กลยุทธ์เรียกความสุขลูกค้าด้วย Tray Art ศิลปะเสิร์ฟจาก ริ Cafe’

Text : farkwang 

Photo : Pae Yodsurang





Main Idea
 
  • ในการทำธุรกิจมักมีแง่มุมเล็กๆ ดีๆ ซ่อนอยู่เสมอ เพื่อรอให้เราเข้าไปค้นหา ซึ่งหากสามารถค้นพบได้ ก็อาจนำมาสร้างความแตกต่าง เอกลักษณ์ และมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้
 
  • เหมือนเช่นที่ ริ Café คาเฟ่เล็กๆ ในซอยลาดพร้าว 18 ได้ค้นพบวิธีการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในวิธีที่เรียกว่า ‘Tray Art’ หรือศิลปะถาดที่คิดค้นขึ้นมาเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากถาดเสิร์ฟที่ว่างเปล่า ให้กลายเป็นชิ้นงานศิลปะขนาดย่อม ส่งมอบความรู้สึกดีๆ ให้กับลูกค้า เสิร์ฟพร้อมรสชาติอาหารและเครื่องดื่มแสนอร่อยนั่นเอง



                
     เคยคิดไหมว่าบนพื้นที่ว่างเปล่าของถาดเสิร์ฟเวลายกอาหารเครื่องดื่มไปให้กับลูกค้า จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้?
                
     ไม่รู้ว่าเคยมีใครคิดแบบนี้หรือเปล่า แต่สำหรับ ศิริประภา ค่านคร หรือ ‘มะริ’ สาวนักครีเอทีฟเจ้าของร้าน ‘ริ’ Café คาเฟ่น่ารักในซอยลาดพร้าว 18 แยก 3 มองว่า นี่คือพื้นที่สร้างสรรค์ที่ช่วยให้สามารถสื่อสารส่งมอบความรู้สึกดีๆ ให้กับลูกค้าได้ โดยไม่เป็นการปล่อยทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์ จนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่คิดขึ้นมาด้วยตัวเอง ลองทำเอง และตั้งชื่อสนุกๆ ขึ้นมาเองว่า ‘Tray Art’ หรือศิลปะการจัดถาด
 




เสิร์ฟจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ส่งต่อรอยยิ้มสู่ลูกค้า



     เมื่อเปิดประตูเข้าไปด้านใน ริ Café จะได้พบกับของเล่นของสะสมมากมายที่ตั้งอยู่ตามมุมต่างๆ เคาน์เตอร์ไม้ตัวยาวตั้งโดดเด่นอยู่กลางร้านเป็นเสมือนพื้นที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือน รับออเดอร์ รวมถึงที่วางอุปกรณ์ทำกาแฟและเครื่องดื่มให้กับลูกค้า มีเหล่าตัวการ์ตูนตัวเล็กตัวน้อยตั้งอยู่บนมุมหนึ่งของเคาน์เตอร์ นี่ไม่ใช่แค่ของประดับ แต่คือหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญเพื่อใช้เสิร์ฟจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ส่งต่อรอยยิ้มให้กับลูกค้า


     “เราอยากสื่อสารความรู้สึกใหม่ๆ ที่สามารถส่งมอบพลังงานดีๆ เป็น Good Energy ให้กับคนรอบข้าง จึงลองคิดดูว่าอะไรล่ะที่เราจะมอบให้ลูกค้าได้มากกว่าแค่อาหารเครื่องดื่มที่นำไปเสิร์ฟให้เขาเฉยๆ จึงลองเริ่มจากวิธีง่ายๆ ก่อน คือ แปะสติกเกอร์หน้ายิ้มหลายๆ แบบส่งไปให้พร้อมกับวางข้อความดีๆ แนบไว้ข้างแก้วด้วย พอเราแอบเห็นลูกค้าดีใจมีความสุขที่ได้รับ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ คิดข้อความใหม่ๆ เขียนส่งกำลังใจให้ในแต่ละวันไม่ซ้ำกันเลย พอนานวันเข้าเริ่มรู้สึกอยากลองสื่อสารสิ่งที่ Cheer up! เขาได้ ให้เขาสามารถมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เราทำได้





     “เผอิญเราเป็นคนชอบของเล่น เวลาได้เห็นหรือเล่นของเล่นแล้วจะสดชื่นมีความสุขบวกกับเป็นคนชอบลองคิดอะไรไปเรื่อยๆ เลยคิดว่าถ้าลองเอาของเล่นที่เราสะสมไว้มาวางใกล้ๆ กับของกินที่ลูกค้าสั่ง แล้วตั้งใจเลือกคาแรคเตอร์ของเล่นที่เราคิดว่าเหมาะกับลูกค้าคนนั้น เอามาจัดรวมกับอุปกรณ์ของใช้รอบตัว และวางองค์ประกอบในถาดให้สนุกน่าสนใจ แถมมีชื่อของเขาติดอยู่บนถาดด้วย น่าจะทำให้ลูกค้าสังเกตเห็นแล้วอาจหยิบขึ้นมาเล่น ทำให้เขาได้รู้สึกแปลกใหม่จากสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ตรงหน้า และมีความสุขกับมันได้ทันที พอทำไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ Tray Art หรือ ศิลปะถาดขึ้นมา ซึ่ง Tray Art เป็นชื่อที่เราคิดขึ้นมาเองเพื่อให้เรียกง่ายๆ คล้ายกับ Latte Art แต่เราทำ Latte Art ไม่เป็น นี่จึงเป็นสิ่งทดแทนได้ดีเลย (หัวเราะ)” มะริเล่าที่มา


เปลี่ยนความเข้าใจและความพอดีมาเป็น Tray Art


     มะริเล่าว่าการทำ Tray Art ของเธอไม่มีหลักตายตัว ขึ้นอยู่กับโมเมนต์และสิ่งที่สัมผัสได้จากลูกค้า ณ ตอนนั้น แต่หากลองแยกย่อยออกมาเป็นลำดับขั้นตอนคร่าวๆ ก็แบ่งได้ตามนี้ 1.ดูบุคลิกว่าเป็นคนอย่างไร 2.ดูอายุเพศวัย 3.ดูวัตถุประสงค์ของการเข้ามายังร้าน เช่น แวะมานั่งเล่น นัดเจอเพื่อน นั่งประชุมคิดงาน  หรือมาคลายเครียด ฯลฯ และ 4.เตรียมจัดถาดเลือกของเล่นให้ด้วยความรัก





     หลังจากที่ได้ข้อมูลในหัวเพียงพอแล้ว ขั้นตอนแรกเริ่มจากการเลือกถาดที่ต้องการใช้ก่อน ทั้งรูปทรง โทนสี จากนั้นจึงคัดเลือกของเล่น วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่สร้างความรู้สึก มาใช้จัดวางตามโจทย์ที่คิดไว้ และลงมือทำในเวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ได้ Tray Art ที่ต้องการออกมาพร้อมกับเครื่องดื่ม ซึ่งที่นี่เป็น Self Service พอทำเสร็จก็เรียกชื่อลูกค้า เพื่อเดินมารับเครื่องดื่มและงานศิลปะ Tray Art ที่ทำขึ้นมาเพื่อเขาโดยเฉพาะได้เลย


     “เวลาทำเราหรือทีมไม่ได้มีหลักการตายตัวว่าต้องวางออกมาในรูปแบบไหน มีกี่แบบ กี่สไตล์ มันเป็นความรู้สึก ณ ตอนนั้นที่เราได้สื่อสารกับเขาแล้วเลยอยากจะส่งจินตนาการบางอย่างออกมาให้แค่เริ่มง่ายๆ จากการทักทาย ชวนคุย ดูเครื่องดื่มที่สั่ง ดูชุดและสีที่เค้าเลือกใส่ในวันนี้ ดูวัตถุประสงค์ที่เข้ามาในร้าน เช่น ถ้าเข้ามานั่งทำงาน ประชุมเร่งรีบ หากเราจัดอะไรเยอะเกินไปเขาอาจจะรู้สึกอึดอัด ดังนั้นเราก็จะจัดของเล่นที่ไปบอกเค้าว่า สู้ๆ นะ แทน! แต่ถ้าเขาต้องการมาเพื่ออยากได้แรงบันดาลใจ อยากได้ Tray Art น่ารักๆ ไว้ถ่ายรูป เราก็จัดเต็มให้ไปเลย หัวใจสำคัญของการทำ Tray Art คือ ความเข้าใจ และความพอดี”





     เธออธิบายต่อว่า อีกข้อสำคัญ คือ ความเร็ว หมายความว่าเมื่อลูกค้าสั่งเครื่องดื่ม เขาก็ย่อมสมควรได้รับตามเวลาที่เหมาะสมด้วย ฉะนั้นจึงต้องจัดเรียงขั้นตอนและบริหารจัดการเวลาดีๆ ด้วย


     “อย่างลูกค้าบางคนเข้ามาอยากได้ถาดที่เหมือนจัดให้เขาเฉพาะ อยากให้เป็นชื่อตีมนี้ๆ เราก็ต้องคิดแล้วว่าควรเล่นกับตัวอักษรแบบไหน สีอะไร วางคู่ไปกับเจ้าของเล่นในร้านตัวไหนดี แล้วก็ไปทำเครื่องดื่ม ทำเสร็จกลับมาจัดต่อเอาตัวโน่นตัวนี่มาใส่เพิ่มแล้วก็เสิร์ฟ  คือในเมื่อเราอยากเพิ่มความพิเศษให้กับเขา บริการพื้นฐานหรือสิ่งที่เขาคาดหวังว่าควรจะได้รับ เช่น เครื่องดื่มรสชาติดี ทำด้วยความพิถีพิถัน แต่รวดเร็วว่องไว ก็ควรจะต้องรักษามาตรฐานเอาไว้ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจึงจะกลายเป็นความพิเศษ ไม่ใช่เขาได้ถาดที่สวยน่ารักมาก แต่ทำช้า ไม่อร่อย บริการไม่ประทับใจ ก็ไม่ได้”


'Teamริ' สร้างผลงานจากทีมเวิร์ค


     โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ตกแต่งถาดเสิร์ฟ ได้แก่ ตัวการ์ตูน และของเล่นจากเรื่องต่างๆ ที่มะริสะสมไว้ แผ่นพลาสติกสี ตัวอักษร ไม้บรรทัด ยางลบ สีเทียน กระดาษรีไซเคิล  ฯลฯ แล้วแต่ว่าอยากหาอะไรมาให้คนเล่น ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นอกจากการสร้างสรรค์ชิ้นงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการทำ Tray Art ก็คือ การเก็บรักษา และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทีมเวิร์คเล็กๆ นามว่า ‘Teamริ’





     “การที่เราจะจัดวางงาน Tray Art ได้มีมิติ สวยงาม และทำเสร็จรวดเร็ว สิ่งหนึ่งอยู่ที่การเก็บรักษาที่ดี และความสามัคคีในการเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ของสมาชิกในทีมด้วย ถ้าเราสามารถจัดเก็บของเล่น และอุปกรณ์ทุกชิ้นได้เป็นระเบียบเรียบร้อย วางไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อที่จะให้คนในทีมหยิบใช้งานในทุกๆ ครั้งได้ง่าย และร่วมดูแลมันด้วยความรัก Tray Art ที่เราตั้งใจออกแบบและมอบให้เขาก็จะออกมามีพลังงานที่ดี ทำได้เร็วมีรายละเอียดและมิติของชิ้นงานครบถ้วนตามที่เราตั้งใจ ฉะนั้นเวลาเก็บถาดกลับคืนมา สิ่งสำคัญแรกที่ต้องทำเลย คือ นำของเล่น และอุปกรณ์ต่างๆ กลับไปไว้ยังที่เดิม ไม่ว่าจะวุ่นแค่ไหนก็ตาม ห้ามวางเขาทิ้งไว้ก่อน เพราะเราจะไม่มีทางกลับมาเก็บได้เหมือนเดิม อันนี้ก็เป็นเคล็ดลับอีกอย่างด้วยที่ทำให้ของเล่นของเราไม่เคยหายเลย ถึงของเราจะเยอะแค่ไหนก็ตาม และสามารถหยิบจับใช้งานได้ง่ายในเวลาที่เราต้องใช้เขา ต้องยกความดีให้ทีมเวิร์คทีมเล็กๆ ที่น่ารักของเราด้วย” มะริกล่าวด้วยรอยยิ้ม


รอยยิ้มลูกค้าคือผลลัพธ์ของความสำเร็จ


     ในส่วนของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหรือการตอบสนองจากลูกค้า มะริกล่าวว่าเธอไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก ขอเพียงตั้งใจทำให้ดีที่สุดก็พอแล้ว




     “เราไม่ซีเรียสนะว่าพอลูกค้าเห็นแล้วเขาจะอมยิ้มไหม หรือสนใจสิ่งที่เราทำไว้ให้หรือเปล่า เพราะถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ความตั้งใจของการทำ Tray Art ขึ้นมาก็เพื่อเป็นตัวเชื่อมต่อที่คอยส่งสัญญาณเบาๆ ให้ลูกค้าที่แวะเข้ามาได้มีความสุขสนุกกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว พอกลับออกไปจากร้านเขาจะได้ไม่ลืมเอาพลังงานความสุขนั้นไปลุยกับหน้าที่การงานของตนต่อไป เราเป็นแค่คนส่งสาร ส่วนเขาจะรับได้แค่ไหนก็เป็นสิทธิของเขา เหมือนอย่างที่ทำร้านขึ้นมาก็ตั้งใจสร้างให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข เป็นจุดริเริ่มของการผจญภัยเล็กๆ ที่เปิด Stand by เอาไว้คอยปลุกจินตนาการความเป็นเด็กให้คนที่ได้แวะเข้ามา อารมณ์เหมือนเวลาเราได้ไปสวนสนุก ทุกอย่างตรงหน้ามันก็เบิกบาน สร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย ที่ทำในรูปแบบคาเฟ่ร้านอาหาร ก็เพื่อให้จับต้องได้ง่ายขึ้น แม้ไม่ได้ไปสวนสนุก ก็มีความสุขได้ทุกวัน หรือต่อให้เป็นวันที่วุ่นวาย เราก็จะผ่านมันไปได้ด้วยพลังงานดีๆ ที่เก็บสะสมตุนเอาไว้”


     นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแง่มุมเล็กๆ ดีๆ ที่ซ่อนอยู่ในการทำธุรกิจ โดยนอกจากอาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้บ้างแล้ว อีกสิ่งที่มะริฝากทิ้งท้ายไว้จากการสัมภาษณ์ที่คุยกันในวันนี้ คือ อยากให้ทุกคนได้ลองริเริ่มให้โอกาสตัวเอง มองหาสิ่งที่คิดว่าทำได้ดี ทำได้บ่อยๆ เพราะทำด้วยความรัก ที่เหลือเป็นเรื่องของการหมั่นฝึกซ้อม ทดลองสิ่งใหม่ๆ ไม่ถอดใจง่ายๆ กับอุปสรรคที่เจอ แล้วสร้างเอกลักษณ์พิเศษของตัวเองขึ้นมา ถ้าทำด้วยใจ และความตั้งใจดีๆ จะสร้างการจดจำแก่ลูกค้าได้เองในที่สุด       




     “เราอาจเป็นหนึ่งตัวอย่างที่หยิบเอาแง่มุมเล็กๆ จุดเล็กๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วของการใช้ชีวิตหรือทำงานในแต่ละวันมาสร้างให้เกิดมูลค่าทางความรู้สึกเพิ่มขึ้นมา และยังคงพยายามทดลอง พัฒนา และเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่เป็นตัวเองฝังอยู่ใน DNA และจิตวิญญาณของแต่ละคนอยู่แล้ว แค่อาจยังไม่เคยลองค้นหามันอย่างจริงๆ จังๆ เลยยังไม่มีโอกาส ‘ริเริ่ม’ ทำในสิ่งที่สัญชาตญาณแอบส่งสัญญาณบอก แต่ถ้าเราไม่กลัวที่จะเริ่ม ลุยคิดลุยทำ แล้วลองสนุกดูกับมันสักตั้ง หาจุดเล็กๆ ที่เราถนัดในธุรกิจของตัวเองให้เจอ ต่อยอดและสร้างเอกลักษณ์ในแบบตัวเองขึ้นมา เราก็อาจจะเจอทางที่เราทำได้ดีและสนุกกับมันได้บ่อยๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชิ้นงานและตัวเราในที่สุดได้เช่นกัน”


     ไม่แปลกใจเลยที่จนถึงทุกวันนี้ ในบรรดา Tray Art ที่จัดออกมาจากทีม ริ Café  ยังไม่มีถาดไหนที่ทำออกมาซ้ำกันเลย เพราะทุกถาดทำออกมาด้วยความสนุก ความตั้งใจดี ที่อยากส่งต่อพลังงานความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการดีๆ ให้เกิดกับลูกค้านั่นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน