SME ปรับตัวอย่างไร? เมื่ออีก 10 ปี ข้างหน้า คนไทยเกือบครึ่งจะเข้าสู่วัยเกษียณ

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea

 
ผลกระทบต่อธุรกิจเมื่อพลเมืองเกือบครึ่งเป็นผู้สูงวัย
 
  • การบริโภคจะถึงจุดอิ่มตัว
 
  • ธุรกิจรูปแบบเก่าจะเติบโตได้ยาก
 
  • ธุรกิจจะขาดอำนาจในการกำหนดราคา
 
  • จะขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพ




      อีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2030) ภาคธุรกิจกำลังจะเจอกับความท้าทายครั้งใหม่ และไม่เคยพบเจอมาก่อนในทศวรรษก่อนหน้านี้ เมื่อประเทศไทยจะมีพลเมืองที่เป็นคนเตรียมเกษียณอายุ (Pre-retirement) หรือเกษียณอายุแล้ว (Retirement) มากถึงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์!
               

      ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลอย่างไรกับการทำธุรกิจของ SME มาหาคำตอบไปพร้อมกัน




 
               
โครงสร้างประชากรเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน


      ตลอดที่ผ่านมา “โครงสร้างประชากร” นับเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่กำหนดรูปแบบการเติบโตของประเทศเราไม่ว่าจะในมุมมองของฝั่งการบริโภคและการผลิต  โดยเมื่อย้อนดูโครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย พบว่าที่ผ่านมาเราโตด้วยประชากรที่อยู่ในวัยเติบโต กลุ่มวัยทำงานและสร้างครอบครัว ไล่มาจนกลุ่มประชากรที่มีผลิตภาพสูง เป็นกำลังการผลิตที่สำคัญของประเทศ
               

      ทว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ภาพนี้จะเปลี่ยนไป เมื่อพลเมืองทั้ง 3 กลุ่มที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจก่อนหน้านี้จะลดจำนวนลง และมีพลเมืองผู้สูงวัยเข้ามาแทนที่


      โดยประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและจะกลายเป็นประเทศสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปีหน้านี้ ซึ่งนับเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์  และในปี 2030  หรืออีก 10 ปีข้างหน้า กลุ่มคนที่เตรียมเกษียณอายุ (Pre-retirement) หรือเกษียณอายุแล้ว (Retirement) จะมากขึ้นและจะมีสัดส่วนเกินกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรไทยทั้งหมด นี่คือความท่าทายบทใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยกำลังจะเจอในอนาคตข้างหน้า
               

      ถามว่า ถามว่าเมื่อพลเมืองเกือบครึ่งจะกลายเป็นผู้สูงวัยจะกระทบอย่างไรต่อการทำธุรกิจ แน่นอนว่า การบริโภคจะถึงจุดอิ่มตัว ธุรกิจรูปแบบเก่าจะเติบโตได้ยากขึ้น ธุรกิจจะขาดอำนาจในการกำหนดราคา ที่สำคัญเรากำลังจะขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้

 



               
การบริโภคจะถึงจุดอิ่มตัว


       เมื่อประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาพจริงที่จะเกิดขึ้นคือ การบริโภคจะค่อยๆ ลดลงและไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกต่อไป จากการที่ประชากรในกลุ่มที่มักจะมีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ (กลุ่มอายุน้อยกว่า 34 ปี) จะมีจำนวนน้อยลง ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มคนที่เตรียมตัวเกษียณอายุ (51 – 65 ปี) และกลุ่มหลังเกษียณ (มากกว่า 65 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่บริโภคน้อยลง และมีการออมเพื่อเตรียมตัวเกษียณในสัดส่วนที่สูง 


      เมื่อเปรียบเทียบการใช้จ่ายของคนในแต่ละช่วงอายุ พบว่าประชากรในกลุ่มวัยก่อนเกษียณและหลังเกษียณมีการบริโภคเฉลี่ยต่อเดือนลดลงมากถึง 3,000 บาท (12 เปอร์เซ็นต์) และ 6,000 บาท (25 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนทำงานอายุ 35-50 ปี ตามข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Survey) ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนกลุ่มประชากรรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ  จากการหาความสัมพันธ์ทางสถิติ พบว่าการบริโภคที่ลดลง ไม่ได้เกิดจากรายได้ของกลุ่มผู้สูงอายุที่หายไปจากการออกจากตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเป็นผลจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น จากการเก็บออมที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยที่ลดลง เป็นต้น


      ทำให้คาดการณ์ได้ว่าโครงสร้างประชากรไทยในระยะข้างหน้า จะสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่การบริโภคเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจ อาจกลับกลายเป็นไม่ขยายตัวเลยในช่วงปี 2020–2030 และทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงไปยิ่งกว่าเดิม





 
ธุรกิจรูปแบบเก่าจะเติบโตได้ยากขึ้น


      ด้วยความที่รูปแบบการใช้จ่ายของผู้สูงวัยจะแตกต่างจากกลุ่มผู้บริโภควัยอื่นๆ ตามความต้องการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของคน ภาวะสังคมสูงวัยจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตของประเทศ รวมถึงโอกาสในการเติบโตและความอยู่รอดของธุรกิจในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไปด้วย


      KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า รูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของประชากรจะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่จะยังสามารถขยายตัวได้ดี คือ อุตสาหกรรมยา การดูแลสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย และบริการอื่นๆ  ในขณะที่อุตสาหกรรมที่เคยเติบโตได้ดี เช่น รถยนต์ การเดินทาง เสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่ม จะเริ่มหดตัวลงตามความต้องการที่ลดลงของกลุ่มผู้สูงอายุ


      เมื่อพิจารณาความสำคัญของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มหดตัวจากการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของผู้สูงอายุ โดยรวมแล้วสินค้าและบริการจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีขนาดใหญ่ถึงประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ ของการบริโภคในประเทศในปัจจุบัน หรือคิดเป็นกว่า 31 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP เลยทีเดียว  ผลจากการหดตัวของการบริโภคในส่วนนี้เพียงอย่างเดียว อาจจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงไปประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์ จากระดับเฉลี่ยที่เติบโตเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ความต้องการลดลง และต่อการเติบโตในระยะข้างหน้าของเศรษฐกิจไทยโดยรวม




 
ธุรกิจจะขาดอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing Power)


      อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลังปี 1970 เป็นต้นมา พบว่ามีทิศทางที่ต่ำลงต่อเนื่องทั่วโลก ในกรณีของไทยเองปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หายไปอาจมีส่วนสำคัญเช่นกันในการอธิบายอัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง จากข้อสังเกต คือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน (Core inflation) ซึ่งสะท้อนแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มาจากด้านกำลังซื้อได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 และ 2008 เป็นต้นมา
 

      เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นรายอุตสาหกรรมของไทยพบว่า ในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าลดลงในแทบทุกหมวดสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อ กลุ่มนี้สินค้าที่ราคาชะลอตัวลงมากที่สุด คือ อาหาร เสื้อผ้า และนันทนาการ  ซึ่งสอดคล้องกับทั้งพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้สูงอายุที่บริโภคสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง และอัตรากำไรของบริษัทในธุรกิจกลุ่มนี้ที่ชะลอลง
               

      มองไปข้างหน้าตลาดผู้บริโภคที่เล็กลงจากโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย จะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการทั้งในเชิงปริมาณและเชิงราคา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ความต้องการซื้อลดลง อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศที่ลดต่ำลงในช่วงที่ผ่านมาและในระยะข้างหน้า มีส่วนทำให้ความน่าสนใจของประเทศไทยลดลงในสายตาของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติด้วย ซึ่งผลักดันให้ธุรกิจหันไปหาตลาดในประเทศอื่นๆ ที่กำลังเติบโตและมีแนวโน้มผลตอบแทนสูงกว่าไทย และนี่คือความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยในอนาคต





               
จะขาดแคลนแรงงานทั้งจำนวนและศักยภาพ


      เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนไปเป็นสังคมสูงอายุ สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิต เมื่อต้องถูกแรงกดดันจากปัจจัยด้านแรงงาน คือ การขาดแคลนแรงงานจากจำนวนคนในวัยทำงานที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนแรงงานของไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และผลิตภาพแรงงานที่ลดลงเมื่อแรงงานส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ภาวะสูงวัย หรือเพิ่มขึ้นได้ไม่มากเมื่อเทียบกับคนทำงานวัยหนุ่มสาว จากทั้งข้อจำกัดทางกายภาพและศักยภาพในการเรียนรู้และทักษะการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ 


      ซึ่งทั้งต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นและผลิตภาพแรงงานที่ลดลงนี้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการผลิต การดึงดูดการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในทศวรรษต่อไป โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินไว้ว่าเฉพาะปัจจัยด้านการลดลงของกำลังแรงงาน จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยลดลงไปอีก 0.7 เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างปี 2020-2050




               
ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวรับมือ


       การมาถึงของพลเมืองผู้สูงวัย ส่งมอบความท้าทายให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างยิ่งยวด ไม่เว้นแม้แต่ SME ที่ต้องได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่อเทรนด์เศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ดังนี้


      1.ตลาดในประเทศ จากตลาดที่เคยขยายตัวได้ดีในกลุ่มสินค้าของวัยทำงานและสร้างครอบครัว เช่น รถยนต์ อาหาร เครื่องแต่งกาย ในอนาคตอันใกล้จะเปลี่ยนไปเป็นสินค้าสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เวชภัณฑ์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถพัฒนาธุรกิจมารองรับเทรนด์นี้ได้


      2.ตลาดต่างประเทศ จากการแข่งขันด้วยราคาและค่าเงินที่ถูก จะเปลี่ยนไปเป็นเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไปและเพิ่มความสามารถที่แท้จริงในการแข่งขัน


      3.ภาคบริการ จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตัวช่วยการเรียนรู้แบบ Lifelong learning  ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ กิจกรรมยามว่างสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านการวางแผนเกษียณอายุ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัยเองและลูกหลานที่มีภาระมากขึ้นในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ
               

      ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ SME สามารถติดตาม และจับไปเป็นโอกาสในการทำธุรกิจรองรับตลาดอนาคตได้


      4.รับมือปัญหาด้านแรงงาน จากอุตสาหกรรมในรูปแบบเก่าๆ ที่เน้นใช้แรงงานทักษะต่ำและค่าแรงราคาถูกในอดีตจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกต่อไปจากแรงงานที่ลดลงและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น โดยหากเศรษฐกิจไทยต้องการโตต่อไปอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาทดแทนแรงงานที่หายไป และก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่เน้นพัฒนาคุณภาพ (Quality) ความสร้างสรรค์ (Creativity) และความสามารถในการผลิต (Productivity)  เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High value-added) มากกว่าการเน้นแต่เฉพาะจำนวนและราคา  รวมทั้งส่งเสริมให้อัตราการมีส่วนร่วมในแรงงานเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มคนด้วย
 

      ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวเตรียมพร้อมและรองรับ จากธุรกิจที่เคยรุ่งในวันนี้ อาจล้มหายตายจากไป เมื่อตลาดส่วนใหญ่ถูกผู้สูงวัยยึดไปหมดแล้ว  
 

      ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก KKP Research  โดยเกียรตินาคินภัทร





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน