ปัจจุบันสินค้าผลไม้แปรรูปที่มีลักษณะเป็นขนมขบเคี้ยว ตลาดมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน นอกจากจะมีการนำเข้าผลไม้สดเป็นจำนวนมากแล้ว ผลไม้แปรรูปก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคแดนมังกร โดยเฉพาะ “ทุเรียนทอด” แต่การจะส่งออกทุเรียนทอดไปจีนนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภค และการแข่งขันที่นับวันยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การทำตลาดของสินค้าทุเรียนทอดจึงต้องเผชิญความท้าทายไม่น้อย แต่ในความท้าทายนั้นก็ยังมีโอกาสอยู่อีกมากเช่นกัน
จากการเปิดเผยของ สุรพงษ์ ณรงค์น้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ดส์ จำกัด เล่าให้ฟังถึงมุมมองการทำธุรกิจส่งออกผลไม้แปรรูป ซึ่งวันนี้มีทั้งทุเรียนทอด แครกเกอร์ทุเรียน รวมไปถึงสินค้าแปรรูปจำพวกกล้วยด้วย โดยตลาดหลักๆ ของการส่งออกนั้น คือ ประเทศจีน อีกทั้งยังมีการขยายไปสู่ตลาดอื่นๆ ที่มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
“ก่อนหน้านี้เรามีการส่งออกสินค้าข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมานานเป็น 10 ปี แต่ด้วยกระแสของการเปิดเออีซีช่วงปลายปี 2558 ทำให้เราต้องตื่นตัวและทำการส่งออกอย่างจริงจังในลักษณะของการส่งสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ไปยังประเทศนอกอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ทำมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่นิยมกินทุเรียน ทำให้ประเทศจีน เป็นตลาดหลักของเราในการส่งออกทุเรียนทอดและแครกเกอร์ทุเรียน ในขณะที่สินค้าแปรรูปจำพวกกล้วยจะถูกส่งไปที่มัลดีฟส์และเกาะกวม นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีของการนิยมปริโภคกล้วยในตลาดอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพ นอกจากนี้ เรายังมองถึงการไปเจาะตลาดยุโรปและอเมริกาอีกด้วยเพราะตัวแครกเกอร์ทุเรียนนั้น เป็นของกินเล่นที่สามารถกินคู่กับน้ำชาได้”
พร้อมกันนี้ สุรพงษ์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันตลาดสแน็คหรือขนมขบเคี้ยวของประเทศไทยยังไปได้ไกลมาก เพราะสินค้าที่เป็นอาหารแปรรูปเป็นของกินเล่นมีอายุการเก็บรักษาได้นาน จึงเปิดโอกาสให้แบรนด์สามารถทำตลาดต่างประเทศได้ โดยเฉพาะทุเรียนและกล้วย ถือเป็นผลไม้ที่อยู่ในกระแสตลอด ดังนั้นการนำเอาผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูปเป็นของกินเล่นโดยให้ออกมามีรสชาติที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุดจะทำให้ขายดีมาก
แม้จะมองเห็นโอกาสในตลาดส่งออก แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งสุรพงษ์แนะนำว่า สำหรับใครที่คิดอยากจะขยายตลาดไปสู่การส่งออก “สิ่งที่ควรทำ” ซึ่งกลั่นมาจากประสบการณ์ตรงของเขา มีอยู่ 6 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ
1.รสชาติต้องดี มีมาตรฐาน
ไม่ว่าสินค้าอะไรก็ตามที่รสชาติถูกปากลูกค้า สามารถทำให้ติดตลาดและติดใจได้นาน อย่างของเราเอง ก็ต้องมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทำสินค้าให้ดีอยู่ตลอดเวลา รักษามาตรฐานและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาตลอด แม้สินค้าแปรรูปจะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มีความต่าง และมีผู้เล่นมากมายอยู่ในตลาด แต่การรักษาคุณภาพเรื่องรสชาติเอาไว้ให้เหมือนเดิมเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ได้ ซึ่งก็คือไม่ว่าจะกินวันไหนรสชาติที่ได้ต้องไม่เปลี่ยนไปนั่นเอง ที่สำคัญสินค้าทุกชิ้นต้องได้มาตรฐาน
2.แพ็กเกจจิ้งต้องใช่
นอกจากเรื่องของคุณภาพ รสชาติแล้ว แพ็กเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ ก็ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการดึงดูดผู้บริโภค ถ้าขายในไทยบรรจุภัณฑ์จะต้องมีลักษณะใสสามารถมองเห็นสินค้าได้ แต่สำหรับการส่งออกต่างประเทศต้องเป็นแพ็กเกจจิ้งขนาดเล็กที่บรรจุอยู่ในถุงฟอยด์ มีการกันกระแทก มีอายุการเก็บรักษาได้นาน และลูกค้าสามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยา เพราะฉะนั้นสินค้าที่อยู่ข้างในไม่ว่าจะขายในไทยหรือต่างประเทศต้องมีคุณภาพเหมือนกัน เพียงแต่แพ็กเกจจิ้งต้องต่างและมีความเหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้บริโภคนั้นๆ ดังนั้นต้องมีการศึกษาถึงพฤติกรรมของลูกค้าว่าคนกลุ่มนี้เลือกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบไหน ในราคาเท่าไหร่
3.ราคาเสมอภาค
การตั้งราคาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการส่งออก ราคาของสินค้าควรเป็นราคาเดียวกันกับที่ขายในประเทศ เพราะการส่งออกนั้นเป็นการขายล็อตใหญ่หรือเป็นตู้ไม่ใช่เป็นการขายปลีก
4.ออกบูธจับตลาด
สุรพงษ์เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มทำการส่งออกมา เขาเห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน เมื่อก่อนตลาดขนมขบเคี้ยวนั้นขายยาก เพราะชาวจีนไม่นิยมกินทุเรียนทอด โดยมีความกังวลในวัตถุดิบที่นำมาทอดว่าอาจจะไม่ใช่เนื้อทุเรียนจริงๆ ดังนั้นต้องอาศัยการออกบูธต่างประเทศเพื่อสร้างการรับรู้และให้ลูกค้ามีโอกาสได้ชิม ปัจจุบันคนจีนที่เดินทางมาในไทยเริ่มมีการบริโภคทุเรียนทอดมากขึ้นถือเป็นโอกาสที่ดีในการเจาะกลุ่มลูกค้า อย่างไรก็ตามแม้คนจีนจะยังนิยมบริโภคทุเรียนสดมากกว่า แต่ทุเรียนทอดก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับลูกค้าและสามารถซื้อกลับไปเป็นของฝากคนที่บ้านเขาได้
5.ต้องมีความอดทน
ข้อสุดท้ายนี้ ถือว่ามีความสำคัญมากๆ ใครก็ตามที่จะทำส่งออกต้องมีความอดทน อย่าคิดว่าไปทำตลาดเพียงครั้งเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จเลย บางครั้งต้องรอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ดังนั้นอย่าเพิ่งท้อง่ายๆ หากคุณยังไม่สำเร็จในครั้งแรกๆ ของการส่งออกไปต่างประเทศ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี