5 เรื่องจริงปวดใจของผู้ค้าออนไลน์กับวิธีแก้ไขให้ธุรกิจโตได้ไม่สะดุด




Main Idea
 
  • ประเทศไทยก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มตัว ซึ่งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
 
  • แม้จะมีโอกาสในตลาดออนไลน์สูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย คือ ลูกค้า เพราะความต้องการของผู้บริโภคบนออนไลน์จะค่อนข้างแตกต่างจากการซื้อของหน้าร้าน
 
  • ความท้าทายของผู้ประกอบการออนไลน์เกิดขึ้นใน 3 แง่มุม คือ รายได้ รายจ่าย และเงินทุน โดยแบ่งออกเป็น 5 ปัญหาหลัก ที่หากก้าวผ่านไปได้ก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน



      ประเทศไทยได้ก้าวสู่โลกดิจิทัลเต็มตัว เพราะประชากรไทยวัยทำงานมีประมาณ 30-40 ล้านคน ปัจจุบันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และกิจกรรมที่ตามมาคือ การซื้อของออนไลน์ ทำให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี พบว่า ปี 2561 มูลค่าซื้อของผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซพุ่งไปถึงประมาณ 6 แสนล้านบาท และปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณเกือบ 7 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยที่ค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์
               

      จำนวนผู้ประกอบการในตลาด จำนวน SME ในประเทศมีประมาณ 3 ล้านราย มีประมาณ 5 แสนรายที่ทำธุรกิจบนออนไลน์ โดยแบ่งเป็น กว่า 2 แสนรายที่ขายบนอี-มาร์เกตเพลซแพลตฟอร์ม (LAZADA, Shopee, JD.com) และจำนวนมากกว่านั้นคือ 3 แสนรายอยู่บนโซเชียลคอมเมิร์ซ (Facebook, LINE, Instagram)
               




      พร้อมพงษ์ พัฒนธีระเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์ และ Portfolio ธุรกิจเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี ชี้ให้เราเห็นว่าในตอนนี้โอกาสในตลาดออนไลน์มีสูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย คือ ลูกค้า เพราะความต้องการของผู้บริโภคบนออนไลน์จะค่อนข้างแตกต่างจากการซื้อของหน้าร้าน ลูกค้ามีความอดทนจำกัด ถ้าชอบหรือไม่ก็ให้ฟีดแบ็กทันที ซึ่งส่งผลต่อการค้าขายในอนาคต เพราะการตัดสินใจซื้อของในร้านค้าสักร้านมักจะดูฟีดแบ็กและเรตติ้งที่ร้านค้าได้รับเป็นสำคัญ นี่ก็คืออุปสรรคและความท้าทายของผู้ประกอบการออนไลน์ในปัจจุบัน
               

      มาดูกันว่า 5 เรื่องความท้าทายของร้านค้าอี-คอมเมิร์ซมีอะไรบ้าง โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลักๆ  คือ
               

      รายได้ SME มักตั้งคำถามว่าในปีหน้าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ปีต่อๆ ไปมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
               

      ค่าใช้จ่าย SME ที่เริ่มสร้างธุรกิจมาระดับหนึ่ง นอกจากเรื่องรายได้เขาจะนึกถึงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้สิ่งที่จ่ายไปทุกบาทได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
               

      เงินลงทุน เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับ SME ที่จะโตต่อ เมื่อเห็นโอกาสแล้ว รู้ว่าค่าใช้จ่ายเท่าไร แต่จะเอาเงินทุนมาจากไหนเพื่อจะโตเพื่อรองรับในอนาคต
               
               



     เมื่อลงลึกถึงแต่ละแง่มุม เริ่มจากเรื่อง รายได้ SME มักประสบปัญหาเรื่องของรายได้ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง มี  2 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ


      1.สินค้าไม่มีจุดต่าง จากผลการสำรวจพบว่า ร้านค้าออนไลน์ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหา สินค้าไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง หลายๆ ร้านมักขายของเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ ซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์เดียวกันกับร้านอื่น อีกสาเหตุหนึ่ง คือ บางรายที่เริ่มทำธุรกิจมานานสามารถจับเทรนด์และความต้องการของลูกค้าได้ แต่ไม่สามารถสั่งผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการตลาดจริงๆ ได้ เพราะว่าเขาตัวเล็กเกินไป การจ้างโรงงานผลิตสินค้าเฉพาะเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว เกินความสามารถ หรือไม่สามารถตั้งโรงงานเองเพื่อผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการแท้จริงได้




   

      แนวทางแก้ไข แบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ


      ใช้การตลาดสร้างความแตกต่างให้สินค้า อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง หรือวิธีการสื่อสารกับลูกค้า


       เจาะตลาดใหม่ๆ ในบางตลาด อาจพบว่ามีหลายผู้ประกอบการที่นำเสนอสินค้าที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้ามองกลุ่มลูกค้าใหม่ สินค้าที่เคยซ้ำหรือใกล้เคียงกับคนอื่นอาจเป็นของใหม่สำหรับตลาดอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ ทำให้เราสามารถเพิ่มยอดขายได้ แต่ต้องอาศัยการทำการบ้านว่าตลาดนั้นอยู่ที่ไหนและจะหาตลาดนั้นได้อย่างไร


      คิดและผลิตสินค้าที่ใช่และไม่มีใครเหมือน วิธีนี้ใช้เวลาและทรัพยากรค่อนข้างมากแต่เป็นเรื่องที่ควรทำ จากการทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง แล้วหลังจากนั้นก็ปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น สินค้านั้นก็จะแตกต่างจากคู่แข่ง


       2.ยิงโฆษณาไป แต่ยอดขายไม่ปัง โดยเฉลี่ยร้านค้าออนไลน์จะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อยิงโฆษณาประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน สำหรับหลายแพลตฟอร์ม สิ่งที่ตามมาก็คือ 23 เปอร์เซ็นต์ ยังรู้สึกว่าผลลัพธ์ไม่เป็นที่พอใจ ยอดขายไม่เพิ่มขึ้นตามที่คาดหวัง หรือไม่ได้ลูกค้าใหม่มากเท่าที่ควร จึงรู้สึกว่าใช้เงินไปไม่คุ้มค่า


      แนวทางแก้ไข ต้องยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การที่จะทำอะไรสักอย่างตั้งต้นจากการถามตัวเองก่อนว่าผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่จะนำเสนอ ใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย ยิ่งสามารถระบุได้ละเอียดเท่าไรยิ่งดีเพื่อให้เห็นภาพของกลุ่มลูกค้าชัดขึ้น ถ้าเราเข้าใจไลฟ์สไตล์ พฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคสื่อก็จะยิ่งทำให้การโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น และการยิงโฆษณาไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนทำเป็นมาตั้งแต่แรก เป็นเรื่องที่ใช้เทคนิคระดับหนึ่ง ต้องเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เพิ่มเติม


      อีกเรื่องหนึ่งที่คนมักมองข้ามคือ คอนเทนต์ ถึงแม้ทุกคนต้องการจะสื่อสารสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าจะพูดกับคน 2 กลุ่ม เช่น กลุ่มมิลเลนเนียล กับกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ วิธีการสื่อสารก็ไม่เหมือนกัน รูปแบบหน้าตาของสื่อก็ไม่ควรเหมือนกันด้วย ต้องสื่อให้ตรงใจลูกค้าแต่ละกลุ่ม


      นำมาซึ่งเทคนิคในการยิงแอด กำหนดได้ว่าจะให้ใครเห็นบ้าง เพศไหน อายุเท่าไร ความสนใจแบบไหน หรือว่าเวลาใด การกำหนดรายละเอียดผลลัพธ์ต่างกับไม่ระบุเป้าหมายเลยประมาณ 50 เท่า เช่น หากระบุลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย แล้วใช้เงินยิงโฆษณาประมาณ 1,500 บาทอาจจะได้ยอดขายถึง 100,000 บาท แต่ถ้าหากไม่ระบุเลย อาจขายได้เพียง 2,000 บาทเท่านั้น





      ต่อไป คือ ความท้าทายในแง่มุมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ จะบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด


       3.การบริหารจัดการสต็อก ซึ่งเป็น 1 ในค่าใช้จ่ายหลักของการทำธุรกิจออนไลน์ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของร้านค้าออนไลน์มีหน้าร้านออฟไลน์ด้วย หรือแม้แต่ขายบนออนไลน์ก็มีหลายช่องทาง สิ่งที่เขากำลังเผชิญคือการเก็บสต็อกซับซ้อน จากการสำรวจพบว่า 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการออนไลน์เคยพบปัญหาการบริหารจัดการสต็อกขาด เกิน หรือไม่ลงตัว ซึ่งหากเก็บสต็อกไว้ไม่เพียงพอก็จะทำให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ไม่ดี จนแสดงความคิดเห็นในทางลบกับแบรนด์และเสียเรตติ้งได้ แย่ไปกว่านั้นเมื่อเจ้าของตลาดออนไลน์ก็จะเก็บค่าปรับ นั่นคือผลเสียในกรณีเก็บสต็อกไม่พอ หรือเมื่อเก็บสต็อกไว้มากเกินไป ก็พบกับปัญหาต้นทุนจม โกดังที่เตรียมไว้ก็ไม่พอ เสียพื้นที่ไปโดยใช่เหตุ

      นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อค้าขายในหลายช่องทาง ผู้ประกอบการมักเก็บสต็อกเป็นสต็อกเดียวกัน หากขายหน้าร้านได้แล้วไม่อัพเดตสต็อกบนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบเรียลไทม์ ทำให้เมื่อลูกค้าสั่งของบนออนไลน์อาจไม่มีส่งให้ลูกค้าก็ได้


       อีกเรื่องคือ การขาดระบบบริหารจัดการที่ดี โดยจดใส่กระดาษ หรือแม้จะใช้เครื่องมือ เช่น Excel แต่ก็ไม่มีการอัพเดตสต็อกแบบเรียลไทม์อยู่ดี ก็ทำให้เกิดปัญหาที่ว่ามาข้างต้นได้


       แนวทางแก้ไข มี 2 วิธี คือ 1.ปรับปรุงระบบปฏิบัติงาน โดยจัดการสต็อกให้เป็นระบบ จะมีหลักการที่เรียกว่า Visual Control คือวางสต็อกให้มองเห็นได้ง่าย ใช้ Color Code เข้าช่วย 2.ใช้แอปพลิเคชันเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหลายช่องทางทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น การบริหารสต็อกก็จะมีความสับสนน้อยลง


      4.การบริหารต้นทุนด้านการจัดส่ง นอกจากร้านค้าออนไลน์จะต้องลุ้นว่าขายของได้หรือไม่แล้ว ยังต้องลุ้นว่าหลังจากลูกค้าสั่งซื้อของแล้ว ของที่ส่งไปจะถึงมือลูกค้าถูกต้องตรงตามที่ลูกค้าส่งหรือไม่ ทันเวลาหรือเปล่า และของเสียหายไหม
     

       จากการสำรวจพบว่า ผู้ค้าออนไลน์ 84 เปอร์เซ็นต์เคยพบปัญหาด้านการจัดส่ง โดยสิ่งที่พบมากที่สุด คือ ของไปถึงลูกค้าไม่ทันเวลา รองลงมาคือ สินค้าเสียหายหรือลูกค้าคืนของ


      แนวทางแก้ปัญหา ทำได้ 3 แนวทางคือ 1.ปรับปรุงกระบวนการจัดส่ง รวมไปถึงการรับออร์เดอร์และบรรจุของให้หยิบง่ายและขั้นตอนไม่ซับซ้อน รวมถึงการเช็กความถูกต้องของสินค้า และการบรรจุหีบห่อที่แข็งแรงช่วยให้ของไม่แตกหัก เหมาะสมกับสินค้า 2.เลือกบริษัทขนส่งที่มาตรฐานเพื่อลดปัญหาบริการและความไม่พอใจของลูกค้า และ 3.ใช้บริการขนส่งและแพ็กสินค้า ผู้ค้าส่วนมากรู้ว่าบริษัทขนส่งมีบริการนี้ แต่ที่ยังไม่นิยมใช้เพราะมีต้นทุนที่มากขึ้น ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมูลค่าสินค้า แต่หากขายสินค้าที่มีมูลค่าสูงคุ้มค่าต่อการลงทุนเพิ่มในส่วนนี้ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และสามารถนำเวลาที่เหลือไปใช้ในการทำงานส่วนอื่นได้





      ความท้าทายสุดท้าย คือ เงินทุน โดยเฉพาะ SME ที่อยากโต เพราะการค้าขายออนไลน์มักมีรายได้ที่ค่อนข้างผันผวน


       5.การหาเงินทุนเพื่อเข้าร่วมเทศกาลเซลส์ เช่น เทศกาล 11.11 ซึ่งยอดขายอาจโตขึ้นจากช่วงเวลาปกติถึง 20 เท่า สิ่งนั่นทำให้วิธีการบริหารจัดการเปลี่ยนไปทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ 61 เปอร์เซ็นต์ต้องการเงินทุนเพื่อนำไปจัดการ 3 เรื่อง คือ 1.ต้องผลิตสินค้าสต็อกมากขึ้น 2.ซื้อโฆษณามากขึ้น 3.จ้างพนักงานทำงานล่วงเวลาหรือจ้างพาร์ตไทม์


      ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ค้าออนไลน์มักเป็นผู้ประกอบการตัวเล็ก และความต้องการเงินทุนสำหรับร่วมแคมเปญในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มมักเชิญผู้ประกอบการล่วงหน้าไม่นานนัก ซึ่งการกู้เงินผ่านธนาคารจะใช้เวลานานเกินไป จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้บัตรเครดิต ใช้เงินกู้ส่วนบุคคล ใช้เงินเก็บส่วนตัว หรือยืมครอบครัวและเพื่อน


       แนวทางแก้ไข 1.วางแผนว่าจะเข้าร่วมแคมเปญกี่ครั้งต่อปีและเมื่อไรบ้าง ซึ่งต้องวางแผนตั้งแต่ต้นปีเพื่อทำตัวให้เข้าหลักเกณฑ์ที่เจ้าของตลาดจะเชิญร่วมรายการ 2.วางแผนว่าจะร่วมเซลส์ด้วยสินค้าตัวใดบ้าง ตรวจสอบว่ามีสินค้าคงคลังเพียงพอหรือไม่ และต้องผลิตหรือสั่งเพิ่มไหม หากไม่พอจะต้องใช้เงินทุนเพื่อผลิตหรือสั่งเพิ่มเท่าไร รวมถึงคำนวณต้นทุนการจ้างพนักงานเพิ่มด้วย โดยต้องรู้ต้นทุนล่วงหน้าก่อนเข้าร่วมแคมเปญอย่างน้อย 30 วัน จะได้จัดการหาเงินทุนล่วงหน้าได้ทัน
 

       เมื่อรู้ปัญหาและหนทางแก้ไขได้แบบนี้แล้ว ผู้ประกอบการออนไลน์ก็จะสามารถเติบโตและต่อยอดได้อย่างยั่งยืนแล้วล่ะ
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน