​เศรษฐกิจไทยปีแพะจะฟุบจะฟื้น ตัวยืนอยู่ที่เม็ดเงินภาครัฐ



    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics  คงมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นรูปแบบ U-Shape และยืนคาดการณ์จีดีพีเดิม (ณ พฤศจิกายน 2557) ที่ร้อยละ 3.5 หวังเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเป็นฟันเฟืองสำคัญช่วยผลักดัน ไม่งั้นเศรษฐกิจไทยอาจฟุบมากกว่าฟื้น

    หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติเสียงแตก 4 ต่อ 3 ตัดสินใจหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุมวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย เพราะเท่ากับอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยนั้นยังคงอ่อนแอ ขาดแรงกระตุ้นที่อาจทำให้จีดีพีในปี 2558 โตได้ไม่สูงอย่างที่คาดหวังไว้ และมีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการทบทวนปรับลดประมาณการจีดีพีลงจากเดิมร้อยละ 4 ในวันที่ 20 มีนาคมนี้

    เครื่องชี้เศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ต่อเนื่องมาเดือนมกราคม ได้ตอกย้ำแรงส่งหรือโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจไทย ทั้งทางด้านดีมานด์และซัพพลาย อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงหดตัวอยู่ร้อยละ 1.3 ต่อปี (เทียบกับ -4.6% ปี 2557) 

    สอดรับกับการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่แทบไม่ขยายตัวเลยหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้นทำให้ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังคงมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีแพะจะเป็น U-Shape และยืนประมาณการจีดีพีที่ต่ำกว่าตลาดส่วนใหญ่ไว้ที่ร้อยละ 3.5 โดยฟันเฟืองที่จะมาช่วยขับเคลื่อนจะมาจากอุปสงค์ในประเทศมากกว่าภาคการส่งออก

    แรงผลักดันสำคัญจะมาจากเม็ดเงินของภาครัฐ ทั้งในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาทิ เงินช่วยเหลือต้นทุนเกษตรกรเพาะปลูกข้าว/ยางพารา เงินบรรเทาวิกฤตภัยแล้งผ่านแจกเงินตำบลละล้าน (วงเงิน 3,174 ล้านบาท) 

    รวมทั้งโครงการสร้างการจ้างงานชนบท/เกษตรกรซ่อมแซมถนนทั่วประเทศ อีก 4 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้การบริโภครวมในปีนี้ขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ผลผลิตเสียหายจากปัญหาภัยแล้งที่น่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา และภาระหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยถ่วงต่อกำลังซื้อของครัวเรือนอยู่
 
    ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐพยายามเร่งรัดโครงการลงทุนที่สามารถดำเนินการได้ ได้แก่ รถไฟทางคู่ ที่ไทยและจีนได้ตกลงร่วมลงทุนในปลายปีนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนควบคู่กัน 

    อาทิ โครงการรถอีโคคาร์เฟส 2 โครงการสาธารณูปโภค (ผลิตไฟฟ้า) ภายใต้ภาวะเกื้อหนุนจากต้นทุนกู้ยืมและต้นทุนวัสดุก่อสร้างในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม แผนลงทุนส่วนใหญ่ปีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเวนคืนที่ดิน/จัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เม็ดเงินที่ทยอยเข้าสู่ระบบในช่วงครึ่งหลังของปีอาจไม่มากนัก หากไม่มีการปรับเลื่อนแผนการลงทุนออกไป คาดว่าปีนี้การลงทุนรวมน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.1 จากที่หดตัวเกือบร้อยละ 3 ในปี 2557

    ส่วนภาคการส่งออก กำลังซื้อที่อ่อนแอจากคู่ค้าหลักอย่างยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงน่าเป็นห่วง เศรษฐกิจจีนก็ยังอยู่ในระหว่างการปฎิรูปประเทศ กระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน (เช่น ข้าว ยางพารา น้ำมัน) ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) น่าจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น 

    อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีและเร็วจากผลกระทบการเมือง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก น่าจะช่วยชดเชยอุปสงค์จากการส่งออกสินค้าที่ลดลงได้บางส่วน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสสี่ปีก่อน และขยายตัวสูงร้อยละ 15.9 ในเดือนมกราคม ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 27 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9
 
    ภายใต้บริบทดังกล่าว แม้ว่าระดับขยายตัวเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นมากจากปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 แต่ยังเป็นการขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ และมีความเสี่ยงโน้มเอียงไปทางด้านลบมากกว่าด้านบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐชะลอออกไป เนื่องจากการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของ ปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 18 ของงบลงทุนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายเฉลี่ยในอดีตเกือบครึ่งหนึ่ง 

    ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินนโยบายเชิงรุก ในความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบที่สอดรับกับกรอบการปฎิรูปประเทศ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเชิงรับ เพื่อป้องกันและจัดการกับสิ่งที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อตกต่ำ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น หากการเบิกจ่ายเม็ดเงินภาครัฐสะดุดลง ก็อาจลดทอนประสิทธิผลการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน