จับตาสมรภูมิบรรจุภัณฑ์ Last-mile Delivery แข่งเดือด! ในวันที่อี-คอมเมิร์ซโตพุ่ง




Main Idea
 
  • การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับวิถีชีวิต New Normal เป็นปัจจัยให้บริการขนส่งสินค้าแบบ Last-mile Delivery รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งถึงมือผู้บริโภคขยายตัวตามไปด้วย
 
  • อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังคงแข่งขันกันด้วยราคา เพราะส่วนใหญ่ใช้การผลิตอย่างง่ายและไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ง่าย กลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น
 
  • ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้หลากหลาย และตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะมากขึ้น ควบคู่กับการให้บริการแบบครบวงจร
 



     เมื่อผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นับตั้งแต่มาตรการ Physical Distancing เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 จนกลายเป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (New-Normal) นอกจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะยิ้มแก้มปริแล้ว ผู้ให้บริการขนส่งถึงมือผู้บริโภค หรือ Last-mile Delivery และผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ก็ได้ประโยชน์ตามกันไป



 
 
  • มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ Last-mile Delivery ขยายตัวตามตลาดอี-คอมเมิร์ซ
              

    ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในปี 2563 ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ฉุดปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมลงไปด้วย แต่เมื่อเจาะลึกไปในธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งถึงมือผู้บริโภคน่าจะเติบโตได้ดี สอดคล้องไปกับการเติบโตของธุรกิจ Last-mile Delivery ที่คาดว่าปริมาณการขนส่งในปี 2563 จะอยู่ที่ 1,085 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 890 ล้านชิ้น คิดเป็นกว่า 21.9 เปอร์เซ็นต์


     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่ง Last-mile Delivery  ในปี 2563 น่าจะอยู่ที่ 14,400-15,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าที่ 15-18 เปอร์เซ็นต์ ชะลอลงจากที่ขยายตัว 20 เปอร์เซ็นต์ (YoY) ในปี 2562


     โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่มีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับ Last-mile Delivery ในช่วง 3 เดือนนี้ เติบโตจาก Normal Case ที่ 8.8 เปอร์เซ็นต์ และพุ่งขึ้น 38.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน



              

     การขยายตัวของมูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่ง Last-mile Delivery เป็นผลมาจากความถี่ในการสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นตามความสะดวกรวดเร็วในการเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และต้นทุนค่าขนส่งเฉลี่ยที่มีแนวโน้มลดลงเพราะจำนวนผู้ให้บริการขนส่งที่มีมากรายทำให้มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงยิ่งขึ้น
              

     นอกจากนี้ ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งเพิ่มขึ้นตามความหลากหลายของประเภทสินค้าที่ผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากเดิมที่เน้นการซื้อขายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง แต่ปัจจุบันสินค้าที่นิยมมากขึ้นได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อาหารแห้ง อาหารพร้อมปรุง รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ดังนั้น บรรจุภัณฑ์จากกระดาซน่าจะมีส่วนแบ่งสูงที่สุดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่ง เนื่องจากเป็นวัสดุที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ ขนาด และความคงทน เพื่อรองรับสินค้าได้หลากหลายทั้งลักษณะและขนาด



 
 
  • สมรภูมิเดือดด้วยการแข่งขันด้านราคา

     ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งสินค้า Last-mile Delivery กำลังเผชิญท้าทายจากการแข่งขันด้านราคา เพราะผู้ขายส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบรับจ้างผลิต (OEM) มีการผลิตอย่างง่ายและมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ไม่มากนัก นั่นทำให้ผู้เล่นรายใหม่หรือผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้ขายสินค้าออนไลน์จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเหมาะสมตามการใช้งานภายใต้ข้อจำกัดทางด้านต้นทุน เพราะบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ถูกใช้งานเพียงครั้งเดียว


 
 
  • เร่งพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์และบริการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน


     ผู้ประกอบการธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งขั้นสุดท้ายจำเป็นต้องปรับตัวเชิงรุกและหากลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อตอบรับโอกาสทางการตลาดได้หลากหลายรูปแบบ ดังนี้


     1. พัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบ Customization เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าให้เหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด เช่น บรรจุภัณฑ์รักษาอุณหภูมิเพื่อขนส่งอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่ถ่ายเทอากาศได้ดี บรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง หรือบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับไปใช้ใหม่หรือดัดแปลงไปใช้ประโยชน์อื่นๆ
     

     ทั้งนี้ กระบวนการวิจัยและพัฒนาส่วนใหญ่อาจต้องอาศัยเงินลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตเพิ่มเติม ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าผู้ผลิตรายกลางและรายเล็ก





     2. ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ฉลาก และอุปกรณ์ป้องกันสินค้า รวมถึงการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการขนส่งสินค้ากับธุรกิจ Last-mile Delivery ในลักษณะพันธมิตรกับธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจ Last-mile Delivery โดยเฉพาะธุรกิจท้องถิ่นรายย่อยที่อาจยังเข้าถึงการใช้บริการขนส่งผ่านช่องทางออนไลน์ได้ไม่มากนัก และมีอำนาจการต่อรองด้านราคาน้อยกว่า 



 
  • สรุป
 
     แม้แนวโน้มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในภาพรวมปี 2563 จะชะลอตัวเนื่องจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่อาจหดตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ทำให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งถึงมือผู้บริโภค (Last-mile Delivery) น่าจะเติบโตได้ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้


     อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเผชิญการแข่งขันด้านราคาที่เข้มข้น ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวทั้งด้านการพัฒนาคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ และการให้บริการแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

     ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน