supply Chain ผนึกคู่ค้าเพิ่มประสิทธิภาพสูตรสำเร็จ SMEs ยุคใหม่

 






    ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้การเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจดูเหมือนว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและนำพาไปสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพราะผลของการเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าวนั้นนำมาซึ่งการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี


    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพเฉพาะภายในของแต่ละองค์กรอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมองภาพกว้างตลอดซัพพลายเชน (SupplyChain) เพื่อสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจตั้งแต่ต้นำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทย 3 รายนี้ ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการซัพพลายเชน เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดซัพพลายเชน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจของ SME ในอนาคต

จัดการ Over Stock ในแบบ “สีฟ้า”

    ความยากอย่างหนึ่งในธุรกิจอาหาร นั่นคือ การบริหารจัดการด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากไม่สามารถจัดการได้ดีพอ โอกาสที่จะเกิดความเสียหายก็มีอยู่สูง จากประสบการณ์บริหารโรงงานผลิตอาหารและเบเกอรีในเครือร้านอาหารสีฟ้า ของ มณีกร ประกายเพ็ชรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต บริษัท ห้องอาหารสีฟ้า จำกัด กล่าวว่า ด้วยความที่คำสั่งซื้อจากลูกค้าไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ชัดเจนว่าจะมีมากขึ้นหรือน้อยลง อีกทั้งระยะเวลาของคำสั่งซื้อจะเป็นช่วงสั้นๆ ทำให้ที่ผ่านมาบ่อยครั้งมักจะประสบกับปัญหาสต๊อกบวม (Over Stock) หรือการเก็บวัตถุดิบไว้มากเกินไป และหากไม่สามารถบริหารจัดการได้ดีพอ วัตถุดิบเหล่านี้ก็จะหมดอายุ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้

    “เรามองว่าถ้าของเสียเยอะ ก็มีผลต่อต้นทุน พนักงานเองก็ทำงานไม่สะดวก ตอนนี้เราได้มีการปรับปรุงระบบการทำงานใหม่ โดยมีแผนการสั่งซื้อสินค้าอย่างชัดเจนล่วงหน้า 1 เดือน จากเดิมที่เคยสั่งอาทิตย์ละครั้ง ถ้าช่วงไหนยอดมันเหวี่ยงมากจริงๆอาจจะมีการขอปรับยอด แต่ก็จะแจ้งล่วงหน้า24 ชั่วโมง ซึ่งเราก็ไปคุยกับซัพพลายเออร์เพื่อให้เขาช่วยทำในแบบของเรา ซึ่งทางซัพพลายเออร์เขาก็ยินดีอยู่แล้วที่เราจะทำอย่างนี้ เพราะว่าถ้ามีออร์เดอร์ชัดเจน ล่วงหน้า เขาเองก็สามารถวางแผนส่งสินค้าให้กับเราได้ง่ายขึ้น และสำหรับเราเองการสั่งซื้อเป็นรายเดือน ยังช่วยควบคุมในเรื่องของราคาได้ส่วนหนึ่ง เช่น วัตถุดิบบางตัวซัพพลายเออร์เขาอาจจะยืนราคาแค่ 15 วัน แต่เมื่อเราสั่งล่วงหน้าเป็นรายเดือน ก็ทำให้เราได้ในราคาเดิม ซึ่งก็ช่วยในเรื่องของต้นทุนได้ระดับหนึ่ง”

    นอกเหนือจากการบริหารสต๊อกแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มณีกร ยกตัวอย่างเรื่องของการสูญเสียเวลาจากการเดินไปมา
ของพนักงานระหว่างการทำงาน เช่น ในกระบวนการเคลียร์อัพ พนักงานจะต้องเสียเวลาในการเดินหาเครื่องมือทีละอย่าง พอมีการปรับระบบใหม่เป็นถาดเครื่องมือ อาจจะมีสัก 5 ถาด พอเปลี่ยนไลน์ใหม่ก็หยิบเอาถาดเครื่องมือใหม่ออกมาวาง จากเรื่องเล็กๆเพียงแค่นี้ ก็ทำให้พนักงานลดเวลาจากการเดินได้ถึง 1 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว


 



ลดต้นทุนด้วย “ระบบจัดส่ง” แบบมีประสิทธิภาพ

    เชื่อว่าหลายๆ ธุรกิจอาจเคยประสบปัญหาในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะไม่สามารถบริหารจัดการ ด้านการจัดส่งสินค้าไปให้กับลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ได้ดีพอ ซึ่งในเรื่องนี้ สาธิต เครือรัฐติกาล ผู้จัดการทั่วไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด สงวนฟาร์ม ในฐานะฟาร์มผู้ผลิตไข่ไก่เสริมแร่ธาตุซีลีเนียมแบบครบวงจรรายใหญ่ของจังหวัดสระบุรี ก็ได้เล็งเห็นถึงจุดนี้เช่นกัน เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดส่งสินค้าที่ขาดการวางแผนย่อมมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ หากผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้ ไม่ว่าจะมาจากส่วนใดก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

    สาธิตเล่าว่า ลูกค้าหลักของสงวนฟาร์มนั้นจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตอาหาร หรือร้านอาหาร เป็นต้น ส่วนการขายปลีกนั้นมีอยู่บ้างแต่ยังไม่มากนัก ซึ่งที่ผ่านมาเขายอมรับว่า ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยครั้งคือ ลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีแผนในการสั่งซื้อที่ไม่ชัดเจน จึงมักจะเกิดกรณีโทรศัพท์เข้ามาสั่งซื้อแบบฉุกเฉิน เช่น สั่งตอนค่ำวันนี้ แล้วให้ไปส่งตอนเช้าวันรุ่งขึ้น หรือสั่งให้ไปส่งในช่วงค่ำๆ ซึ่งถือว่าเป็นเวลาเลิกงานของพนักงานแล้ว ซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับพนักงาน หรือต้องวิ่งรถเพื่อไปส่งให้กับลูกค้าแค่รายเดียว เหล่านี้ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจ

    “ลูกค้าแต่ละรายไม่เหมือนกัน บริษัทที่เขามีระบบดีอยู่แล้วก็ไม่ยาก แต่บริษัทเล็กๆ ที่ยังขาดการวางแผนที่ดี เราเองก็พยายามช่วยเขา โดยช่วยวางระบบให้ ซึ่งก็จะเป็นระบบของเราในการจัดส่ง เพราะแต่ละครั้งที่จะจัดส่งเรามีการกำหนดเส้นทางว่าวันไหน จะไปเส้นทางไหนบ้าง เพราะลูกค้า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่กรุงเทพฯ โดยจะจัดให้ลูกค้าที่อยู่ในเส้นทางนั้นๆ สั่งซื้อตรงกับรอบการส่งของเราลูกค้าเขาก็เห็นด้วยที่วางระบบแบบนี้ แต่ก็มีบางคนก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เราเองจะต้องเป็นฝ่ายค่อยโทรศัพท์ถามเขา ต้องคุยกันให้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ เรามองตัวเราเป็นหลัก เพิ่มประสิทธิภาพที่ตัวเรา แต่วันนี้เราต้องมองภาพให้กว้างขึ้น พัฒนาแค่เราก็ได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าพัฒนาทั้งซัพพลายเชนจะมีประสิทธิภาพดีกว่า” สาธิตกล่าวทิ้งท้าย

 





แชร์ข้อมูลร่วมกัน สร้างประสิทธิภาพซัพพลายเชน

    เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME สามารถเติบโตและแข่งขันได้ สำหรับ สุรวุฒิ วิทยาปัญญานนท์ กรรมการ บริษัท กรีนฟู้ดส์ เอเชีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากหญ้าหวาน ซึ่งวันนี้ธุรกิจของเขาเตรียมที่จะรุกเข้าสู่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม หลังจากเปิดตัวให้ผู้บริโภคทั่วไปได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์นี้ไปแล้ว แม้จะยังเป็นเรื่องใหม่ในตลาดเมืองไทย แต่ในต่างประเทศก็มีการใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะญี่ปุ่นจากการเปิดเผยของสุรวุฒิกล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวเขาเองก็มุ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีบางเรื่องที่ยังทำไม่ครบ เพราะเราเชื่อว่า ประสิทธิภาพการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ มีผลต่อเรื่องของต้นทุน อย่างในกระบวนการผลิตย่อมต้องมีการสูญเสียเป็นปกติ อาจจะเกิดการสูญเสียจากการติดเครื่องจักร หรือตกหล่นไปบ้างเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น

    “การสูญเสียยิ่งน้อยยิ่งดี จากเคยสูญเสีย 10 เปอร์เซ็นต์ ปรับลดลงมาเหลือ 2 เปอร์เซ็นต์ส่วนต่าง 8 เปอร์เซ็นต์ก็กลายเป็นกำไรให้เรา ตรงนี้เราต้องมองว่าทำอย่างไรที่จะผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเทียบเท่าบริษัทชั้นนำ แน่นอนว่าต้นทุนเราสู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ เพราะเขาผลิตเยอะกว่า แต่เราสามารถดึงจุดแข็ง คือ ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดกว่าได้”

    พร้อมกันนี้ สุรวุฒิยังบอกด้วยว่า การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งระบบซัพพลายเชนก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญการแชร์ข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้การวางแผนการดำเนินงานของทุกฝ่ายเป็นไปอย่างสะดวกนั้น จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เรามีการคุยกับเกษตรกร คุยกับผู้นำเข้า หรือแม้แต่เทรดเดอร์ เพื่อให้แต่ละฝ่ายรู้ว่าต้องวางแผนที่จะจัดส่งสินค้าเมื่อไร อย่างไร หรือต้องผลิตในจำนวนมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะเพียงพอกับตลาด เพราะหัวใจของซัพพลายเชน คือการให้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ตรงจุด ยุคนี้ผู้ประกอบการต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรที่จะช่วยให้คู่ค้าของเราประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จของคู่ค้าทั้งซัพพลายเชน ก็คือความสำเร็จของธุรกิจเรานั่นเอง

Crate by smethailandclub.com

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน