เปิดเส้นทางยกระดับคุณภาพ SMEs เพื่อการส่งออก

 

เรื่อง   เจษฎา ปุรินทวรกุล
ภาพ    ชาคริต ยศสุวรรณ์

     ทุกวันนี้ธุรกิจภาคการส่งออก ถือว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งร้อยละ 80 ของผู้ส่งออกทั้งหมดของประเทศเป็นธุรกิจในกลุ่ม SMEs ฉะนั้นในฐานะที่กรมส่งเสริมการส่งออก เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs จึงได้มีการจัดตั้ง ‘สำนักส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อการส่งออก’ ขึ้นมาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้ก้าวทันต่อการแข่งขันในอนาคต

     จิรภาพรรณ มลิทอง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อการส่งออก ให้รายละเอียดว่า ภาคธุรกิจเพื่อการส่งออกของ SMEs นั้น ก่อให้เกิดการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 76 ของทั้งประเทศ และทำรายได้ต่อปีสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    ดังนั้น หากมีการติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีระบบมากยิ่งขึ้น ตัวเลขเหล่านี้ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังถือเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตไปสู่ระดับสากลอีกด้วย

   
    
“ปกติแล้ว SMEs เพื่อการส่งออกในบ้านเราถือว่ามีความสามารถที่ใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดเรื่องการสร้างแบรนด์ แพ็กเกจจิ้ง เรื่องการพัฒนาและวิจัย ตลอดจนความรู้เรื่องการส่งออก เพราะบางครั้งพวกเขามีโอกาสไปเจอลูกค้า แต่ยังขาดเทคนิคการเจรจา การทำเอกสาร การคำนวณต้นทุน

    หน่วยงานของเราจึงมีหน้าที่ให้ความรู้ผู้ประกอบการทั้งเรื่องวิชาการ วางแผนธุรกิจ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง เทคนิคการเจรจาทางการค้า รวมถึงมีเวทีให้ผู้ประกอบการได้ออกงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ได้เรียนรู้การพรีเซ้นต์สินค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ เมื่อมีประสบการณ์เพียงพอแล้วจึงขยับไปออกงานต่างประเทศต่อ”


     ในระยะเวลาไม่ถึงปีมานี้ สำนักส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อการส่งออก มีสมาชิก (DEP SMEs Club) กว่า 120 รายแล้ว เหตุผลที่ผู้ประกอบการจำนวนมากสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น เป็นเพราะว่าพวกเขาจะได้รับข่าวสารอันเป็นประโยชน์ ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารรวมทั้งความรู้ด้านการส่งออก จากผู้ประกอบการรายอื่นๆ และยังมีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ทางหน่วยงานจัดขึ้นตลอดทั้งปี


     การเป็นสมาชิกกับเรา ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนนิติบุคคลก่อน มีระบบการชำระภาษี การทำบัญชี เพราะเรามองว่าถ้าเขาพัฒนามาถึงขนาดนี้ได้แปลว่ามีความตั้งใจจริง ก็น่าจะพร้อมดำเนินการขั้นต่อไปคือ การส่งออก และแม้ว่าการเป็นสมาชิก DEP SMEs Club จะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เราคงช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในทุกกิจกรรมไม่ได้

   อย่างไรก็ตาม จะพยายามให้ผู้ประกอบการแบกรับค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การออกงานแสดงสินค้า Made in Thailand โดยในกลุ่มสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษ 2 ครั้ง โดยครั้งแลกลดค่าใช้จ่ายในการออกบู๊ธ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนครั้งที่ 2 ลดให้ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น”

     ผู้ประกอบการรายใดสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออกเลย

 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2