ไม่ใช่แค่นักช้อปออนไลน์โต แต่ B2B ก็ใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้นนะ รู้ยัง!




Main Idea
 
  • องค์กรธุรกิจใช้วิธีการสั่งซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้อัตราการสั่งซื้อออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
  • อย่างไรก็ตามการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การพูดคุยแบบเห็นหน้า และบริการหลังการขาย ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วย




     ผลการศึกษาทิศทางการจัดซื้อสินค้าขององค์กรต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกปี 2662 (2019 UPS Industrial Buying Dynamics Asia Pacific study) โดยยูพีเอส พบว่า ฝ่ายจัดซื้อในธุรกิจต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทั้งยังมีแผนจะใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นใน 5 ปีข้างหน้าด้วย
เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายประเทศ ผู้ซื้อในญี่ปุ่นซื้อสินค้าออนไลน์ในสัดส่วน 31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าผู้ซื้อในจีนและประเทศไทยที่มีสัดส่วนเท่ากันคือ 14 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันในประเทศไทย บริษัทที่มีงบจัดซื้อสูงมีแนวโน้มจะหันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ส่วนในจีน การสั่งซื้อออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือมีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย  




     แม้ว่าผู้ซื้อในเอเชียมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การศึกษายังพบว่า การยกหูโทรศัพท์คุยหรือพบปะกับตัวแทนของผู้ขายสินค้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ผู้ซื้อในเอเชียให้ความสำคัญกับการทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในจีน ที่การทำธุรกิจร่วมกันจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อกันให้เกิดขึ้นก่อน
 

แนวโน้มการสั่งซื้อจากต่างประเทศมีมากขึ้น


     ในด้านการเลือกซื้อสินค้าจากผู้จำหน่ายในประเทศ 67 เปอร์เซ็นต์ของการจัดซื้อภาคธุรกิจในเอเชียมาจากผู้จำหน่ายในประเทศ ขณะที่ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 73 เปอร์เซ็นต์ และยุโรปอยู่ที่ 64 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศที่เด่นชัดที่สุดคือญี่ปุ่น ซึ่งผู้ซื้อ 90 เปอร์เซ็นต์เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งจำหน่ายในประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคตอันใกล้อาจเปลี่ยนไป เนื่องจากญี่ปุ่นเพิ่งลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ  โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป




     สำหรับอุปสรรคในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญ 3 ลำดับแรก คือ ระยะเวลาส่งสินค้าที่นานกว่า (60 เปอร์เซ็นต์) ความล่าช้าทางศุลกากร (55 เปอร์เซ็นต์) และความลำบากในการคืนสินค้า (45 เปอร์เซ็นต์)  
 

บริการหลังการขายคือปัจจัยเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้า


     บริการหลังการขายยังคงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการจัดซื้อขององค์กร ในทุกประเภทของสินค้าและทุกภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่าผู้ซื้อในเอเชียจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบริการหลังการขายมากกว่าผู้ซื้อในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งบริการเหล่านี้ได้แก่ การรับคืนสินค้า บริการรับของถึงที่สำหรับสินค้าที่ยากต่อการขนส่ง รวมทั้งบริการบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป สำหรับการส่งคืนสินค้า ในจีนและญี่ปุ่น บริการหลังการขายที่สำคัญที่สุดคือการบำรุงรักษาและซ่อมแซมถึงที่ ส่วนในประเทศไทย การรับคืนสินค้าคือประเด็นสำคัญที่สุด
 
  


     รัสเซล รี้ด กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งผลให้ประเทศไทยมุ่งสู่แนวทางเศรษฐกิจแห่งการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตของไทย การเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงทำให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าผู้จัดซื้อไทยในภาคธุรกิจให้ความสำคัญมากกับการคืนสินค้า ซึ่งบริการดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในหลายโซลูชั่นที่ยูพีเอสมีรองรับ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสร้างจุดแข็งที่แตกต่างจากคู่แข่งได้ ข้อมูลเชิงลึกจากการศึกษายังช่วยให้เรามอบโซลูชั่นที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ผลิตในประเทศไทยที่ต้องการแสวงหาโอกาสการเติบโตในตลาดภูมิภาคหรือตลาดโลกได้”


     ผู้ค้าที่ต้องการทำธุรกิจในตลาดเอเชียจึงต้องหาจุดสมดุลจากแนวโน้มนี้ และจำเป็นต้องให้ความสำคัญทั้งกับช่องทางการค้าแบบอีคอมเมิร์ซและแบบดั้งเดิมให้ดำเนินการอย่างสอดประสานกัน ควบคู่ไปกับบริการหลังการขายที่ดี เช่น การรับคืนสินค้าด้วยขั้นตอนง่ายๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อให้กับผู้ซื้อได้
 

ที่มา : ยูพีเอส


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน