​กรีซป่วนค่าเงินยูโรส่งออกไทยต้องเร่งหาทางรับมือ

 


    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบความผันผวนของค่าเงินยูโรพุ่ง หลังกรีซประกาศยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัด สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป ซ้ำเติมเงินยูโรอ่อนค่า หลังธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบีประกาศใช้มาตรการคิวอีก่อนหน้านี้ แนะผู้ส่งออกไปยุโรปบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงิน

    หลังจากพรรคซีริซา ซึ่งนำโดยนายอเล็กซิส ซีปราส ชนะการเลือกตั้งในกรีซเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ความกังวลว่ากรีซอาจต้องหลุดออกจากยูโรโซนก็โหมกระหน่ำขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากนโยบายหลักที่พรรคของนายซีปราสใช้หาเสียงคือการยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งถึงแม้จะได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายจากประชาชนชาวกรีก แต่เป็นนโยบายที่ผิดเงื่อนไขสำคัญที่เจ้าหนี้ของกรีซตั้งไว้ในปี 2553 เพื่อแลกกับการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือไม่ให้ประเทศล้มละลายในตอนนั้น 

    ในปัจจุบันรัฐบาลกรีกก็ยังคงเป็นหนี้กว่า 3.16 แสนล้านยูโร (11.7 ล้านล้านบาท) คิดเป็นกว่าร้อยละ 170 ของจีดีพี โดยเจ้าหนี้รายใหญ่คือ European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งก่อตั้งโดยบรรดาประเทศสมาชิกของยูโรโซน และบรรดาเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเยอรมนี ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่ากรีซจะต้องดำเนินตามมาตรการรัดเข็มขัดต่อไป มิเช่นนั้นจะยุติการให้ความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่อง อันจะส่งผลให้กรีซล้มละลายในที่สุด 

    นี่จึงเป็นเกมระหว่างยุโรปและกรีซ ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพยายามต่อรองให้ผลลัพธ์เป็นไปตามข้อเรียกร้องของตนที่สุด หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมอ่อนข้อ อีกฝ่ายก็พร้อมที่จะตักตวงตามที่ตัวเองต้องการในทันที ทั้งสองฝ่ายจึงต่างออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองอย่างแข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมา 

    แต่ท้ายที่สุด ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่ากรีซและกลุ่มเจ้าหนี้จะสามารถประนีประนอม เนื่องจากหากต่างฝ่ายต่างดึงดันตามที่ตัวเองต้องการจนกรีซล้มละลาย ยูโรโซนจะมีแต่เสียกับเสีย ทั้งประเทศเจ้าหนี้และกรีซเองก็จะเจ็บตัวไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของการต่อรองสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วันนี้ทั้งสองฝ่ายอาจส่งสัญญาณพร้อมเจรจาหาทางออกร่วมกัน วันรุ่งขึ้น ความขัดแย้งอาจปะทุขึ้นมาอีกก็เป็นไปได้ 

    ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในยุโรปจึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และจะถูกสะท้อนออกมาผ่านความผันผวนของค่าเงินยูโร เมื่อสถานการณ์พัฒนาไปในทางบวก ยูโรก็มักจะแข็งค่าขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าข่าวที่ออกมาสื่อภาพเชิงลบ เช่น การแยกตัวของกรีซจากกลุ่มยูโรโซน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในกลุ่มมาก ก็จะทำให้เงินยูโรกลับไปมีแนวโน้มอ่อนค่าอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินกลับไปกลับมานี้เองที่เราเรียกว่า “ความผันผวนของค่าเงิน”

    เมื่อเราศึกษาข้อมูลในอดีตจะพบว่า ในช่วงวิกฤตหนี้ยุโรปในช่วงปี 2554 ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินบาท มีความผันผวนเฉลี่ยร้อยละ 2.75 ต่อเดือน ซึ่งใกล้เคียงกับค่าความผันผวนของค่าเงินยูโรในปัจจุบัน หมายความว่า ค่าเงินยูโรที่ระดับประมาณ 37 บาทต่อหนึ่งยูโรในขณะนี้ (กุมภาพันธ์) น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36-38 บาทในช่วงเดือนมีนาคม

    อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า ค่าเงินยูโรมีความเสี่ยงทางด้านอ่อนค่า มากกว่าแข็งค่า แน่นอนว่าสถานการณ์ของกรีซเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เงินยูโรอ่อนค่าเป็นระยะๆ แต่ที่สำคัญกว่า คือการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ QE ของธนาคารกลางยุโรป ที่จะทำให้ค่าเงินยูโรมีทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าค่าความผันผวนยังคงยืนอยู่ในระดับปัจจุบัน จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในยุโรป เราอาจจะได้เห็นค่าเงินยูโรแตะระดับ 35 บาทต่อยูโร ในช่วงกลางปีก็เป็นได้

    ผลกระทบโดยตรงจะเกิดกับผู้ส่งออกไปยุโรป เพราะเงินยูโรที่ได้รับจะแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง ทำรายได้หดหาย ผู้ส่งออกจึงควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เช่น อาจลดธุรกรรมในรูปยูโรลงบ้าง พยายามเพิ่มธุรกรรมในเงินสกุลอื่นกับคู่ค้า หรือทำสัญญาขายยูโรล่วงหน้า (Forward contract) เอาไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากความผันผวนของค่าเงินดังกล่าว

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน