ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนหลังโควิด ทำธุรกิจที่อยู่อาศัยแบบไหนให้ตอบโจทย์?

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea

 
  • โควิดและวิถีชีวิต New Normal ทำพฤติกรรมลูกค้าธุรกิจที่อยู่อาศัยเปลี่ยน  
 
  • ช่องทางการขายออนไลน์จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ   
 
  • การพัฒนาโครงการใหม่ต้องเน้นความคุ้มค่าเพื่อสอดคล้องกับกำลังซื้อและการแข่งขัน
 
  • ไลฟ์สไตล์ใหม่อย่าง Work from home จะส่งผลต่อการเลือกที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน
 
  • รูปแบบการพัฒนาโครงการต้องตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย
 
 


 
     ว่ากันว่าสิ่งที่ยากที่สุดหลังโควิด-19 คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยน และพฤติกรรมที่ว่านี้กำลังส่งมอบโจทย์ท้าทายให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มต่างๆ รวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งรายใหญ่รายเล็ก รายเก่าและรายใหม่ ที่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับเปลี่ยนวิธีการในการทำธุรกิจตามไปด้วย



 

ส่องสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยครึ่งปีแรก 2563


     EIC รายงานว่า การระบาดของโควิด -19 ครั้งนี้ ซ้ำเติมให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในปี 2563 หดตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV (Loan to Value หรือ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนปี 2562 ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยเข้าสู่ภาวะซบเซาลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและกำลังซื้อของต่างชาติที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ยอดการขายที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2562 หดตัวลงที่ -17 เปอร์เซ็นต์ YoY และต่อเนื่องมาในปี 2563 ที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวลงมากยิ่งขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลของ AREA ที่จำนวนหน่วยขายได้ในครึ่งแรกของปี 2563 ที่หดตัวลงไปถึง -45 เปอร์เซ็นต์ YOY  จากกำลังซื้อที่ปรับลดลงและผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน


     ขณะที่ยอดขายจากต่างชาติต้องหยุดชะงักลงจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ยอดขายที่ปรับลดลงมากยังเป็นผลจากการชะลอการเปิดโครงการใหม่ๆ ออกไป ทั้งนี้จะพบว่าอัตราขายได้ในเดือนแรกของโครงการเปิดใหม่  (Sale Rate) ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของคอนโดมิเนียมและแนวราบ โดยเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อัตราขายได้สำหรับคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 26 เปอร์เซ็นต์ ทาวน์เฮาส์อยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ บ้านเดี่ยวและบ้านแฝดอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดใหม่ทั้งหมดในแต่ละประเภท




 
ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์


     ความท้าทายของการทำธุรกิจที่อยู่อาศัยในวันนี้ ไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์เศรษฐกิจ วิกฤตไวรัส และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่กดดันให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัย ต้องปรับตัวรับมือ คือ พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไป นั่นทำให้ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้





     และนี่คือ 4 ข้อสำคัญที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ยุคนี้ต้องรู้

 
     1.ช่องทางการขายออนไลน์เป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญ


     การแพร่ระบาดของโควิด -19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เทคโนโลยีรวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ามามีบทบาทต่อการซื้อขายที่อยู่อาศัยมากขึ้น ตั้งแต่การเลือกซื้อบ้านผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้บริโภค โดยจะเป็นช่องทางเสริมในการเข้าถึงผู้ซื้อเนื่องจากผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบโครงการต่างๆ ได้พร้อมๆ กันหลายโครงการ โดยไม่ต้องตระเวนไปทุกโครงการให้ยากลำบาก นอกจากนี้ การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างเช่น AR VR รวมถึงการ Live ของผู้ประกอบการยังมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคได้อีกด้วย




 
     2.เน้นความคุ้มค่าเพื่อรับกับกำลังซื้อที่ลดลงและการแข่งขันกับตลาดมือสอง


     ในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ผู้ประกอบการจะต้องเน้น “ความคุ้มค่า” เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อและความสามารถในการซื้อบ้านที่ลดลงของผู้คน อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับความต้องการบ้านมือสองที่คาดว่าจะมีทรัพย์สินที่รอการขาย (Non Performing Asset) เข้ามาในตลาดมากขึ้นจากผลกระทบของโควิด -19 ครั้งี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดหนี้เสียในตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นด้วย




 
     3.ไลฟ์สไตล์ใหม่ส่งผลต่อการเลือกที่อยู่อาศัยยุคนี้


     การเลือกทำเลที่เดิมอาจเป็นปัจจัยหลักในการเลือกที่อยู่อาศัย แต่แนวโน้มผู้บริโภควันนี้จะให้น้ำหนักความสำคัญของพื้นที่ใช้สอยในการพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากผู้คนมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาอยู่ในบ้านมากขึ้น ตลอดจนกระแสการ Work from home ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นภายใต้งบประมาณเดิม ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าคอนโดมิเนียมในเมือง แต่อาจอยู่ทำเลห่างออกไปเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในทำเลใกล้กับโครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นต่าง ๆ จะได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากการขยายโครงข่ายส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ ที่มีความครอบคลุมและครบวงจรจะส่งผลให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นนั่นเอง




 
     4.รูปแบบต้องตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่


     การออกแบบโครงการในอนาคตต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ด้วย ซึ่งส่งผลให้รูปแบบโครงการที่จะตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตต้องปรับเปลี่ยนไป อาทิ การออกแบบที่ตอบโจทย์ Work from home เช่น การออกแบบให้มีพื้นที่โล่งที่ผู้ซื้อสามารถปรับแต่งตามไลฟ์สไตล์และรูปแบบที่ต้องการใช้งานได้มากขึ้น หรือแม้แต่การออกแบบที่เน้นการประหยัดพลังงานเนื่องจากผู้อยู่อาศัยต้องใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น และการพัฒนาโครงการจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขลักษณะที่ดีในการอยู่อาศัยมากขึ้น อย่างเช่น การนำเอาเทคโนโลยีที่ไร้การสัมผัส (Untouch) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ให้มากที่สุด อาทิ การเปิดปิดประตูและลิฟท์ที่ใช้ระบบการสแกนคีย์การ์ดต่าง ๆ 
 
               
     และนี่คือ 4 สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทรับออกแบบบ้าน บริการรับตกแต่งภายใน ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจของตัวเองได้ เพื่อให้ท่ามกลางความยากลำบากของธุรกิจที่อยู่อาศัย แต่เรายังสามารถประคับประคองกิจการให้อยู่ต่อไปได้ โดยเริ่มจากการรู้เท่าทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค  
 

     ที่มา : เรียบเรียงจากบทวิเคราะห์ของ EIC โดยธนาคารไทยพาณิชย์
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน