​Socoon เปลี่ยนรังไหม ให้กลายเป็นสินค้าดีไซน์ ที่เพิ่มมูลค่าได้ 100 เท่า






 
     ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้านมักจะมีของดีซ่อนตัวอยู่ อย่างรังไหมก็เป็นวัตถุดิบล้ำค่าที่สามารถนำมาทำอะไรได้หลายอย่างทีเดียว แต่เดิมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ จังหวัดสระบุรี ก็ได้มีการทำพวงกุญแจจากรังไหม ซึ่งขายได้แค่พวงละ 10 บาทเท่านั้น ด้วยความที่คนรุ่นใหม่อย่าง หนึ่ง - กิตติศักดิ์ ขจรภัย ทายาทของประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ได้มองเห็นว่ารังไหมน่าจะสามารถไปได้ไกลกว่านี้ จึงออกจากงานที่กรุงเทพฯ และคืนถิ่นเพื่อพัฒนาชุมชนจนพวงกุญแจรังไหมนั้นกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น 100 เท่าตัว
 
 
     “เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 ตอนนั้นยังเป็นรุ่นแม่เราที่ทำสินค้า OTOP คือพวงกุญแจรังไหม ราคา 10 บาท เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงดีให้มีราคามากขึ้น แต่ก่อนเราอยู่กรุงเทพฯ มาทำงาน พอเรากลับบ้านเราก็คิดว่าอยากจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเรา ทีนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราก็เลยลองไปเข้าโครงการดู โดยทางกรมฯ ก็จัดหานักออกแบบมาช่วย เราก็เปลี่ยนวิธีการ นำเอารังไหมมาเย็บมือกลายเป็นแผ่น จากนั้นเอาไปทำเป็นโคมไฟ นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำให้สินค้าราคา 10 บาท กลายเป็นสินค้าที่ราคาหลักพัน หลักหมื่น”
 



 
     นอกจากการที่หนึ่งได้กลับบ้านมาพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว การสร้างแบรนด์ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่จะช่วยยกระดับสินค้า OTOP ให้ขายได้มากยิ่งขึ้น
 
 
     “ก่อนหน้านี้เราก็เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เรามองว่าถ้าเราอยากที่จะยกระดับ เราควรต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมา เราเลยใช้คำว่า Socoon โดย So แปลว่ามาก Coon คือรังไหม Socoon คือการนำรังไหมหลายๆ รังมารวมกันให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์”
 



 
     ความโดดเด่นด้านการดีไซน์ของโคมไฟรังไหมจาก Socoon นั้น คือการที่โคมไฟหนึ่งดวงสามารถบิดให้กลายเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ตามใจ จะใส่แท่นวางกลายเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะหรือถอดมาออกมาแขวนบนเพดานหรือพนังก็ได้ นอกจากโคมไฟแล้วยังมีกระเป๋า ที่ใส่กระดาษทิชชู่และอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่จะตามมาในอนาคต
 
 
     “ส่วนของงานที่เราทำโคมไฟรังไหมเย็บมือนั้น มีน้ำหนักที่เบา บิดขวาซ้ายได้ สามารถบิดเป็นรูปทรงตามที่ต้องการ ถ้าอยากให้มีกลิ่นหอมอโรม่าก็สามารถนำน้ำหอมมาฉีดได้ นอกจากนี้ยังสามารถถอดไปแขวนหรือจะตั้งโต๊ะก็ได้ในลูกเดียวเลย ส่วนตัวรังไหมเองเป็นรังไหมพันธุ์ต่างประเทศสีขาว เราจะไม่ย้อมสีเคมีแต่จะย้อมด้วยสีธรรมชาติล้วนๆ เช่น สีน้ำตาลก็มาจากเปลือกคูน และเราจะไม่ใช้รังไหมที่ผ่านการสาวไย คือเราจะไม่มีการต้มตัว หมายความว่าถ้าเราต้มตัว สาวไย ตัวจะตาย เราจะไม่ฆ่าตัวไหม ไม่ทำร้ายตัวไหม”
 


 

     หลังจากที่ทางกลุ่มได้พัฒนาสินค้า ใส่การดีไซน์เข้าไป นอกจากที่จะเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้แล้ว ยังได้รับรางวัลอีกด้วย โดยรางวัลเหล่านี้จะช่วยทำให้สินค้าดีไซน์นั้นมีความน่าเชื่อถือ น่าซื้อ น่าใช้มากขึ้น รางวัลที่แบรนด์ Socoon ได้คือ รางวัล Demark Design Award ปี 2017 ได้รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถโดยกรมหม่อนไหม ปี2018
 
 
     “ข้อดีจากการที่เราได้รางวัลทำให้สมาชิกในกลุ่มมีการยกระดับ เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและที่สำคัญที่สุดคือทำให้ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการจัดประกวดมีทุกปี ทุกปีเราจะต้องส่งประกวด ถามว่าถ้าเราทำเหมือนเดิม ได้อันละ 10 บาท แต่พอเราทำแบบนี้รายได้ก็เพิ่มขึ้น จากเดิมเรามีสมาชิกแค่ 5 คน ตอนนี้เรามีสมาชิก 40-50 คน สมาชิกแต่ะคนจะมีพื้นที่ในการผลิต ก็จะแบ่งงานกันทำ ส่วนผมจะรับหน้าที่ในการหาตลาด รับออเดอร์ มาออกงานรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าเพื่อกลับไปพัฒนาสินค้า”
 

Cr : Socoon               
 

     โดยตอนนี้ Socoon มีวางขายที่สยามพารากอนและสยามดิสคัฟเวอรี่ โซน Ecotopia ก็ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงแรมและรีสอร์ทที่ต้องการโคมไฟสวยๆ สไตล์อีโค ในอนาคต Socoon ก็วางแผนที่จะเข้าเจาะตลาดมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น King Power, Central แต่ต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนารูปแบบของสินค้าให้หลากหลายมากกว่านี้
               
 
     สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาสินค้านอกเหนือจากการใส่ดีไซน์และไอเดียใหม่ๆ เข้าไปให้กับสินค้าดั้งเดิมแล้วคือคำว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ คนในชุมชนเองต้องร่วมมือกัน กล้าที่จะเปลี่ยน ถ้ายังทำสินค้าแบบเดิม ไม่ยอมเปลี่ยน ก็อาจจะไม่ได้เจอกับสิ่งที่ดีขึ้น
               
 
     “ทุกอย่างมันต้องขึ้นอยู่กับคนในชุมชน ต้องกล้าที่จะเปลี่ยน คำว่า Change จากเมื่อก่อนที่เขาทำพวงกุญแจก็เปลี่ยนมาทำโคมไฟ จากวิธีทำแบบเดิมก็เปลี่ยนมาทำการเย็บที่มันยากกว่า ถามว่าท้อมั้ย ก็มีบ้าง แต่เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ ทุกคนต้องพร้อมใจในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา”



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน