ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาส SMEs ตีตลาดสุขภาพ




เรื่อง : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

     จากความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุและผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดสินค้าผักและผลไม้แปรรูปมีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากเป็นสินค้าเกาะกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี

     ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักและผลไม้ที่หลากหลายและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมทั้งมีช่องทางการจำหน่ายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และส่งผลให้ผู้บริโภคเปิดรับผักและผลไม้แปรรูปในฐานะขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดผักและผลไม้แปรรูปที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงนี้ โดยอาศัยความได้เปรียบของไทยที่เป็นแหล่งวัตถุดิบผักและผลไม้หลายชนิดตลอดทั้งปี สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้อย่างหลากหลาย



    เมื่อวิเคราะห์ถึงการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและสภาวะการแข่งขันของในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าที่น่าสนใจและยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาเติมเต็มและต่อยอดธุรกิจได้คือ ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากผักและผลไม้ โดยมีจุดเด่นคือเป็นขนมขบเคี้ยวแบบไทยๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถทานได้ทุกที่ทุกเวลา น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มคนรักสุขภาพได้ดีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

  อีกทั้งเป็นสินค้าที่สามารถพัฒนาได้หลากหลาย มีมูลค่าสูง กรรมวิธีการผลิตหรือเทคโนโลยีที่ใช้สามารถยืดหยุ่นได้ตามความพร้อมด้านเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องพิจารณาสภาวะการแข่งขันในตลาดด้วยเช่นกัน 
 


    สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของผู้ประกอบการ SMEs คือ การใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างของสินค้าให้มีความโดดเด่นจากคู่แข่งและสร้างตราสินค้าของตนเอง การมุ่งผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอและหาวิธีสื่อสารทางการตลาดให้ผู้บริโภครับรู้ถึงจุดเด่นของสินค้า 
    
    อีกทั้ง การยกระดับมาตรฐานการผลิตด้านคุณภาพและความปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งสายการผลิต ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และทำให้มีโอกาสขยายช่องทางการจำหน่าย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจผู้บริโภคในยุคปัจจุบันและมีความหลากหลาย ตลอดจนการสร้างเครือข่ายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่พึ่งพาแหล่งวัตถุดิบและแหล่งกระจายสินค้าน้อยราย และการบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาล 
 

    นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่อาจตระเวนออกบูธตามงานแสดงสินค้า เพื่อทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและหาลูกค้าใหม่ๆ รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายไปในช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ค้าปลีกออนไลน์ (E-Commerce) และช่องทางที่มีศักยภาพอื่นๆ อาทิ ร้านขายของฝากตามแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้าในสถานีบริการน้ำมัน สนามบิน โรงพยาบาล สถานที่ออกกำลังกายหรือฟิสเนต เป็นต้น 


RECCOMMEND: MARKETING

ขายวันละล้าน แต่กำไรศูนย์ บทเรียนธุรกิจแสนแพง จาก PABLO Cheesetart ในไทย

ในโลกของธุรกิจอาหารและขนมหวาน ยอดขายวันละล้านบาทคือความฝันของผู้ประกอบการ แต่ใครจะเชื่อว่าเบื้องหลังตัวเลขมหาศาลนั้นอาจซ่อนความจริงที่ขมขื่น และนี่คือบทเรียนราคาแพงจาก PABLO Cheesetart ที่ เบียร์ ใบหยกไม่มีวันลืม

ทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวให้เป็นธุรกิจเงินล้าน ถอดบทเรียนจาก Go Went Go และ อาสาพาไปหลง

พาคุณเจาะลึกเส้นทางธุรกิจของ Go Went Go และ อาสาพาไปหลง พร้อมถอดบทเรียนที่นำไปใช้ได้จริง และชี้ทางให้คุณเปลี่ยนคอนเทนต์ท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มคนทำธุรกิจบนเฟซบุ๊ก 

Creator Commerce ตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจ 78% ลูกค้าเชื่อรีวิวมากกว่าโฆษณาแบบเดิมๆ

รู้หรือไม่ว่า 78% ของลูกค้าดูรีวิวจากครีเอเตอร์ก่อนซื้อ นั่นแปลว่าครีเอเตอร์นั้นมีพลังมากกว่าโฆษณาแบบเก่า ดังนั้นการตลาดผ่านครีเอเตอร์ หรือ Creator Commerce จึงไม่ใช่แค่กระแส แต่กำลังกลายเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจทุกขนาดในไทย