แพลนต์เบส-อาหารแห่งอนาคต โอกาสพลิกวิกฤต SME ส่งออกไทย ในยุคที่ "จุดอ่อน" น่าห่วงกว่า "จุดแข็ง"

TEXT : กองบรรณาธิการ                         





     ปี 2563 ที่ผ่านมาส่งออกอาหารไทยร่วงจากอันดับที่ 11 มาอยู่อันดับที่ 13 ของโลก อันดับ 4 ในเอเชีย อันดับ 2 ของอาเซียน โดยถูกอินโดนีเซียแซงหน้าไปเรียบร้อย มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารตกจากหลักล้านล้าน มาแตะที่ 980,703 ล้านบาท หดตัวลง 4.1  เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงเหลือ 2.32 เปอร์เซ็นต์ จาก 2.49 เปอร์เซ็นต์ ในปีก่อนโควิด


     บางตลาดที่เราเคยครองแชมป์อันดับ 1 แม้จะยังเป็นเบอร์ 1 ของโลก แต่ก็มีส่วนแบ่งตลาดลดลง เช่น สับปะรดกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋อง โดยเฉพาะที่ส่งออกไปยังอียูและญี่ปุ่น
 

หมดยุคถูกหวย กินบุญเก่า เมื่อแต้มต่อที่เคยมีหดหาย
 

     วันนี้ประเทศที่เราเคยมองข้าม กลับมาเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และอินเดีย ที่ยังคงได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อยู่ ขณะที่ในปี 2564 นี้ ก็ยังมีความท้าทายรอบด้านซ้ำเติมแต้มต่อที่หดหาย ไม่ว่าจะเป็น  1. การขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก เช่น กุ้ง ปลาทะเล ปลาหมึก  2.ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าสวนทางดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง ซึ่งจะกระทบกับกลุ่มอาหารส่งออกที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง เช่น กุ้งแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ไก่ น้ำตาลทราย ข้าว และผักผลไม้สด เป็นต้น  และ 3. ต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งภายในประเทศที่มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก


     หมดยุคถูกหวย กลับสู่ยุค “จุดอ่อน” น่าห่วงกว่า “จุดแข็ง” SME จะต้องรับมืออย่างไรกับสถานการณ์นี้



 

ได้เวลาพลิกเกมรบ สู้ด้วยอาหารแห่งอนาคต


       ถามว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบอย่างไรกับผู้ประกอบการ SME ถ้าย้อนดูตัวเลขผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 128,137 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 94 เปอร์เซ็นต์คือ SME มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่นอนว่าสถานการณ์ที่ไม่หอมหวาน ย่อมกระทบต่อความอยู่รอดของ SME อย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วผู้ประกอบการ SME จะต้องรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องรอนโยบายจากภาครัฐ หรือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำเสนอทางออกให้ฟังว่า ผู้ประกอบการอาหารต้องพัฒนาตัวเองในประเทศก่อน โดยไม่ต้องทิ้งสินค้าเดิมที่ทำกันมานานจนมีความเชี่ยวชาญ  แต่ต้องมองหาสินค้าที่เป็นตัวเสริม  ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของเราในอนาคต


     “มันมีภาพชัดเจนให้เห็นตั้งแต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ว่ากลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารเกี่ยวกับสุขภาพเริ่มมา ตลอดจนสินค้าที่ไปตอบโจทย์เรื่องของอารมณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เพราะว่าสังคมเปลี่ยนไปเยอะมาก การที่เรา Work From Home ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น คนที่ไม่แต่งงานอยู่เป็นโสดก็จะมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเขายอมจ่ายง่ายและจ่ายเร็วกว่าอาหารที่ซื้อให้ตัวเองด้วยซ้ำไป ทั้งที่ราคามันแพงกว่ากันเยอะมาก เพราะเขาซื้อด้วยอารมณ์ล้วนๆ” เขาบอกโอกาสที่เกิดขึ้นจากโควิด และวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนของผู้บริโภคในยุคนี้





     นอกจากนี้กลุ่มสินค้าที่มาแรง และเป็นอนาคตของผู้ประกอบการส่งออกอาหารไทย ก็คือกลุ่มแพลนต์เบส (Plant-based Food) หรืออาหารที่ทำมาจากโปรตีนจากพืช ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากในตลาดโลก


     “จริงๆ ประเทศไทยเราเริ่มมาก่อนเขาเยอะมาก เพราะเริ่มตั้งแต่สมัยเรากินเจเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เรามีอาหารที่ทำเลียนแบบอาหารจริงๆ แต่ว่าทำมาจากพืชบ้าง จากแป้งบ้าง แต่ปัจจุบันเนื่องจากความสำคัญของอาหารสุขภาพจะไปอยู่ที่กลุ่มโปรตีนจากพืชเป็นหลัก เพราะฉะนั้นความเป็นโปรตีนบวกกับความเหมือนจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ จากเมื่อก่อนเราจะเหมือนแค่ในส่วนของรูปลักษณ์ แต่ยังขาดรสชาติที่เหมือน แต่วันนี้มันมีนวัตกรรมที่ทำให้เราสามารถทำเนื้อ ทำไก่ ทำปลา ที่มาจากแพลนต์เบสหรือมาจากพืชได้รสชาติที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก นั่นแปลว่าในหมวดของกลุ่มผู้รักสุขภาพเริ่มเข้าถึงสินค้าพวกนี้ได้มากขึ้น รวมถึงที่เราต้องพัฒนาต่อก็คือกลุ่มทดแทนโปรตีนอย่างพวกแมลงทั้งหลาย นี่คืออนาคตของอุตสาหกรรมอาหารไทย” เขาบอก


     ก่อนยกตัวอย่าง วัตถุดิบที่นำมาทำแพลนต์เบส ที่ประเทศไทยพอมีเหนือคู่แข่ง อย่างเข่น ขนุนอ่อน  ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาไทยส่งออกขนุนอ่อนไปต่างประเทศเยอะมาก โดยผู้ประกอบการในต่างประเทศเอาขนุนอ่อนของไทยไปทำแพลนต์เบส ซึ่งให้รสสัมผัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อมาก จึงมองน่าว่าจะพัฒนาได้ดีกว่าวัตถุดิบอย่างอื่น เช่น ถั่วเหลืองที่เราอาจยังต้องนำเข้าอยู่



 

เล่นเกมใหม่ แข่งในตลาดที่ไทยมีโอกาสและแต้มต่อ


       ในปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการอาหารไทยต้องรีบปรับตัวในหลายๆ ด้าน อย่างเช่น สถานการณ์โควิดที่ทำให้ผู้ผลิตอาหารซึ่งเคยผลิตเพื่อส่งต่อให้กับกลุ่มงานจัดเลี้ยง ภัตตาคาร โรงแรม ที่ยอดตกลง และคงไม่รีบฟื้นกลับมาเป็นปกติในเร็วๆ นี้ แต่ในกลุ่มอาหารที่ไปสู่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะซื้อไปปรุงเองที่บ้าน หรือกลุ่มพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) อาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพ การดูแลตัวเอง กลับเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการอาหารต้องคอยสังเกตสัญญานต่างๆ แล้วพลิกสายพานมาผลิตด้านนี้ให้มากขึ้น เพื่อคว้าโอกาสจากสินค้าตัวใหม่ๆ ซึ่งเป็นตัวที่ยังพอทำราคาได้ และยังคงมีช่องว่างทางการตลาดที่ผู้ประกอบการ SME สามารถทำได้


     “อย่างในกลุ่มของแพลนต์เบสเอง ประเทศเรามีศักยภาพมาก เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ถือว่าไทยเป็นตัวนำอยู่แล้ว เพราะเราปลูกเองในพื้นที่ของตัวเอง และยังมีพื้นที่อีกเยอะที่เราอาจเคยทำเพาะปลูกพืชไร่ซึ่งแข่งขันราคาสูงๆ ก็มีโอกาสพลิกมาทำของพวกนี้ได้ เพียงแต่เราต้องไปดูว่าพืชตัวไหนที่มีโปรตีนสูงและมีเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ที่สุด ก็ถือว่ายังคงมีโอกาสที่จะทำได้ ซึ่งกลุ่มนี้เราเรียกว่าเป็นอาหารอนาคต หรือ Future Food  และเป็นนโยบายที่ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเราให้ความสำคัญในปีนี้” เขาบอก


      โดยฝากข้อแนะนำถึงผู้ประกอบการอาหารที่อยากเข้ามาในตลาด Future  Food  ว่าสามารถเข้ามาคุยและปรึกษากับทางกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้ โดยทางกลุ่มฯ จะมีการจัดอบรมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องใหม่ๆ ตลอดจนเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจอย่างกัญชา ซึ่งก็เป็นอีกโอกาสของผู้ประกอบการอาหารไทยในยุคที่เจอกับความท้าทายสุดสาหัสในวันนี้





      “อย่างน้อยที่สุดถ้าคุณยังไม่พร้อมส่งออก คุณลองทำตลาดในประเทศดูก่อนไหม เพราะตลาดในประเทศเราเองพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป โดยเริ่มสนใจพวกนี้มากขึ้นเช่นกัน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่บอกว่า ท่ามกลางวิกฤตมันก็ยังพอมองเห็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ ในวิกฤตยังมีโอกาสอยู่ แน่นอนคงไม่ใช่ผู้ประกอบการอาหารทุกรายที่จะได้ประโยชน์ เพียงแต่ว่าก็ต้องปรับตัวกันหมด สินค้าที่เราเคยทำแล้วเคยขายดี เคยขายได้ เคยส่งออกได้ มันอาจจะไม่ใช่ในวันนี้ อาจมีอุปสรรคอีกเยอะมากให้เราต้องรับมือ แม้กระทั่งเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไม่พออย่างเดียวก็กระทบกันไปหมดแล้ว ฉะนั้นอยากให้ผู้ประกอบการ SME ปรับตัว และลองหาโอกาสจากวิกฤตนี้” เขาบอกในตอนท้าย


       ในปี 2564 นี้  3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร อย่าง สภาหอการค้าฯ สถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมฯ คาดการณ์ว่า มูลค่าส่งออกอาหารไทยจะขยับมาอยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท หรือเติบโตที่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่ายังเป็นตัวเลขที่ท้าทาย ท่ามกลางโจทย์มากมายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในวันนี้ แต่ถ้าผู้ประกอบการไทยพร้อมใจลุกขึ้นมาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่ถูกจุดถูกที่ถูกความต้องการ ก็เชื่อว่าเป้าหมายนี้คงไม่ไกลเกินไป และตำแหน่งในตลาดโลกของไทยก็จะได้ขยับขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนอดีตแสนหอมหวานที่เราเคยผ่านมาแล้ว
               
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน