How To ส่งออกอาหารไทย เรื่องควรรู้! ก่อนคิดส่งออก






 
     ในบรรดาสินค้าส่งออกของประเทศไทย อาหารและเครื่องดื่ม สามารถทำเงินเป็นอันดับต้นๆ โดยแต่ละปีไทยส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลก มูลค่าสูงเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย และนี่เป็นเป้าหมายที่ผู้ประกอบการอยากจะไปให้ถึง เพราะการส่งออก หมายถึงการขยายตลาดให้ขายได้มากขึ้นนั่นเอง


     แล้วถ้าผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ตั้งเป้าอยากส่งออกไปต่างประเทศ มีอะไรบ้าง? ที่ผู้ประกอบการควรรู้ไว้!
 

     ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ที่คิดอยากจะส่งออก อาจเริ่มต้นจากการยกหูโทรศัพท์ติดต่อไปที่ ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพราะเป็นอีกหน่วยงานที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออก โดยติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับรายละเอียดบริการข้อมูลข่าวสาร สถิติข้อมูลธุรกิจ ราคาขาย กิจกรรมส่งเสริมการส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ทางการค้า ข้อมูลการขอจดทรัพย์สินทางปัญญาได้ทั้งหมดในที่เดียว
 


             
 
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
 

     การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการคุ้มครองและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ให้ถูกละเมิดในต่างประเทศ จากเดิมที่ต้องเดินทางไปจดทะเบียนที่ประเทศนั้นๆ ปัจจุบันสามารถยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (Madrid Application Receiving Office) โดยสามารถระบุประเทศที่อยากขอคุ้มครองได้เลย ถึง 116 ดินแดน
 


 
 
อยากส่งออกต้องมีมาตรฐาน
 

     หัวใจสำคัญในการส่งออกก็คือ สินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพราะนั่นคือใบเบิกทางที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจและทำให้ได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ

   
     มาตรฐาน อย.
มาตรฐานอาหารบรรจุในภาชนะปิดสนิท ทั้งกรรมวิธีการผลิตและคุณภาพอาหาร ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข มาตรฐาน อย. จะแบ่งเป็น 2 หลักเกณฑ์ นั่นก็คือ
 
  1. ขออนุญาตสถานที่ผลิต ซึ่งจะพิจารณาสภาพแวดล้อม เครื่องมือ เครื่องจักรที่สะอาด กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ไปจนถึงการบรรจุและติดฉลากให้ครบถ้วน สุขาภิบาลการกำจัดขยะ การบำรุงรักษาทำความสะอาด และพนักงานที่สวมชุดเรียบร้อย หลังจากผ่านการยื่นขอมาตรฐานในส่วนของสถานที่แล้ว จะได้เลขมาตรฐาน อย. 8 หลัก การขอเลขจะขอได้ 1 ชนิดต่อ 1 เลขเท่านั้น
  2. ขออนุญาตผลิตภัณฑ์ หรือขอเลข อย.13 หลัก ผู้ส่งออกต้องมีการแปรรูปอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในระดับต่ำ ปานกลาง และสูง จะต้องผ่านมาตรฐานนี้และได้รับการรับรองเป็นเครื่องหมาย อย.ก่อน

     มาตรฐาน GMP มาตรฐานบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร โดยครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ประกอบการ โครงสร้างอาคาร กระบวนการผลิตที่ดีมีความปลอดภัย และมีคุณภาพได้มาตรฐานทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ขั้นตอน เริ่มต้นวางแผนการผลิตไปจนถึงการขนส่งจนถึงผู้บริโภค GMP ยังเป็นระบบประกันคุณภาพพื้นฐานก่อนที่จะนำไปสู่ระบบประกันคุณภาพอื่นๆ ที่สูงกว่าต่อไป เช่น ISO 9000 และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point)


     มาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) มาตรฐานป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร เป็นการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้มีค่าสาร (ตามข้อกำหนดของแต่ละสินค้า) เกินกว่าที่กำหนด ในการส่งออกได้ประยุกต์ใช้มาตรฐาน HACCP เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงงานผลิตและผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานแล้ว ยังต้องศึกษาแง่มุมกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการดำเนินงานของรัฐบาลประเทศนั้นๆ รวมถึงใบอนุญาตการนำเข้าและส่งออกสินค้า การออกแบบการทำธุรกิจโดยใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศของสภาหอการค้าระหว่างประเทศ (INCOTERMS) และ UCP600 ผู้ประกอบการสามารถติดตามกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการทางการค้าได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ www.moc.go.th
 


 
 
นวัตกรรมนำเทรนด์อาหาร


     ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เผยถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการใช้ในการทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารสูงถึง 12,000 ล้านบาทต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตเริ่มตระหนักเห็นแล้วว่าการขายของแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะผู้บริโภคยุคนี้ต้องการสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเทรนด์ในอุตสาหกรรมอาหารมีอยู่หลายเรื่อง เช่น การที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้อาหารสุขภาพเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคอาหารที่มีการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด ต้องการบริโภคอาหารเพื่อเป็นยา เป็นต้น
 

 
 
เปิดประตูออนไลน์ไปเวทีโลก
               

     ปัจจุบันการขายออนไลน์เป็นช่องทางที่กำลังได้รับความนิยมในการขยายตลาดให้ผู้ประกอบการไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทยจึงจัดทำ Thaitrade.com สำหรับผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าไทยได้นำเสนอสินค้าแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ เสมือนเป็นหน้าร้านให้ผู้สนใจเข้ามาเลือกซื้อและติดต่อกับผู้ขายเพื่อตกลงการค้าได้โดยตรง ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับการคัดสรรแล้วว่ามีคุณภาพมาตรฐานการส่งออกจำนวนกว่า 19,500 ร้านค้า ประกอบด้วย สินค้ามากกว่า 234,756 รายการ



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี 

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน