​ชิ้นส่วนตุ๊กตาเด็ก งานเซรามิกดีไซน์แปลกตา!

  



 

     งานเซรามิกดีไซน์แบบเดิมๆ คงต้องหลบไป เมื่อ Jaroonburi แบรนด์ของแต่งบ้านจับดีไซน์แปลกตาอย่างชิ้นส่วนต่างๆของตุ๊กตาเด็กมาสร้างนิยามใหม่ของงานเซรามิก เพื่อเป็นอีกทางเลือกของคนที่นิยมประดับตกแต่งบ้านหรือสถานที่ต่างๆอย่างมีสไตล์ไม่เหมือนใคร



     

     เพราะรักในศิลปะและหยิบเอาสิ่งใกล้ตัวมาทำให้เกิดเป็นผลงานที่แตกต่าง วิศณี สิทธิพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ บอกว่า ถ้าลองสังเกตงานแต่ละส่วนดูจะเห็นว่าบางชิ้นจะเป็นเด็กที่ไม่มีแขน บางชิ้นไม่มีขา หรือบางตัวมีขาแต่ไม่มีแขน ซึ่งการไม่ครบองค์ประกอบเหล่านี้นั้นสื่อถึงการขาดแคลนของเล่นในวัยเด็กที่บางทีมีอยู่ชิ้นเดียวแล้วเล่นกันจนแขนขาด ขาขาด นอกจากนี้ลวดลายต่างๆ บนชิ้นงานที่ใช้เป็นเคลือบราน ก็เพื่อสื่อถึงความยากจนและความขาดแคลนเหมือนพื้นดินที่แตกระแหง เป็นการใช้การดีไซน์เล่นกับความหมายที่ต้องการจะสื่อ





     “โดยตัวของชิ้นงานจะมีทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ ในส่วนที่ไม่เคลือบนั้นจะนำไปเผาที่อุณหภูมิ 1,200 องศาจะได้งานออกมาเป็นสีดำแบบดิบๆ ส่วนอีกแบบจะเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาก่อนหนึ่งรอบแล้วนำไปชุบน้ำเคลือบ จากนั้นก็เอาไปเผาอีกรอบที่อุณหภูมิ 1,200 องศา โดยเป็นการเคลือบราน คือการที่เผาออกมาแล้วตัวผลงานนั้นจะมีการแตกรานแล้วจะนำมาทำในกระบวนการของเราให้เป็นสีเพื่อให้เห็นลวดลายที่แตกได้ชัดขึ้น ซึ่งงานแต่ละชิ้นนั้นจะไม่สามารถควบคุมลายแตกของรานได้จึงเท่ากับว่าแต่ละงานจะมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นและไม่ซ้ำใครแน่นอน”





     ด้วยเป็นงานดีไซน์ที่เป็นเซรามิกจึงทำให้ค่อนข้างยากในการควบคุมการผลิต เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเวลาออกจากเตาจะมีส่วนไหนบ้างที่แตกหัก แม้จะทำเหมือนกันทุกครั้ง ใช้ดินเดียวกัน ผสมในปริมาณเท่ากัน ทำเหมือนกันทุกอย่าง แต่ถ้าใช้อุณหภูมิไฟต่างกันก็ทำให้งานมีปัญหาได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหาอย่างรอยร้าวที่ข้อต่อตามแขน ขา ถ้าเทียบเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ เผาเสร็จแล้วจะใช้ได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ก็จะแตกหักไป อย่างไรก็ตามสำหรับชิ้นที่แตกหักแล้วลูกค้าไม่ซีเรียสเรื่องการมีรอยร้าวก็จะมองว่าเป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งและจะซื้อในราคาพิเศษแทน


     โดยผลงานของทางแบรนด์ที่ออกสู่สายตาผู้คนมาได้กว่า 3 ปีนั้นถือเป็นงานศิลปะแนวใหม่ที่อาจไม่ค่อยเห็นมากนักในบ้านเรา ทั้งยังมาพร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่ลูกค้าสามารถนำเอาไปตั้งโชว์ ตกแต่งบ้าน โต๊ะทำงานหรือร้านได้ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟ ที่วางเครื่องประดับ มือจับลิ้นชัก ที่ทับกระดาษ ที่วางนามบัตรและกระถางใส่ต้นไม้





     “ด้วยความที่อาจจะดูแปลกตาและแปลกใหม่ไปสักหน่อย ทำให้คนที่ชอบถ้าเห็นแล้วรู้สึกโดนเขาก็จะซื้อเลย แต่ถ้าไม่ชอบแนวนี้เขาก็จะกลัวโดยเฉพาะกับคนไทยที่ยังไม่มีความเข้าใจตรงนี้เท่าไร ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของเราจะเน้นไปที่ลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะทางยุโรป เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส เพราะมีความเปิดกว้างทางศิลปะมากกว่าและผู้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายกว่าเรา”


     แม้จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความเฉพาะตัวมากและมีจำนวนไม่มากนัก วิศณี บอกว่า แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือว่ามีกำลังซื้อและจะซื้อสินค้าของแบรนด์แน่นอน โดยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จะเป็นผู้ชายวัยทำงานอาศัยอยู่ในเมืองที่นำผลงานไปตกแต่งบ้าน คอนโด ออฟฟิศ ร้านอาหารหรือสถานที่ต่างๆเพื่อเพิ่มความเก๋และมีสไตล์ตามแบบฉบับของคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงและต้องการความแตกต่าง ซึ่งโปรดักต์ของแบรนด์นั้นสามารถตอบโจทย์นี้ได้  





     “หากให้พูดถึงตลาดเซรามิกในปัจจุบันจะเห็นว่ามีการเติบโต เฟื่องฟูขึ้นเยอะและมีคนหันมาทำมากขึ้น อย่างเช่นโปรดักต์ของเราที่ไม่เหมือนใครเลยสร้างความแตกต่างได้ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนจะรู้จักเซรามิกน้อยมาก ส่วนใหญ่พอพูดถึงเซรามิกคนจะนึกถึงสุขภัณฑ์หรือกระเบื้อง แต่จริงๆแล้วเซรามิกมันไปได้ไกลกว่านั้น เซรามิกอยู่ในทุกอย่างของการใช้ชีวิตของเราอยู่ที่ว่าเราจะหยิบมาใช้ยังไง ในส่วนของการใช้ดีไซน์เลียนแบบชิ้นส่วนหรืออวัยวะของตุ๊กตาเด็กมาเป็นของตกแต่งบ้านนั้นคงต้องมองว่าในอนาคตศิลปะกับคนไทยจะมีการเปิดกว้างมากขึ้นเท่าไร เพราะตอนนี้ถือว่ายังน้อยอยู่และต้องอาศัยการสร้างการรับรู้ให้เพิ่มขึ้น”   
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน