หาจุดมีชีวิตรอดให้เจอ! ก่อนสูญสลายในสงครามอี-คอมเมิร์ซ

Text : Mata Ck.
Photo : สรรค์ภพ จิรวรรณธร





Main Idea
 
  • อี-คอมเมิร์ซประเทศไทยยังเป็นขาขึ้นและยังเติบโตได้อีกมาก แต่การแข่งขันจะหนักและโหดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งไม่พอ ก็พร้อมล้มหายตายจากไปได้ง่ายๆ สิ่งที่ธุรกิจต้องทำคือหา “จุดมีชีวิตรอด” ไม่เจอ
 
  • อาวุธที่จะทำให้รอดชีวิตในสงครามครั้งนี้ คือการสร้างนิชของตัวเอง ไม่ชนกับรายใหญ่ เลิกยึดติดกับออนไลน์ แต่ต้องวางสินค้าให้ไปอยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ ไม่ต้องกลัวรายใหญ่เพราะไม่ว่าวันนี้หรือวันไหนทุกตลาดมีช่องว่างให้เล่นเสมอ



 


     ทันทีที่ธานอสดีดนิ้วใน  Avengers : Infinity War ทำเอาพลเมืองหายไปถึงครึ่งจักรวาล วันนี้ในสงครามอี-คอมเมิร์ซ ก็รุนแรงและท้าทายไม่ต่างกัน คนที่แข็งแกร่งไม่พอ หาจุดมีชีวิตรอดไม่เจอ ก็พร้อมดับสลายไปได้ง่ายๆ ในจักรวาลอี-คอมเมิร์ซ


     

“อนาคตอี-คอมเมิร์ซจะแข่งขันกันโหดขึ้นเรื่อยๆ แข่งกันหนักและมากขึ้น เราต้องหาจุดมีชีวิตรอดให้เจอให้ได้”


     คำเปิดบทสนทนาจาก ธนากร แซ่ลิ้ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปแวลู คอร์เปอเรท จำกัด หนึ่งในผู้เล่นสัญชาติไทยแท้ที่อยู่ในสนามออนไลน์มากว่า 4 ปี สะท้อนความท้าทายที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นของสงครามอี-คอมเมิร์ซประเทศไทย ในยุคที่จะไม่ใช่การแข่งขันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์อีกต่อไป แต่เป็นสงครามครั้งใหม่ที่ออนไลน์จะต้องสู้รบกันเอง


     “อี-คอมเมิร์ซบ้านเรา ถ้ามองเป็นเส้นกราฟตอนนี้มันยังขาขึ้นและขึ้นไปได้อีกมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่นำเราไปเป็นกว่า 10 ปี เราก็ถือว่ายังเด็กมาก เต็มที่ก็แค่ 5-6 ขวบ ยังแข็งแรงและเติบโตได้อีกมาก เพียงแต่ว่ามันจะแข่งขันกันโหดขึ้นเรื่อยๆ จากที่ส่งวันถัดไปได้ อนาคตอาจจะเหลือแค่ภายในครึ่งวัน หรือไม่กี่ชั่วโมง จะกลายเป็นพิซซ่าไปเรื่อยๆ และยิ่งกว่านั้นของจะถูกลงอีกมาก เมื่อก่อนเราถูกเพราะเราเทียบกับราคาออฟไลน์ แต่จากนี้คนจะไม่มองตรงนั้นแล้ว แต่เขาจะมองราคาออนไลน์ด้วยกันเอง ฉะนั้นมันต้องถูกลงไปอีก อนาคตออนไลน์จะถูกลง ส่งเร็วขึ้น บริการก็จะดีขึ้น ไม่มีระบบพัง ตอบช้า ส่งของนาน เรื่องพวกนี้มันจะค่อยๆ หายไป นี่เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้น”
 
 
  • ไม่ชนกับรายใหญ่ ต้องหา Niche ตัวเองให้เจอ
     สิ่งที่ตามมาจากโจทย์ท้าทาย คือแล้วผู้ประกอบการออนไลน์จะอยู่รอดอย่างไรในวันข้างหน้า ธนากร บอกเราว่าต้องไม่ไปชนกับรายใหญ่และหาความเป็นนิช (Niche) ของตัวเองให้เจอ
“ผมว่าออนไลน์อยู่ได้หมดถ้าเราไม่ไปชนตรงกับรายใหญ่ เราอาจต้องหานิชโปรดักต์ของเราให้เจอ มองว่าบ้านเรายังมีของดีๆ อีกเยอะ เมื่อก่อนทำไมเราเห็นแต่สินค้าเดิมๆ เข้าห้างก็เห็นแต่ของเดิมๆ เพราะเจ้าเล็กๆ ไม่มีทางเข้าไปขายในช่องทางพวกนี้ได้เลย เพราะต้องเจอกับค่าแรกเข้า และค่าจีพีมหาศาล แต่ออนไลน์มาทลายกำแพงนี้ ฉะนั้นอนาคตเราจะได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ ลูกหลานชาวนาชาวสวนที่หลายๆ คนจะกลับมารวยได้เพราะออนไลน์ เขาอาจจะปลูกผลไม้ที่อร่อยมาก แล้วก็เขียนคอนเทนต์ดีๆ พอคนสั่งพรุ่งนี้ของมาส่ง พ่อค้าคนกลางจะหายไป ราคาก็จะถูกลง ตลาดตรงนี้ก็จะใหญ่ขึ้น โลกก็จะแคบลง อนาคตเราอาจเอาของไปขายทั่วโลก โดยใช้เวลาส่งที่สั้นลง ตลาดโลกมันใหญ่มาก และอนาคตของจากต่างประเทศก็จะวิ่งเข้ามาขายในออนไลน์ จะเกิดการแข่งขันหนักหน่วง ถ้าคุณแข็งแรงคุณก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นคุณต้องนิชให้พอ”





     เขายกตัวอย่าง ท็อปแวลู ซึ่งถ้าไม่ปรับตัวคงอยู่รอดไม่ได้ถึง 4 ปี ทั้งที่การแข่งขันหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการผันตัวเองจากอี-คอมเมิร์ซที่ขายทุกสิ่งอย่าง ไปเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยวางตัวเองเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ไอที ช่องว่างที่พวกเขาค้นพบว่ายังเหลืออยู่ในตลาด


     “ยักษ์ใหญ่เขาอาจเป็นเหมือนพารากอน เป็นไอคอนสยาม เราก็เป็นช็อปเครื่องใช้ไฟฟ้า และไอที มันคนละโมเดลกัน รายใหญ่ไม่มีทางครอบคลุมคนทั้งประเทศหรอก มันยังมีช่องโหว่ให้เราเข้าไปแฝงได้อีกมาก ที่ผ่านมาเรามีชีวิตอยู่ได้ ยังเซอร์ไวว์ (Survive) ยังไม่ตาย เพราะมีกลุ่มลูกค้าของเรา โดยเราค่อยๆ ผันตัวมาทำเป็นนิช เหมือนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ไอที พอคนอยากได้เครื่องใช้ไฟฟ้า ไอที ก็ต้องมาหาเรา เพราะเราราคาถูก บริการดี เป็นมืออาชีพ เราทำอย่างเดียว เหมือนทุกวันตลอด 4 ปีมานี้ ผมวาดแต่รูปไข่ วาดทุกวันหน้าไข่ก็คงสวย และประณีต เหมือนเราเชี่ยวชาญและให้บริการได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนธุรกิจเติบโตขึ้นทุกปี ยอดขายโตขึ้นปีละ 2-3 เท่า”
 
  • เลิกโทษแพลตฟอร์ม สินค้าต้องดีอยู่ช่องทางไหนก็ขายได้
      ในอดีตออนไลน์เหมือนถือไพ่เหนือกว่าออฟไลน์ตรงต้นทุนถูก แต่ทว่าวันนี้ต้นทุนในการทำตลาดออนไลน์กลับแพงขึ้นเรื่อยๆ แต้มต่อกลายเป็นอุปสรรค แต้มบุญที่เคยมีก็ดูจะลดน้อยถอยลง แล้วจะรับมืออย่างไรกับสถานการณ์หินเช่นนี้


     “หลายคนบ่นว่าตอนนี้ออนไลน์ขายไม่ดีเลย ถามว่าของที่คุณขายอยู่ดีพอแล้วหรือยัง เมื่อก่อนคุณขายในเฟซบุ๊ก ครีมอะไรก็ไม่รู้ ตั้งราคาเวอร์ๆ ขอแค่ได้มาร์จิ้นสูงๆ ไม่ได้เป็นโรงงานที่มีมาตรฐานเหมือนพวกเคาน์เตอร์แบรนด์ด้วยซ้ำ แต่เน้นขายความรู้จัก ความสัมพันธ์ ไม่ได้เน้นเอาของดีมาขาย แต่ผู้บริโภคทุกวันนี้เขาฉลาดขึ้น เมื่อก่อนเพื่อนบอกให้ซื้อก็ซื้อ ปรากฏใช้แล้วมันไม่ดี เขาก็ไม่ซื้อต่อ ใช้แค่ช่วงเริ่มต้นที่ลองเท่านั้นแหล่ะ ฉะนั้นของขายไม่ดีอาจเป็นเพราะสินค้ามากกว่า ไม่ใช่แพลตฟอร์มออนไลน์กับเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปหรอก โอเคเฟซบุ๊กอาจมีส่วนที่ทำให้คนเห็นโฆษณาน้อยลงก็จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนที่ขายดีก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นกลับไปที่เรื่องเดิม ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าลูกค้าจะได้อะไรจากของที่คุณขาย และทำไมเขาต้องซื้อคุณ สมมติมือถือเครื่องหนึ่งชาวบ้านขายกัน 3 หมื่น ผมขายแค่ 2 หมื่น ผมแทบไม่ต้องทำอะไรเลย คนก็เข้ามาซื้อผมเอง แต่ในความเป็นจริงผมทำขนาดนั้นไม่ได้ ฉะนั้นผมอาจทำได้แค่ตั้งราคาใกล้เคียงกับเขา หรือถูกกว่านิดหน่อย ที่เหลือก็ต้องใช้การบริการ การโฆษณา หลายๆ วิธีเข้ามาช่วย”


     ในอดีตหลายคนเริ่มจากขายออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนถึงขนาดทิ้งออฟไลน์มาขายแต่ออนไลน์ด้วยซ้ำ แล้วอนาคตการจะยังฝากชีวิตไว้กับออนไลน์อย่างเดียวพอไหม ธนากรให้แนวคิดที่น่าสนใจว่า ให้กลับมาที่สินค้าที่เราขาย แล้วอย่าไปหลงงมงายว่าออนไลน์คือทุกสิ่ง เพราะจริงๆ แล้วออนไลน์เป็นแค่ช่องทางหนึ่ง เป็นหนึ่งในอาวุธที่เราใช้ในการทำธุรกิจ แต่องค์ประกอบของการทำธุรกิจนั้นยังมีอีกเยอะมาก ฉะนั้นจะฝากชีวิตทุกอย่างไว้กับออนไลน์อย่างเดียวไม่ได้
 


 
  • อย่ากลัวยักษ์ใหญ่ ยังมีช่องวางให้แข่งได้     
     ผู้ประกอบการไทยหลายรายอาจล้มหายตายจากไปหลังการเข้ามาของยักษ์ใหญ่ แต่ธนากรกลับบอกเราว่า ต้องขอบคุณเจ้าใหญ่ที่เข้ามาช่วยปลุกตลาดนี้ เพราะต้นไม้ต้นหนึ่งที่ชื่ออี-คอมเมิร์ซ การจะทำให้เติบโตได้นั้นอาจต้องใช้เวลาเป็น 10-15 ปี แต่กับรายใหญ่ที่มีทุนมหาศาล พวกเขายอมขาดทุนปีละเป็นพันๆ ล้าน เพื่อใส่ปุ๋ยลงดินทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้น ซึ่งนั่นย่อมส่งผลถึงหนึ่งในผู้เล่นท้องถิ่นที่ชื่อ Topvalue.com ห้างสรรพสินค้าออนไลน์สัญชาติไทยแท้อย่างพวกเขาด้วย


     “ที่ผ่านมาคลื่นมาแรง บางคนคิดว่าเขาสู้สิงโตได้ แต่ก็โดนกลืนหายไป แต่ผมยังคิดว่าเราไม่ควรไปสู้แบบนั้น เพราะเจ้าใหญ่ๆ เขามีทุน มีคน เราไม่มีทางสู้เขาได้เลย ชนตรงไม่มีทาง แต่เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ทีมเราเก่งกว่า ส่งของให้ทัน หรือเพิ่มคน เขาใช้เงินแก้ปัญหา เราทุนน้อยก็ต้องใช้สมอง ใช้ไอเดียมาแก้ปัญหา ผมบอกกับทีมตลอดว่า เรามีเงินแค่นี้ เหมือนต้องสู้กับมวยระดับโลก เราเป็นแค่มวยระดับจังหวัดไม่ใช่ระดับประเทศด้วยซ้ำ ต้องขึ้นเวทีเดียวกับเขา ถึงเราจะเป็นแค่ระดับท้ายๆ แต่เราก็ควรภูมิใจ เพราะหลายคนที่ผ่านมาพอรู้ว่ายักษ์ใหญ่เข้ามาก็ถอยหมด ถอดใจ ไม่ทำ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ทำแล้วจะอยู่ไม่ได้ เพราะผมเชื่อว่า ในตลาดยังมีช่องว่างให้เราทำอะไรได้อีกเยอะมาก และเจ้าใหญ่ไม่ใช่เทวดา เขาก็คนเหมือนๆ กัน ฉะนั้นถ้าเราคิดจะสู้ เราก็สู้ได้ ผมมองว่าเราควรจะอยู่เพื่อคานอำนาจ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะมีการแข่งขัน ก็มีการพัฒนา มีผลประโยชน์สูงสุดสู่ผู้บริโภค แต่ถ้าปล่อยให้เจ้าใหญ่เขาจับมือกันหรือเกิดการผูกขาดขึ้นมา เราก็จะลำบาก ผมยังอยากเป็นตัวคานอยู่ และเราก็ยังภาคภูมิใจที่เป็นเว็บของคนไทย ทีมงานคนไทย ที่ยังอยากขับเคลื่อนธุรกิจนี้ให้อยู่ต่อไป”
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน