ตึกเก่าเมืองถลาง บรรจุภัณฑ์อันงดงาม และมีชีวิต

  

 

 

 

เรื่อง : มลฑา ชัยธำรงค์กูล

 

          จะดีแค่ไหนหากคุณได้มากกว่าแค่ภาพถ่าย และความทรงจำดีๆ กลับมาพร้อมของฝากหลังจากที่ทริปวันหยุดสุดสัปดาห์อันแสนสุขสนุกสนานได้ผ่านพ้นไป 

          วิรวัฒน์ เปี่ยมวิวัตติกุล ประธานบริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านของฝากภายใต้ชื่อ ‘ร้านพรทิพย์’ ในจังหวัดภูเก็ตมานานนับ 20 ปี เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการ SME ที่ช่วยให้ความประทับใจของนักท่องเที่ยวไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา ด้วยบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่เขาใส่ใจรังสรรค์ขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้เอง

          “เราเริ่มทำบรรจุภัณฑ์ตึกเก่าของจังหวัดภูเก็ตขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เราออกบรรจุภัณฑ์เซตอันดามัน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเล 12 ชนิด แล้วก็ได้ผลตอบรับดีเกินเป้าหมายที่วางไว้ กอปรกับคนภูเก็ตเริ่มให้ความสนใจกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลก็พยายามผลักดันเมืองเก่าให้เป็นมรดกโลก

            นี่เองจึงเกิดเป็นความคิดที่จะนำตึกเหล่านี้มาทำเป็นรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้ได้ออกแบบไว้แล้วถึง 40 แบบและทยอยออกสู่ตลาดไปแล้วประมาณ 12 แบบ  โดยรูปแบบจะเป็นเมืองเก่าที่สมบูรณ์ พร้อมตุ๊กตาคนที่แต่งกายด้วยชุดย่าหยา (การนุ่งผ้าถุงปาเต๊ะ ใส่เสื้อที่ตัดเย็บแบบเข้ารูป โดยชายเสื้อด้านหน้ายาวแบบเสื้อของสตรีมุสลิม) บ้าบ๋า (ชายที่เป็นลูกผสมระหว่างคนจีนกับคนพื้นเมือง) และรถสองแถว หรือที่คนภูเก็ตเรียกว่า ‘รถโพท้อง’ ประดับไว้ตามมุมต่างๆ ของตึกด้วย จึงเป็นเหมือนบรรจุภัณฑ์ที่มีชีวิต” 

            ส่วนการที่บริษัท พรทิพย์ไม่สามารถออกบรรจุภัณฑ์พร้อมกันได้ทีเดียวนั้น เนื่องมาจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอ ซึ่งแม้จะมีโรงงานแต่วิรวัฒน์ก็เห็นว่าตนเองไม่มีประสบการณ์ด้านขนมโดยตรง อีกส่วนหนึ่งคือ เขาต้องการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนให้กับกิจการ ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันธุรกิจท้องถิ่นได้ในระยะยาว ตามพระราชดำรัสภูมิสังคมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

            ซึ่งข้อจำกัดด้านการผลิตสินค้านี้เองทำให้บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) ต้องรับขนมจากผู้ประกอบการพื้นเมืองในกระบี่ และพังงา ซึ่งมีวัฒนธรรมเดียวกันมาเพิ่ม จนได้จำนวนผลิตครั้งหนึ่งประมาณ 400-500 กล่อง โดย 1 กล่องมีขนม 2 ชนิด 

           ไม่เพียงแต่ความสวยคลาสสิกของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่วิรวัฒน์ยังได้คัดสรรขนมที่มีความโดดเด่นของแต่ละเจ้ามาบรรจุลงในกล่อง พร้อมบอกส่วนผสม วิธีทำ และเรื่องราวของขนมแต่ละชนิดด้วย ส่งผลให้เนื้อในของสินค้าชุดนี้แจ่มจรัสไม่แพ้รูปลักษณ์ภายนอกเลยทีเดียว

            “การออกแบบมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งกับทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหาร และไม่ใช่อาหาร ที่ผ่านมาธุรกิจเติบโตด้วยคุณภาพของเนื้อใน แต่ปัจจุบันรูปลักษณ์นั้นมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อเรามองไปในตลาดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ มักมีความคล้ายคลึงกัน ณ วันนี้การนำวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาสร้างคุณค่าทางด้านจิตใจให้กับทั้งผู้รับ และผู้ให้จึงก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่า” 

 

 

 

กมลทิพย์ อุทารวุฒิพงศ์ นักออกแบบจากห้างหุ้นส่วน Design Sense จำกัด

            บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด ได้นำเอาขนมพื้นเมืองซึ่งกำลังจะสูญหายไปมารวบรวม และนำเสนอในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ถือเป็นการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านทางผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าไปพร้อมๆ กับการสร้างคุณค่าให้กับขนมและเรื่องราวของจังหวัดภูเก็ต โดยใช้กลยุทธ์การออกแบบที่หลากหลาย โดยย่อส่วนจากอาคารสำคัญแต่ละแห่งที่ทรงคุณค่า และคงรายละเอียดที่ถูกต้อง พร้อมกับมีข้อมูลไว้เพื่อบอกเล่าให้ได้ทราบถึงเรื่องราวที่มาที่ไปด้วย” 

          ในขั้นตอนของการทำงานได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และภาพถ่ายจากสถานที่จริง แล้วนำมาออกแบบ มีการตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดต่างๆ เลือกใช้วัสดุที่ง่ายต่อการย่อยสลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นความสะดวกในการบรรจุสินค้า ความคงทน และการเปิดใช้ จนออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ตึกเก่าเสมือนจริงที่ชมได้ 360 องศา สามารถเปิดประตูหน้าต่าง ต่อสร้างเป็นเมืองภูเก็ตจำลองได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงพับเก็บเพื่อความสะดวกในการขนส่งได้ด้วย 

           นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยนำเสนอถึงคุณค่า อัตลักษณ์ เรื่องราว แนวคิด และผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน