วิธีรับมือลูกค้า “หมดไฟช้อป” โจทย์หินธุรกิจ ปี 64

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea


4 กลยุทธ์มัดใจผู้บริโภคขี้เกียจช้อป

 
  • ไม่ต้องมีตัวเลือกเยอะ คัดเฉพาะที่เจ๋งๆ มาให้
 
  • สร้างสินค้าดาวเด่น เพื่อเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
 
  • ออกแบบวิธีการซื้อสินค้าที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น
 
  • นำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ เพื่อหาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค
 
           


     จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกตกต่ำ มิหนำซ้ำยังมีวิกฤตจากโรคร้ายเข้ามารุมเร้าในช่วง 1 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ เรียกว่าพอกำลังจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นก็เจอมรสุมคลื่นลูกใหม่ซัดถาโถมเข้ามาอีก จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหลายคนปรับตัวแทบไม่ทัน บ้างก็ล้มทั้งยืนมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ประกอบการเท่านั้น จากสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังส่งผลกระทบไปถึงตัวผู้บริโภคด้วย






     เมื่อต้องเจอกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ลำพังประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้นไปได้ก็ยากแล้ว  แถมต้องมาตกอยู่ในภาวะแวดล้อมการแข่งขันที่ดุเดือดทางธุรกิจ ผู้ผลิตต่างพยายามแย่งชิงลูกค้าด้วยการสร้างสินค้าออกมาเป็นตัวเลือกมากมาย จึงทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและถึงจุดอิ่มตัว จนเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า “The Compressionalist” หรือภาวะหมดแรง หมดไฟของผู้บริโภคที่แม้แต่การเลือกจับจ่ายใช้สอย ก็ยังไม่มีกะจิตกะใจที่จะทำ เรียกง่ายๆ ว่า หมดไฟช้อป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังต้องการได้สิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นการมีสินค้าที่หลากหลายอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับผู้บริโภคยุคนี้ก็ว่าได้ จะทำอย่างไรเมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไป SME ลองมาตั้งรับกัน
 



 
  • ทำน้อย แต่ได้มาก
              

     เมื่อผู้บริโภครู้สึกหมดไฟไม่มีกะจิตกะใจที่จะทำอะไร แม้แต่ความสนุกในการช้อปปิ้ง สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรทำเพื่อรับมือ คือ เปลี่ยน Mind Set ของตัวเองจากที่เคยคิดว่ามีสินค้าเท่าไหร่ ก็ใส่วางเรียงไว้บนชั้นให้หมด ยิ่งเยอะยิ่งดี ยิ่งมีหลายตัวเลือกผู้บริโภคยิ่งชอบ เปลี่ยนมาเป็นวางจำนวนชิ้นให้น้อยลง แล้วคัดเฉพาะที่คิดว่ามีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ อย่างสินค้าประเภทเดียวกันอาจนำมาวางให้เลือกหลายแบรนด์หลายยี่ห้อก็ได้ แต่ขอให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างน้ำยาปรับผ้านุ่ม สูตรช่วยให้ผ้าไม่เหม็นอับ สำหรับซักกลางคืน แทนที่จะหยิบมา 10 แบรนด์ อาจเหลือให้เป็นตัวเลือกแค่ 3 – 4 แบรนด์ก็ได้ โดยอาจแตกต่างกันที่ช่วงราคา กลิ่นหอม ฯลฯ การทำเช่นนี้จะทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องตัดสินใจเลือกเยอะ ไม่สับสน แถมอาจช่วยลดการสต็อกสินค้าให้กับร้านค้า ให้เหลือเฉพาะแต่สินค้าที่จำเป็นและขายดีก็ได้

 


 
  • เลือกให้เลย
              

     นอกจากการเลือกผลิตหรือคัดเลือกแต่เฉพาะสินค้าเท่าที่จำเป็น ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปแล้ว ผู้ประกอบการยังอาจสามารถสร้างสินค้าดาวเด่นหรือสินค้าแนะนำขึ้นมา เพื่อชูเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ให้กับผู้บริโภคที่อาจต้องการการเลือกซื้อที่รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็คุ้มค่า คุ้มราคา โดยทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจต้องเสียเวลาในการทดลองหรือทดสอบด้วยตนเอง เมื่อเห็นว่าดีจริงจึงค่อยนำมาแนะนำเพื่อเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภค วิธีการนี้นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเวลา ไม่ต้องตัดสินใจเลือกเยอะแล้ว ยังอาจเป็นการกระตุ้นยอดขาย ให้ของที่ขายดีอยู่แล้ว ยิ่งขายดียิ่งขึ้นไปอีก  

 


 
  • ง่ายเข้าไว้
              

     ไม่ใช่แค่การคัดเลือกแต่ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นเท่านั้น การออกแบบกระบวนการเลือกซื้อให้ง่ายและสะดวก มีช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย รูปแบบการเลือกซื้อที่ง่ายไม่ว่าออฟไลน์ หรือออนไลน์ ไปจนถึงการออกแบบการจัดส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้นให้กับลูกค้า ช่วยให้ประหยัดเวลา ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยทางเลือกที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาอุดหนุนซื้อสินค้ามากขึ้นก็ได้ โดยผู้ประกอบการอาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นให้กับลูกค้า

 


 
  • อย่าลืมนำข้อมูลมาใช้


     สุดท้ายจริงอยู่ที่การจะรับมือผู้บริโภคแบบ The Compressionalist คือ ต้องทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้ เพื่อประหยัดเวลา ลดภาระในการตัดสินใจเลือกให้กับผู้บริโภค แต่การจะคัดเลือกสิ่งที่คิดว่าผู้บริโภคต้องการจริงๆ ได้ผู้ประกอบการก็ต้องมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ด้วย ไม่ใช่การคิดขึ้นมาแบบลอยๆ โดยอาจอาศัยวิธีจากการสอบถามความต้องการกับลูกค้าโดยตรง ดูจากสถิติยอดขายที่เกิดขึ้น กระแสหรือเทรนด์ความต้องการต่างๆ ในขณะนั้น จากนั้นนำมาใช้วิเคราะห์และเลือกสินค้าให้ตรงกับที่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายต้องการ ก็จะทำให้การตัดสินใจดังกล่าวมีความแม่นยำมากขึ้นด้วย
              

     และนี่คือ คำแนะนำในการเตรียมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภครูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยเฉพาะในปี 2564 ที่จะมาถึงในไม่ช้า ซึ่งหากผู้ประกอบการธุรกิจสามารถเตรียมตัวตั้งรับเอาไว้ก่อนล่วงหน้าได้ คงไม่ยากเกินไปที่จะดำเนินกิจการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นอีกปีหนึ่ง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้ๆ อีกครั้ง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน