ตลาดเสื้อผ้าเด็กมาแรง! Walmart เพิ่มบริการผูกปิ่นโตจัดส่งสินค้าชุดเด็กรายปี

Text: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 
 

 
 
Main Idea
 
  • กระแสบริการ Subscription Box มาแรงดึงให้ค้าปลีกรายใหญ่อย่างวอลมาร์ทเข้าสู่ธุรกิจผูกปิ่นโตเสื้อผ้าเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มบริการจัดส่งเสื้อผ้าเด็กให้กับผู้ปกครองปีละ 6 กล่อง
 
  • การรุกเข้าธุรกิจ Subscription Box ของวอลมาร์ทครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการขยายธุรกิจเข้าไปยังหมวดเสื้อผ้าในรูปแบบต่างๆ ทว่าวอลมาร์ทยังดำเนินกลยุทธ์ Collaboration โดยจับมือกับเหล่าเซเลบคนดัง ให้ความสำคัญเสื้อผ้าเด็กที่ลงทุนเยอะ เพิ่มเสื้อผ้าเด็กแบรนด์ใหม่ๆ นับร้อยๆ แบรนด์ไว้บริการลูกค้าด้วย
 

 

     ปฏิเสธไม่ได้ว่า Subscription หรือโมเดลธุรกิจแบบผูกปิ่นโตยังมาแรงไม่มีตก สินค้าที่นำมาให้บริการในรูปแบบของ Subscription Box นั้นมีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในชีวิตประจำวันไปจนถึงสินค้าแฟชั่น ค้าปลีกรายใหญ่อย่างวอลมาร์ทเองก็ไม่พลาดที่จะร่วมใช้โมเดลนี้ด้วย


     หลังจากที่ปี 2014 เคยแนะนำบริการ Beauty Box ที่จัดส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม เช่น แผ่นมาสก์หน้า คลีนเซอร์ทำความสะอาดเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้ลูกค้าไตรมาสละ 1 กล่องในราคากล่องละ 5 ดอลลาร์ ล่าสุดวอลมาร์ทก็ได้เข้าสู่ธุรกิจผูกปิ่นโตเสื้อผ้าเป็นครั้งแรกโดยแนะนำ Subscription Box ที่เป็นบริการจัดส่งเสื้อผ้าเด็กให้กับผู้ปกครองปีละ 6 กล่อง





     ทั้งนี้ วอลมาร์ทได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Kidbox ที่ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว และตอนหลังมาทำแบรนด์เสื้อผ้าเด็กเอง โดยลูกค้าสามารถใช้บริการโดยการลงทะเบียนในเว็บไซต์ของวอลมาร์ท จากนั้นเข้าไปตอบคำถามเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น เพศ วัย ความชอบ สไตล์การแต่งตัวของเด็ก เป็นต้น และจัดการชำระเงิน แล้วทาง Kidbox จะเป็นผู้คัดเลือกเสื้อผ้าที่ประเมินแล้วว่าจะตรงกับรสนิยมของลูกค้าให้ โดยใน 1 กล่องประกอบด้วยเสื้อผ้า 4-5 ชิ้นในราคากล่องละ 48 ดอลลาร์ หรือเพียงครึ่งเดียวของมูลค่าจริง ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าไม่พึงพอใจของที่จัดส่งให้ และต้องการส่งสินค้าคืนทั้งหมด ก็สามารถทำได้โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และทางวอลมาร์ทจะคืนเงินให้ทันที


     การรุกเข้าธุรกิจ Subscription Box เกี่ยวกับเสื้อผ้าเด็กของวอลมาร์ทครั้งนี้เป็นการขยายธุรกิจเข้าไปยังเซ็กชั่นเสื้อผ้าในรูปแบบต่างๆ โดยก่อนหน้านั้น วอลมาร์ทได้อนุญาตให้แบรนด์เสื้อผ้า Lord & Taylor ลงขายสินค้าบนเว็บของบริษัท รวมถึงการทำเสื้อผ้าแบรนด์เฉพาะของวอลมาร์ทเอง ทั้งเสื้อผ้าผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กเพื่อวางขายในวอลมาร์ท เท่านั้นยังไม่พอ วอลมาร์ทยังดำเนินกลยุทธ์ X หรือ Collaboration โดยจับมือกับเหล่าเซเลบคนดัง อาทิ เอลเลน  ดีเจนเนอเรส และเคนดัล และไคลี่ เจนเนอร์  





     ในหมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่วอลมาร์ทให้ความสำคัญจะเป็นเสื้อผ้าเด็กที่ลงทุนเยอะ โดยมีเพิ่มเสื้อผ้าเด็ก   แบรนด์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าเลือกนับร้อยๆ แบรนด์ รวมถึงแบรนด์ลีวายส์ และ The Children’s Place ขณะเดียวกันก็ออกแบบเว็บไซต์ใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเลือกหาสินค้าทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น


     การจับมือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับ Kidbox นั้นมีการการมองว่าวอลมาร์ทต้องการรวบรวมแบรนด์เสื้อผ้าเด็กดัง ๆ มาไว้บริการในเว็บไซต์ให้มากสุดเท่าที่จะทำได้เพื่อดึงดูดลูกค้าที่มีศักยภาพมีกำลังซื้อให้เข้ามาใช้บริการที่เว็บวอลมาร์ท มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับอเมซอนซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในวงการอี-คอมเมิร์ซอีกด้วย เดนิส อินแคนเดลา ผู้บริหารแผนกแฟชั่น ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของวอลมาร์ทยอมรับการเป็นพันธมิตรกับ Kidbox เปิดโอกาสให้วอลมาร์ทได้นำเสนอเสื้อผ้าเด็กหลากหลายแบรนด์ รวมถึงแบรนด์พรีเมียมเพิ่มมากขึ้น


     รายงานระบุการล้มละลายของแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Gymboree ทำให้ต้องปิดสาขาหลายร้อยแห่งทำให้เกิดช่องว่าในตลาดเสื้อผ้าเด็ก และมีผู้ค้าปลีกหลายรายเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ เช่น ห้างค้าปลีก ทาร์เก็ต ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลิตเสื้อผ้าเด็กภายใต้แบรนด์ Cat & Jack โดยทำยอดขายกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปีแรกของการเปิดตัวไลน์เสื้อผ้าเด็กแบรนด์ตัวเอง





     สำหรับธุรกิจ Subscription Box เสื้อผ้าเด็กนั้น มีหลายแบรนด์ที่เข้ามาจับ มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว อาทิ Stitch Fix และ Rent the Runway สตาร์ทอัพที่เริ่มธุรกิจเสื้อผ้าให้เช่าสำหรับผู้ใหญ่ก็เพิ่มบริการเช่าเสื้อผ้าเด็กเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ส่วน Foot Locker เพิ่งลงทุน 12.5 ล้านดอลลาร์ซื้อหุ้นบริษัท Rockets of Awesome ที่ผลิตเสื้อผ้าเด็กและให้บริการ subscription box ด้วยเช่นกัน ส่วน Gap แบรนด์เสื้อผ้าดังก็ทดลองให้บริการจัดส่งเสื้อผ้าเด็กให้สมาชิกแต่ก็ก็ต้องยกเลิกไปหลังให้บริการเพียง 14 เดือน
 

อ้างอิง
www.cnbc.com/2019/04/15/walmart-launches-its-first-subscription-box-for-apparel-with-kidbox.html
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน