หลงใหลในธรรมชาติไปกับ PAPACRAFT เครื่องประดับของนักแปล

Text & Photo : พิมพ์ใจ พิมพิลา




Main Idea
 
  • แบรนด์ Papacraft คือ การนำเอาเครื่องหนังมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับแบบงานคราฟต์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากใบไม้ ดอกไม้ที่อยู่รอบตัว อันแสดงถึงความงดงาม อ่อนช้อย และเร่าร้อนไปกับลีลาการบิดงอของงานแต่ละชิ้น ถือว่าเป็นแฟชั่นที่ฉีกออกจากรูปแบบเดิม และไม่เหมือนใครอย่างแน่นอน 
 
  • โดยศิลปะเหล่านั้นมาจากเจ้าของผลงานผู้ทำอาชีพนักแปลมากว่า 20 ปีที่คลุกคลีกับการสร้างเครื่องหนังเป็นงานอดิเรก โดยเขาเชื่อว่าผลงานทุกชิ้นที่ออกมา ล้วนมาจากความรู้สึกที่อยู่ข้างในตัวตน จนกลายเป็น “บุปผากำลัย” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ



     การผลิตงานคราฟต์เป็นการสร้างสรรค์งานที่ไม่ต่างจากการทำงานศิลปะ เพราะฉะนั้นวิธีคิด วิธีถ่ายทอด และกระบวนการทำงาน จึงเริ่มต้นด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่อยู่ภายในตัวตนของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ความชื่นชม หลงใหลในสิ่งที่เย้ายวนจากบางสิ่งบางอย่าง จนต้องการถ่ายทอดออกมาอย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบงานหัตถกรรมทำมือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหลใคร่ชม จนอยากดอมดมชวนชมให้สมหวัง
 
 



     จากนักแปลมืออาชีพ สู่เจ้าของแบรนด์ PAPACRAFT
 

     เครื่องประดับจากเครื่องหนังของ ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล หรือ “ช้าง” เจ้าของแบรนด์ PAPACRAFT ผู้ถ่ายทอดความรู้สึกจากข้างในตัวตนผ่านงานคราฟต์ โดยเขาเล่าว่าแต่เดิมตนเองทำอาชีพหลัก คือ นักแปลที่ทำเครื่องหนังเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว
 

     “ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานคราฟต์เป็นงานอดิเรกให้ลูกกับภรรยาใช้อย่าง กระเป๋า เข็มขัด สมุดไดอารี่จากเศษหนังควบคู่กับการแปลหนังสือไปด้วย จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คิดว่าอยากจะเปลี่ยนจากแปลหนังสือมาแปลทักษะด้านงานคราฟต์แทน ด้วยการทำให้เครื่องหนังให้มีความครีเอทหรือสร้างสรรค์มากขึ้น รวมถึงทำให้เครื่องหนังมีความแตกต่างจากงานชิ้นอื่น ซึ่งสุดท้ายก็ตกผลึกมาเป็นชิ้นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติรอบตัว จากใบไม้แห้งที่ตกลงเกลื่อนพื้น มีรูปร่างที่บิดงออันแสดงถึงลีลาของตัวมันเอง”


     ซึ่งหลังจากนั้นเขาจึงลองค้นหาวิธีว่าจะทำยังไงให้สามารถสร้างงานขึ้นมาให้ได้ความรู้สึกคล้ายกับสิ่งที่ตนเองเห็นและได้สัมผัส เราจึงได้ถามเขาว่าทำไมจึงเลือกธรรมชาติมาเป็นแรงบันดาลใจของงานแต่ละชิ้น แต่ประสิทธิ์กลับตอบว่าตัวเขานั้นไม่ได้เลือกธรรมชาติ แต่ธรรมชาติที่อยู่ในตัวนั้นต่างหากที่ออกมาเอง ซึ่งเขาได้ตั้งคำถามพร้อมกับอธิบายกับเราว่า





     “การทำงานศิลปะ มันคือ การทำในสิ่งที่เรากำลังรู้สึกหรือเป็นสิ่งที่เราชอบ เพราะถ้าเราไม่ชอบ เราก็ไม่อยากถ่ายทอดใช่ไหม? ตัวผมเองที่ชอบมองภูเขา ชอบมองเมฆ ชอบมองท้องฟ้า ผมก็คงไม่นั่งวาดทะเลหรือแสงสีในกรุงเทพ  เพราะฉะนั้นเวลาที่ผมทำงาน ผมก็จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบด้วยลายเส้นของตัวเอง เพราะฉะนั้นทั้งหมดจึงเกิดมาจากแรงบันดาลใจที่ออกมาจากภายใน


     ดังนั้นประสิทธิ์จึงไม่อยากให้งานตนเองเป็นแค่สินค้า แต่อยากให้มองว่าเป็นงานศิลปะ เขาถึงบัญญัติงานตัวเองว่าเป็น “บุปผากำลัย” เพราะเป็นเหมือน “สื่อรัก” เมื่อเรารักใครเราก็อยากจะมอบบุพผาหรือดอกไม้ให้กับคนๆ นั้น
 
 



     เลือกวัตถุดิบ สร้างสรรค์การผลิต สูู่ผลงานที่แตกต่าง
 

      ประสิทธิ์เล่าว่าวัตถุดิบหลักของเขา คือ หนังฟอกฝาด (Vegetable Tanned Leather) เพราะเป็นวัสดุที่มีการใช้งานมานานมากและเป็นหนังที่เห็นได้ทั่วไป อีกทั้งการเลือกใช้หนังฟอกฝาดดิบที่ยังไม่ได้ผ่านการฟอกสีจะทำให้เขานำมาใช้งานได้ง่ายและนำมาสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเองได้ โดยเขาจะนำมาเล่นสีและสร้างพื้นผิวเอง ซึ่งตรงนี้จะสร้างจุดเด่นให้กับ PAPACRAFT นั่นเอง นอกจากเครื่องหนังแล้วยังมีการนำลวดมาทำให้เครื่องหนังมีชีวิตขึ้นมา โดยนำลวดทองเหลืองมาสานกับเครื่องหนังด้วย


     “การสานลวดของเราบนผืนหนัง จะทำให้ความรู้สึกคล้ายพื้นผิวของเครื่องจักสานของไทยเรา และด้วยเทคนิคเฉพาะของเรา ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีเทคนิคเฉพาะของตนเอง จึงทำให้เกิดเป็นจุดเด่นของเรา เพราะเราทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน งานหนังเป็นสิ่งเกิดขึ้นใหม่สำหรับงานคราฟต์ เป็นการรวมระหว่างเครื่องหนังและงานหัตถกรรมเข้าด้วยกัน เรียกว่าศิลปหัตกรรมเครื่องหนังก็ได้ ซึ่งไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน โดยเราเริ่มมาตั้งแต่คอลเลกชันของใบไม้ที่ใส่ลวดเข้าไปข้างใน เพื่อดัดขึ้นรูปให้เกิดความพลิ้วไหวแบบธรรมชาติ การสร้างลวดลายต่างๆ ที่ใส่ลงบนผืนหนัง หรือการปักแบบใหม่ที่เราคิดค้นขึ้น ไปจนถึงวิธีการเอาลวดทองเหลืองมาร้อยหรือสานเข้าไปหนัง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลกนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่นักท่องเที่ยวหรือลูกค้ามาเห็นเขาก็จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจเพราะบ้านเขาไม่มี”

               



     นอกจากนั้นเขายังมีวิธีการในการผลิตที่ต่างจากแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปักที่เขาสร้างขึ้นมาเอง การสานเครื่องหนังและลวดทองเหลืองให้เกิดความรู้สึกคล้ายกับเครื่องจักสานของไทย หรือการนำลวดมาสร้างให้เครื่องหนังมีความพลิ้วไหวคล้ายกับกลีบของดอกไม้ ใบไม้ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งประสิทธิพยายามสร้างและพัฒนาผลิตของตนเองให้สร้างสรรค์และใส่ความครีเอทเข้าไปในทุกชิ้นงาน เพื่อให้ลูกค้าได้รู้สึกและได้รับรู้ถึงความงามของความเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับตนเอง ซึ่งเขาเชื่อว่ากระบวนการในทุกขั้นตอนล้วนเกิดขึ้นมาใหม่และไม่เคยมีใครทำมาก่อน
 




     คอลเลกชันความงามจากธรรมชาติที่ส่งออกไกลถึงเกาหลี
 
           
     ประสิทธิ์เล่าว่าคอลเลกชันแรกนั้นเริ่มจากสร้างเป็นรูปใบไม้ เป็นรูปใบหัวใจหรือว่าเป็นรูปทรงแบบดั้งเดิมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฝักเพกาที่เมื่อฝักนั้นดีดเมล็ดออกแล้วจะเกิดการม้วนและได้นำมาทำทั้งต่างหู กำไล สร้อยคอ ซึ่งต่อมาก็มาเป็น Woven Brass คือการนำลวดทองเหลืองมาตีให้แบนแล้วนำมาสานกับเครื่องหนัง แต่ว่าในกระบวนการผลิตนั้นยังทำได้แค่กำไลและต่างหูเพียงเท่านั้น โดยเขาได้แนะนำคอลเลกชันล่าสุดว่า
               

     “3 คอลเลกชันล่าสุด คือ Bromy Collection ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากใบสัปปะรดสี ซึ่งเป็นไม้ที่สื่อถึงความอบอุ่นละมุนละไมเหมือนแสงแดดอุ่นยามเช้าที่เรามุ่งหวังให้คนที่รักได้พบพาน ต่อมา คือ Ginko Collection ซึ่งชัดเจนว่าได้มาจากใบแปะก๊วย ที่มีรูปทรงเหมือนพัด โบกนำความเย็นชื่นใจมาให้ แถมยังดีต่อใจของผู้สวมและตรึงสายตาผู้พบเห็น และสุดท้าย คือ Baya Collection ที่มาจากใบบีโกเนีย ที่มีดวงดอกน้อยๆ สีชมพูพริ้วไหวยามลมโชย ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในคอนเซปต์ MAMA GARDEN บทบันดาลใจจากสวนสวยของแม่ ซึ่งเป็นคอลเลกชันล่าสุดที่ลูกชายเป็นคนออกแบบ”
               




     และนอกจากนั้นยังมีคอลเลกชันอื่นๆ ที่น่าสนใจและแปลกใหม่อย่าง Blossom Collection, Morning Glory Collection ที่สวยสดงดงามและน่าค้นหาในเรื่องของความเป็นมาและแรงบันดาลใจที่กว่าจะได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่งผลให้แบรนด์ PAPACRAFT ถูกทาบทามให้ส่งออกไกลในหลายประทศอีกด้วย
               

     “เราออกงานใหญ่ๆ มาหลายครั้ง แต่การส่งออกก็ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากงานของเราเป็นสินค้าที่ราคากลางๆ แต่ตลาดทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมเพราะลูกค้ามักจะต้องการสินค้าราคาเบาๆ ไปขาย แต่ของเรามีหลายคนมาติดต่อแล้วก็เงียบไป แต่ล่าสุดก็มีลูกค้าที่มีร้านอยู่ออสเตรเลียรับของเราไป แล้วก็ทางยุโรปก็มีการติดต่อกันอยู่แต่ยังไม่ลงตัว และล่าสุดที่เราต้องไปร่วมพูดคุยกับทางเกาหลี ก็มีร้านขายงานคราฟต์ของเกาหลีติดต่อให้เรานำสินค้าไปขึ้นอยู่บนหน้าร้านออนไลน์ที่ชื่อว่า www.idus.com”


     ซึ่งในเรื่องการส่งออกเขามองว่าสินค้าตนเองนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพียงเท่านั้น แต่เขาก็มั่นใจว่าถ้าตนเองนำสินค้าไปขาย ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ขายด้วยตัวเองหรือการฝากขาย ยอดรวมของเขาน่าจะดีและยังสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ในภาวะเศรษฐกิจฝืดที่เป็นอยู่ได้





     ถึงแม้ว่าแบรนด์ของประสิทธิ์จะเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ความตั้งใจล้วนเต็มเปี่ยม ตั้งแต่กระบวนการออกแบบและการผลิตที่จะต้องผ่านการคิดเป็นอย่างดี นั่นแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ PAPACRAFT นั้นมีการพัฒนาและสร้างสรรค์ให้เกิดความแตกต่างจากเครื่องประดับเดิมๆ ตลอดเวลา แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทไหนก็ตามต้องทำให้ได้ เพื่อทำให้สินค้าของเราได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลให้ธุรกิจนั้นเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
               
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน