Youtube รุกไทย …โอกาสของผู้ผลิตคอนเทนท์

 


เรื่อง : นเรศ เหล่าพรรณราย

    วันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ให้บริการวีดีโอออนไลน์อันดับหนึ่งของโลกนั่นคือ Youtube  ได้ให้บริการชื่อเว็บไซต์ในโดเมนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในชื่อ Youtube.co.th  จากการที่ Google ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้ในปี 2554
 
    การเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยของ Youtube  ครั้งนี้นอกเหนือจากเป็นการเปิดโอกาสที่จะได้รับชมเนื้อหาวีดีโอที่ผลิตขึ้นจากประเทศไทยมากขึ้นแล้วยังมีโอกาสทางธุรกิจในรูปแบบของโฆษณา Video Pre-Roll Ad หรือคลิปโฆษณาก่อนเข้าชมวีดีโอรวมถึงการผลิตคอนเทนท์

    มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตคอนเทนท์ชาวไทยจะสามารถหารายได้จากโฆษณาดังกล่าวได้มากขึ้น ทั้งนี้รูปแบบการโฆษณาบน Youtube ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันสามรูปแบบคือ หนึ่ง..แบบแบนเนอร์ ซึ่งปรากฎอยู่ข้างล่างคลิป สอง..คือแบบภาพนิ่ง และสาม..คือ Video Pre-Roll Ad ซึ่งจะบังคับให้ผู้ชมคลิปต้องดูคลิปโฆษณาซึ่งผู้ชมจะต้องรอประมาณไม่เกิน 10 วินาทีถึงจะสามารถกดข้ามไปดูคลิปที่ต้องการได้

    ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตคอนเทนท์ชาวไทยไม่สามารถที่จะโฆษณาผ่าน Youtube ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อวีดีโอออนไลน์รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

    แต่ภายหลังจากที่ Youtube เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เชื่อได้ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตคอนเทนท์สามารถหารายได้จากโฆษณาได้ จากก่อนหน้านี้ผู้ผลิตคอนเทนท์ต้องหารายได้จากหน้าเวบไซท์ของตัวเองเท่านั้น แต่หากได้มีการนำคอนเทนท์ขึ้นไปปรากฎบน Youtube  ฐานผู้ชมจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

    ทั้งนี้สถิติในปี 2556 ที่ผ่านมา Youtube  มีจำนวนผู้เข้าชมกว่า 1,000 ล้านรายในแต่ละเดือน (ตัวเลขนี้คือผู้ใช้งานที่ไม่ซ้ำหน้า)  80% ของผู้ชมมาจากนอกสหรัฐอเมริกา มีการแปลภาษาแล้วกว่า 61ภาษา  สถิติการใช้งานในสหรัฐฯยังระบุว่ากลุ่มคนที่รับชม Youtube ส่วนใหญ่อยู่ช่วงอายุระหว่าง 18-34 ปี

    ด้านสถิติงานโฆษณา ปัจจุบันมีผู้ผลิตคอนเทนท์กับ Youtube แล้วกว่า 1 ล้านรายใน 30 ประเทศซึ่งสามารถสร้างได้รายได้จากการโฆษณา  ทั้งนี้จำนวนผู้ลงโฆษณากับ Youtube  อยู่ในระดับใกล้เคียงกับผู้ใช้งานโฆษณาของ Google ที่มีอยู่ 1 ล้านรายโดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 

    ด้านแนวโน้มการเติบโตของการโฆษณาบน Youtube เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆโดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเทคโนโลยีอินเทอร์เนตที่มีความเร็วมากขึ้นและราคาถูกลงทำให้การชมวีดีโอออนไลน์ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป รวมถึงการเติบโตของ Smart Device อย่างสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตที่ขยายตัวขึ้น จากสถิติยังบอกด้วยว่า 40% ของผู้ชม Youtube รับชมจากสื่อนอกบ้านมากกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

    ปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้การโฆษณาบน Youtube ในประเทศไทยขยายตัวขึ้นคือการมาของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลซึ่งประกอบด้วย 24 สถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ นำไปสู่การผลิตคอนเทนท์รายการเพื่อป้อนสถานีโทรทัศน์เหล่านี้หลังจากนั้นนำไปสู่การนำคอนเทนท์เผยแพร่บน Youtube ต่อไป

    เช่นเดียวกันกับการผลิตคอนเทนท์เพื่อปรากฎบน Youtube เพียงแห่งเดียวซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายที่ประสบความสำเร็จจากแนวทางนี้ ไม่เพียงแต่ในด้านของผู้ผลิตคอนเทนท์แต่ผู้ที่ลงโฆษณาโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีก็จะเข้าถึงช่องทางดังกล่าวได้มากขึ้นเช่นกัน

    การเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ Youtube จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ผลิตคอนเทนท์และผู้ลงโฆษณาซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก โดยได้รับการสนับสนุนจาก Google ประเทศไทยที่ได้เข้ามาทำธุรกิจอย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้ เชื่อได้ว่าอุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทยจะต้องคึกคักขึ้นอย่างแน่นอน


    




 
       

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน