้การเดินทางออกและกลับประเทศของนักท่องเที่ยวจีนยากลำบากขึ้น และนโยบายของทางการจีนที่ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการสนับสนุนอุปสงค์ในด้านต่าง ๆ (Dual Circulation Strategy) ทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะที่มายังไทยมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมาก ซึ่งโอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยกว่า 10 ล้านคน เหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 นั้น อาจเป็นไปได้ยากในเร็วๆ นี้ และนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป



 
               
จากยุคหอมหวานสู่ยุค ห้องพักล้น คนเที่ยวหาย


     หนึ่งในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของธุรกิจโรงแรม ในยุคที่ธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวอย่างมากช่วงก่อนโควิด คือ ธุรกิจขยายตัวเร็ว มีการแข่งขันรุนแรง จนเริ่มเกิดสัญญาณ Oversupply โดยโรงแรมระดับกลางและที่พักราคาประหยัดขยายตัวสูงเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ขณะที่โรงแรมหรู (Luxury) ขยายตัวเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี และมีสัดส่วนในตลาดลดลงจาก 40 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดโรงแรมปี 2018  สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของธุรกิจโรงแรมระดับกลางและประหยัด ซึ่งยังไม่รวมถึงที่พักราคาประหยัดที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องที่มีอยู่ค่อนข้างมากในบ้านเรา ซึ่งจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลกดดันต่อราคาห้องพักในบางพื้นที่
               

     โดยสาเหตุที่โรงแรมระดับกลางและราคาประหยัด มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเป็นผลทั้งจาก 1.กลุ่มนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่มาไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นนักท่องเที่ยวในเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มักเดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ และเน้นท่องเที่ยวแบบประหยัดมากกว่าการพักหรูอยู่สบาย สะท้อนจากสัดส่วนรายจ่ายที่พักของนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยทั้งหมด ในปี 2019  ซึ่งต่ำกว่านักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านที่พักราว 33 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่กลุ่มโรงแรมที่ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนมีการกระจุกตัวเฉพาะโรงแรมที่มีเครือข่ายกับธุรกิจจัดการทัวร์ กระทั่งเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตในปี 2018 และการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนที่มากับกรุ๊ปทัวร์ลดลง


     2.การขยายตัวของแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว (E-Tourism Platform) ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงโรงแรมต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกลุ่ม Generation Y และ Z ที่มีงบประมาณด้านการท่องเที่ยวจำกัด ส่งผลให้มีโรงแรมระดับกลางและราคาประหยัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง



               

6 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จำนวนห้องพักเกินครึ่งของทั้งประเทศ
     
          
     การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองท่องเที่ยวไม่กี่แห่ง คือที่มาของการเกิด Oversupply ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ที่มีจำนวนห้องพักแรมรวมกันถึงกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนห้องพักทั้งประเทศ ในปี 2019 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย  และเมื่อรวมรายได้ทั้งหมดทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเฉพาะใน 6 จังหวัดยอดนิยม มีรายรับรวมถึง 77 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการท่องเที่ยวรวม ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อีกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนแบ่งจากการท่องเที่ยวเพียง 1 ใน 5 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด


     การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะในภาคใต้ ส่งผลให้มีการเร่งลงทุนด้านโรงแรมและที่พักอย่างมากจนเกิดปัญหา Oversupply ในพื้นที่ โดยในปี 2019 ทั้งอัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยในภาคใต้หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี  ส่งผลให้รายรับเฉลี่ยของผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักลดลง ก่อนจะถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีต่อมา



           

จับตาสถานการณ์ท่องเที่ยวปี 2021 ชี้ชะตาโรงแรมไทย


     KKP Research คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 จะอยู่ที่เพียง 2 ล้านคน ซึ่งจะทยอยเดินทางเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเปิดประเทศได้เลยในปีนี้ โดยคาดว่าภาครัฐจะเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการเข้าเมือง เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี


      การเปิดประเทศมีแนวโน้มจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจผ่านการทำข้อตกลง Travel Bubble ระหว่างประเทศ หรือภูมิภาค (Regional Tourism) ที่มีอัตราการติดเชื้อต่อประชากรต่ำ และ/หรือมีอัตราการรับวัคซีนต่อประชากรสูงมากพอ  โดยจากอัตราการแจกจ่ายวัคซีนล่าสุดบ่งชี้ว่ากลุ่มประเทศหรือดินแดนที่ประชากรจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปี 2021 ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน (เกิน 100 ล้านคน) นอกเหนือจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว  ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 2021 คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 34 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราการเข้าพักในช่วงก่อนโควิด-19 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 71 เปอร์เซ็นต์ ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง และมีห้องพักปล่อยว่างถึง 2 ใน 3 หรือเฉลี่ย 540,000 ห้องต่อวัน ส่งผลให้ตลอดปีนี้ โรงแรมมากกว่าครึ่งหนึ่งอาจจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวเป็นบางช่วงเวลาหรืออาจจำต้องปิดตัวถาวร และธุรกิจโรงแรมที่อยู่รอดจะเริ่มทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป
               

     โดยธุรกิจโรงแรมรายได้หดหายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และมีปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคารโดยเฉพาะในกลุ่มที่พักขนาดเล็ก ธุรกิจโรงแรมที่เริ่มฟื้นตัวและกลับมาเปิดทำการได้ อาจต้องกลับไปปิดทำการอีกครั้งในช่วงต้นปี 2021 และจะยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะรายได้ที่หายไปกว่า 74 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 ส่งผลต่อเนื่องต่อคุณภาพสินเชื่อในภาคธนาคารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่พักขนาดเล็ก เช่น เกสต์เฮาส์ ที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (NPL Ratio) พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ปี 2020  ขณะที่ธุรกิจโรงแรมโดยรวมยังไม่เห็นผลกระทบด้านคุณภาพหนี้ด้วยความช่วยเหลือผ่านมาตรการพักชำระหนี้ ดังนั้น หากสถานการณ์การท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ธุรกิจที่พักโดยเฉพาะรายย่อยจะยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระยะถัดไป
 
               
     และนี่คือความท้าทายของผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวในปีนี้ ปีที่ยังไม่พ้นวิกฤต และโควิดยังเป็นโจทย์ใหญ่ ทางเดียวที่จะขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ ก็คือการปรับตัวรับมือ มองหาโอกาสบนทุกช่องทางที่มี และทำทุกทางเพื่อให้ผ่านพ้นปีที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้  
 
               
      ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน