ธรรมชาติจัดให้! 5 แพ็กเกจจิ้งสุดแปลก ที่ช่วยโลกได้




Main Idea

 
  • ในโลกยุคใหม่ที่ธุรกิจการค้าเติบโตมากยิ่งขึ้น การใช้แพ็กเกจจิ้งเพื่อห่อหุ้มสินค้าก็ย่อมต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา โดยเฉพาะการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่าย
 
  • ต่อไปนี้ คือ 5 ตัวอย่างของบรรจุภัณฑ์สุดแปลก ที่นอกจากจะเก๋ด้วยดีไซน์ แปลกด้วยวัสดุที่ใช้แล้ว ยังเป็นบรรจุภัณฑ์ทดแทนที่สามารถช่วยโลกใบนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว
 


 
               
     เพราะทุกวันนี้มีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจค้าปลีก แบรนด์สินค้าหน้าใหม่ ทว่าสิ่งที่ตามมา คือ การใช้แพ็กเกจจิ้งในการห่อหุ้มสินค้าก่อนที่จะส่งถึงมือลูกค้าและแพ็กเกจจิ้งที่ต้นทุนต่ำที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘พลาสติก’ ที่ซื้อง่าย ขายคล่อง แต่เวลาผ่านไปพลาสติกกลับกลายเป็นปัญหาหลักของโลกใบนี้ เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ กอปรกับมนุษย์เองที่ยังขาดวินัยในการใช้อย่างพอดีและทิ้งให้ถูกต้อง จึงทำให้พลาสติกกลายเป็นขยะล้นโลก


     ดังนั้นแล้วการทำธุรกิจในยุคนี้จึงต้องใส่ใจการเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งให้มากขึ้น ใครที่สามารถนำเสนอแพ็กเกจจิ้งได้เก๋ แปลก และรักษ์โลกได้กว่าก็จะดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าเช่นเดียวกัน และนี่คือตัวอย่างไอเดียของแพ็กเกจจิ้งสุดแปลกที่สามารถช่วยโลกได้แบบที่คุณคิดไม่ถึงเลยทีเดียว!
 


 
  • กรวยใส่เฟรนช์ฟรายส์จากเปลือกมันฝรั่ง
               
     ไอเดียนี้มาจากนักออกแบบชาวอิตาลีผู้มองเห็นปัญหาจากกระบวนการผลิตเฟรนช์ฟรายส์หรือมันฝรั่งแท่งทอด ว่าในการผลิตแต่ละครั้ง มักมีเปลือกมันฝรั่งถูกทิ้งจำนวนมาก แถมยังมิได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร ด้วยเหตุนี้เขาจึงปิ๊งไอเดียนำเปลือกมันฝรั่งดังกล่าวมาทำเป็นกรวยใส่เฟรนช์ฟรายส์ เพื่อใช้เสิร์ฟให้กับลูกค้า ด้วยแนวคิด “จากต้นกำเนิดกลับคืนสู่ธรรมชาติ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ นำเปลือกมันฝรั่งกลับไปทำหน้าที่เดิมของมัน คือ การหุ้มห่อเนื้อมันฝรั่งไว้เช่นเดิมนั่นเอง
               

     วิธีการทำก็คือ นำเปลือกมันฝรั่งมาแช่น้ำให้เปื่อย ตากให้แห้ง จากนั้นนำไปขึ้นรูปในแม่พิมพ์ทรงกลม จนได้เป็นเปลือกมันฝรั่งแผ่นบางๆ แล้วจึงนำมาม้วนให้เป็นกรวยเหมือนโคนไอศกรีม แถมตั้งชื่อเก๋ๆ ว่า “Peel Saver” ด้วย เรียกว่านอกจากเป็นการเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ง่ายแล้ว ยังช่วยเพิ่มสีสันในการบริโภคได้อีกด้วย
 



 
  • ถุงใส่เนื้อจากผิวหนังสัตว์
               
   นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาเช่นกัน สำหรับถุงพลาสติกหรือแพ็กเกจจิ้งสำหรับใส่ของสดหรือเนื้อสัตว์โดยเฉพาะที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะหากไม่ใส่ก็ต้องให้ลูกค้าถือไปแบบเลอะเทอะเปรอะเปื้อน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ถุงพลาสติกจำนวนมากแบบครั้งเดียวทิ้ง ด้วยเหตุนี้สตูดิโอออกแบบแห่งหนึ่งของไอซ์แลนด์ จึงได้สร้างบรรจุภัณฑ์เนื้อพลาสติกชีวภาพที่ทำจากผิวหนังของสัตว์ โดยเรียกว่า “Bioplastic Skin” ซึ่งมีคุณสมบัติโปร่งใสและพื้นผิวคล้ายกับถุงพลาสติก วิธีการทำ คือ นำหนังสัตว์มาต้มในน้ำ เพื่อให้ได้คอลลาเจนและเจลาตินออกมา ซึ่งมีลักษณะใสและเหนียว จากนั้นจึงนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นถุงพลาสติกชีวภาพขึ้นมา เพื่อนำไปใช้ใส่เนื้อสัตว์ ดูแล้วเป็นอีกแนวคิดที่ดี แต่ถ้าพูดถึงที่มาว่าผลิตจากผิวหนังสัตว์ อาจทำให้หลายคนเบือนหน้าหนี แต่เชื่อเถอะว่าเป็นอีกแพ็กเกจจิ้งที่ช่วยโลกได้จริงๆ
 


 
  • บรรจุภัณฑ์จากแบคทีเรียและยีสต์

     นักออกแบบชาวอิตาลีได้ทดลองนำเศษอาหารมาหมักกับแบคทีเรียและยีสต์ เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ทดแทนการใช้พลาสติกขึ้นมา วิธีการ คือ สโคบี้ (SCOBY) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ในแบคทีเรียและยีสต์ จะทำปฏิกิริยากับน้ำตาลฟรุกโทส (Fructose) และวิตามินที่มีอยู่ตามธรรมชาติในเศษอาหารจากผักและผลไม้ ทำให้ช่วยเพิ่มจำนวนชั้นของเซลลูโลสขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์ประกอบเดียวกันกับที่ใช้สร้างผนังเซลล์พืช เพื่อช่วยให้ลำต้นแข็งแรง


     จนในที่สุดได้เป็นวัสดุที่มีลักษณะคล้ายเจลาติน ซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะกลายเป็นแผ่นโปร่งแสง มีคุณสมบัติคล้ายกับพลาสติก โดยความหนาของแต่ละชิ้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาของส่วนผสมที่ใช้ไป โดยนอกจากจะใช้พลังงานและทรัพยากรน้อยลงแล้ว บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวยังสามารถย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุและกลายเป็นปุ๋ยแก่ดินในที่สุดได้ด้วย สำหรับการใช้งานนั้นสามารถกันน้ำได้เล็กน้อย จึงเหมาะสำหรับใช้ใส่อาหารแห้งหรือบรรจุภัณฑ์อาหารระยะสั้น แต่ถ้าอยากให้ทนน้ำได้มากขึ้น ต้องนำมาเคลือบด้วยขี้ผึ้งเพิ่ม
 


 
  • พลาสติกจากเปลือกกุ้ง
               
     เคยลองสังเกตไหมเปลือกกุ้งที่แกะออกมาแล้วทิ้ง จริงๆ แล้วมีลักษณะไม่ต่างจากพลาสติกเลย และแน่ละมันสามารถนำมาทำเป็นพลาสติกชีวภาพได้จริงๆ เมื่อนักออกแบบ 4 คนจากสถาบัน Royal College of Art และ Imperial College ได้คิดเครื่องมือการเปลี่ยนเปลือกกุ้งกองโตบนจานให้กลายเป็นพลาสติกแบบ Single – use โดยเจ้าพลาสติกชีวภาพดังกล่าวนั้น ผลิตขึ้นจากการนำน้ำส้มสายชูบวกกับโพลิเมอร์ชีวภาพที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างไคติน ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในเปลือกสัตว์ทะเลอย่างกุ้งหรือปู และนำมาผ่านกระบวนการด้วยเครื่องจักรต่างๆ ตั้งแต่การแยกสารไคตินออกจากเปลือกกุ้ง ให้เป็นวัสดุโพลิเมอร์ ไปจนถึงรีดออกมาเป็นแผ่นบางๆ เพื่อขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์รูปทรงต่างๆ โดยสามารถนำไปผลิตเป็นถุงใส่อาหาร ซองบรรจุยา กระถางต้นไม้ และอื่นๆ ได้อีกมากมาย

 

 
  • ขวดที่กลายร่างเป็นสบู่เมื่อใช้หมด
               

     ความคิดนี้เป็นของ ‘Mi Zhou’ นักศึกษาปริญญาตรี แห่ง Central Saint Martins กรุงลอนดอน ด้วยการคิดค้นขวดเครื่องแป้งที่ชื่อว่า ‘Soapack’ ซึ่งหล่อขึ้นมาจากสบู่ โดยเขาคิดขึ้นว่าขวดหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ นั้น โดยส่วนใหญ่เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ด้านในจนหมดแล้ว โดยมากก็มักไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร อย่างดีก็นำกลับมารีไซเคิลหรือนำไปใช้ใส่สิ่งของ


     ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ไม่ต้องการเป็นขยะให้กับโลกและสิ้นเปลืองงบการจัดเก็บ เขาจึงคิดว่าน่าจะเป็นการดี หากขวดหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วนั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลยทันที จึงนึกไปถึงสบู่ซึ่งสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นขวดรูปแบบต่างๆ ได้ โดยเขาได้ไอเดียมาจากบรรจุภัณฑ์กินได้นั่นเอง จึงได้นำไอเดียมาดัดแปลงใช้กับบรรจุภัณฑ์ใส่แชมพูและสบู่ได้บ้าง โดยเขาไม่ได้คำนึงถึงแค่ประโยชน์การใช้งานเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบรูปทรง สีสัน และขวดที่สวยงามด้วย ซึ่งหากใครอยากเก็บเป็นของประดับตกแต่ง ก็เพียงแค่ไม่วางให้โดนน้ำเท่านั้น แต่สุดท้ายไม่ว่ายังไง มันก็สามารถย่อยสลายได้อย่างเกิดประโยชน์ และไม่เหลือขยะทิ้งไว้ให้กับโลกเช่นเดิม
 
               
     เป็นอีกหนึ่งของขวัญจากธรรมชาติ ที่จัดสรรให้ธรรมชาติด้วยกันเอง ซึ่ง SME คนไหนที่สนใจ ก็สามารถไปศึกษาดูได้
 
 
     สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งเมลมาแบ่งปันกับพวกเราได้ที่ sme_thailand@yahoo.com  โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน
 

ที่มา : www.dezeen.com

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน