​“5 พฤติกรรมลูกค้าออนไลน์” รู้ก่อน...มีชัยกว่าครึ่ง



เรื่อง : ทรงยศ คันธมานนท์
            ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง ReadyPlanet.com


     เนื่องด้วยการสื่อสารที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ได้ปลูกฝังพฤติกรรมให้กับพวกเราโดยไม่รู้ตัว เทคโนโลยีช่วยให้เราทำอะไรเร็วขึ้น สะดวกขึ้น แต่ทางกลับกันอาจทำให้เรากลายเป็นคนใจร้อน ขี้เบื่อ เพราะสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และการเข้าถึงข้อมูลที่สนใจสามารถทำได้ง่ายดายเพียงไม่กี่คลิก ผ่านการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต

   จากผลวิจัยเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจาก Red Rocket Media ระบุว่า โดยทั่วไป คนเราจะมีเวลาเฉลี่ยในการให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียง 8 วินาทีเท่านั้น นั่นหมายความว่าหากคุณทำธุรกิจอยู่บนออนไลน์ คุณมีเวลา 8 วินาทีสำคัญ ที่จะดึงดูดลูกค้าให้สนใจในสินค้าและบริการของคุณ ก่อนถูกมองข้าม

    ลองทำความรู้จักกับ 5 พฤติกรรมลูกค้าออนไลน์ สำหรับทำความเข้าใจ พร้อมเรียนรู้เทคนิคการปรับปรุงเว็บไซต์ เพื่อรับมือเเละสร้างเเบรนด์ของคุณบนโลกออนไลน์ให้เติบโตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


1. วัยรุ่นใจร้อน

   ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยธรรมชาติ มักจะใจร้อน อยากทราบข้อมูลสินค้า บริการที่เขาสนใจโดยทันทีทันใด โดยทั่วไปผู้ที่เข้ามาหน้าเว็บไซต์จะใช้เวลาอยู่ในแต่ละหน้าเพียงแค่ 5-8 วินาที เท่านั้น หากเว็บนั้นไม่สามารถนำเสนอข้อมูลให้ตรงตามความสนใจได้ ผู้ใช้ก็จะคลิกออกจากเว็บอย่างรวดเร็ว

วิธีรับมือ

   เว็บไซต์ควรโหลดได้เร็ว และมีการออกแบบให้แสดงผลบางส่วนได้โดยไม่ต้องรอโหลดหน้าเว็บทั้งหน้าเสร็จ นำเสนอข้อมูลโดยใช้ข้อความและภาพประกอบที่ช่วยสื่อให้ผู้ใช้เข้าใจได้ง่ายในเวลาสั้นๆ ซึ่งหากผู้ใช้สนใจสามารถที่จะอ่านหรือคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ต่อไป

2. เบื่อง่าย หน่ายเร็ว

   อาการขี้เบื่อเป็นอาการที่เกิดได้ง่ายกับผู้ใช้ออนไลน์แทบทุกคน เเละจะเป็นกันอยู่บ่อยๆ หากเว็บไซต์ของคุณไม่มีการอัพเดทข้อมูล ไม่มีจุดเด่น และเมื่อใดที่พวกเขาเบื่อหน่ายเว็บไซต์คุณขึ้นมาล่ะก็ มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับมาเยี่ยมเยี่ยนเว็บไซต์ของคุณอีก

วิธีรับมือ

   ควรมีการอัพเดตเนื้อหาบนเว็บไซต์ให้มีข้อมูลใหม่ และสอดคล้องกับเทศกาลปัจจุบันอยู่เสมอ อาจมีการปรับภาพตกแต่งบางส่วนหรือใส่วิดีโอประกอบเพื่อดึงดูดความสนใจ

3. ชอบดูผ่านๆ ไม่ชอบอ่านละเอียด  (Scan, not read)?

   ในความเป็นจริง ผู้ชมเว็บไซต์ไม่ชอบอ่านเนื้อหาทั้งหมดแบบละเอียด แต่จะชอบกวาดสายตาดูหน้าเว็บแบบผ่านๆ เพื่อหาข้อมูลที่สนใจ หากจัดวางหน้าเว็บไซต์ไม่ดี ก็จะทำให้ผู้ใช้ไม่พบข้อมูลที่ต้องการ 

วิธีรับมือ

   ควรจัดวางเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์ให้อ่านง่าย โดยมีการเน้นตัวหนังสือในหัวข้อที่สำคัญให้เห็นได้ชัด หรืออาจแสดงข้อความในลักษณะเป็นข้อๆแบบ bullet จัดเนื้อหาเป็นย่อหน้าสั้นเพื่อให้มีจุดพักสายตา ปุ่มหรือเมนูต่างๆควรมองเห็นได้ง่ายและชัดเจน


4.ไม่ชอบจำและคิด

    จากผลสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุ คนไทยมีค่าเฉลี่ยการใช้เวลาบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 7.2 ชั่วโมง ทุกๆ วันพวกเขาอาจคลิกเข้าเว็บมากกว่าสิบๆ เว็บ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ลูกค้าจะจดจำในรายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญได้ 

วิธีรับมือ

    ในแต่ละหน้าเว็บ ควรมีเป้าหมายในการนำเสนอประเด็นหลักประเด็นเดียว การตั้งชื่อหัวข้อของหน้าเว็บนั้นๆ ควรสั้น กระชับและจดจำได้ง่าย ในการคลิกใช้งานเว็บไซต์ไม่ควรให้ลูกค้าต้องจำหรือคิดโดยไม่จำเป็น อาจมีระบบแสดงรายการสินค้าหรือบทความที่ได้อ่านไปแล้ว เพื่อช่วยเตือนความจำ กรณีต้องการกลับไปสั่งซื้อสินค้าที่ได้ดูรายละเอียดไปก่อนหน้านี้

5.ขี้ระแวง
 

    ปกติผู้ชมเว็บไซต์มักจะกลัวถูกหลอก และมีความระแวงก่อนที่จะสั่งซื้อเสมอ เนื่องจากยังมีความไม่เชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ จากผลการวิจัยของ Baymard Institute ระบุว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยกว่า 67% มักยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าที่โยนใส่ตระกร้าเรียบร้อยเเล้ว โดยมีหนึ่งในสาเหตุสำคัญ คือ กังวลเรื่องระบบความปลอดภัย

      นำเสนอข้อมูลที่แสดงความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ เช่น แสดงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ แผนที่ ข้อมูลที่อยู่ของธุรกิจ, แสดงแบนเนอร์การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และอาจนำเสนอข้อมูลประสบการณ์จากลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าแล้วประทับใจ รวมทั้งมีการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในการสั่งซื้อและนโยบายที่เกี่ยวกับใช้บริการไว้อย่างเช่นเจน เช่น นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรับประกัน การเปลี่ยนและคืนสินค้า เป็นต้น











RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน