SME ต้องจับตา คนโสดมากขึ้น ธุรกิจอาหารแบบไหน ขายดีสุด!





Main Idea
 
  • ในยุคที่คนโสดมากขึ้น ธุรกิจอาหารแบบไหน ขายดีสุด และเป็นที่นิยมของคนกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นต้องมี Food Delivery รวมอยู่ด้วยแน่นอน
 
  • ทำไมพฤติกรรมคนโสด ถึงส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ Food Delivery ได้ และส่งผลอย่างไร ลองไปติดตามหาคำตอบกัน



               
     เท่าที่ลองสังเกตดู หนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองและดูเหมือนจะไปได้ดีในยุคนี้ โดยเฉพาะในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ก็คือ ธุรกิจ Food Delivery เหตุผลอาจมาจากปัจจัยมากมายร้อยแปดในการดำเนินชีวิต เช่น รถติด ชีวิตเร่งรีบ ต้องแข่งขันกับเวลา หรือทำงานหนัก ไม่มีเวลาออกไปซื้อเอง จนเมื่อมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ชีวิตให้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกที่บริการรับ – ส่งอาหารจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่รู้ไหมอีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นได้เป็นผลมาจากการที่คนอยู่เป็นโสดมากขึ้นด้วย!
               




     จากรายงานของ GET หนึ่งในแอปพลิเคชันสั่งอาหารของคนกรุงเทพฯ และบริการจัดส่งด้านต่างๆ ได้เปิดเผยว่าหลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ไม่ถึงปีดีนักมีผู้บริโภคคนเมืองหันมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงทุกวันนี้มีการใช้บริการไปแล้วกว่า 10 ล้านทริป (GET Win, GET Delivery, GET Food) ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่ คือ กลุ่มมิลเลนเนียลระหว่าง GEN Z และ GEN Y ที่อยู่ในช่วงอายุ 23-38 ปี และเป็นคนกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับช่วงการพัฒนาทางเทคโนโลยีสมัยใหม่
               




     โดยเฉพาะในส่วนการให้บริการของฟู้ด เดลิเวอรี ทาง GET ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบันพบว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไป มีคนอยู่เป็นโสดและครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยคิดเป็นอยู่คนเดียว 34 เปอร์เซ็นต์ ,จดทะเบียนสมรส แต่ไม่มีบุตร อยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว 16 เปอร์เซ็นต์ และมีพฤติกรรมการอยู่อาศัยในคอนโดมีเนียมหรืออพาร์ตเมนต์เป็นครอบครัวขนาดเล็กขยายเพิ่มสูงขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์





     วงศ์ทิพพา วิเศษเกษม
ผู้อำนวยการฝ่ายแพลตฟอร์มโอเปอเรชั่น GET กล่าวว่าเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการสั่งอาหารผ่านทาง GET โดยพบว่าใน 1 ออเดอร์ที่ทาง GET ได้รับจะมีการสั่งแค่ 1 - 2 เมนูสูงถึง 67 เปอร์เซนต์ด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มมีการสั่งอาหารในปริมาณที่เล็กลง แต่สั่งบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนโสดเพิ่มมากขึ้นและครอบครัวเดี่ยวมีจำนวนมากขึ้นนั่นเอง โดยพบว่าผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงชอบสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากกว่าผู้ชาย ในขณะที่มื้ออาหารที่คนนิยมสั่งมากที่สุด คือ มื้อเย็น รองลงมา คือ มื้อกลางวัน และมื้อเช้าในที่สุด
               




     นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า นอกอาหารมื้อหลักแล้ว คนกรุงเทพฯ ยังมีพฤติกรรมการสั่งอาหารตลอดทั้งวัน โดยมีการสั่งอาหารว่างทั้งมื้อเช้า มื้อบ่าย และมื้อดึก คิดเป็นยอดประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของยอดสั่งตลอดวันด้วย ได้แก่ขนมปังไส้ต่างๆ และของกินเล่นอื่นๆ โดยพบว่ามียอดขายกว่า 190,000 ชิ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และสำหรับเมนูยอดฮิตที่ยังแรงไม่ตกมีการสั่งเข้ามามากที่สุด คือ ชานมไข่มุก โดยพบว่ามีการสั่งเข้ามากว่า 3 แสนแก้วต่อเดือนทีเดียว





     ในส่วนของมูลค่าภาพรวมธุรกิจอาหารในเมืองไทย จากข้อมูลที่ได้ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่ามีมูลค่ารวมของตลาดเติบโตขึ้นไปถึง 35,000 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 14 เปอร์เซ็นต์ โดยมีส่วนแบ่งเป็นร้านอาหาร 25,740 พันล้านบาท, ธุรกิจเดลิเวอรี 3,903 พันล้านบาทหรือคิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ และผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต่างๆ 3,357 พันล้านบาท
 


www.smethialandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน