3 กลยุทธ์ฉุดธุรกิจโรงแรม ฝ่ามรสุม Low Season







     เบื้องหน้าที่ดูสวยงามของธุรกิจโรงแรม มีหนึ่งอุปสรรคที่แทบทุกโรงแรมจะต้องประสบพบเจอนั่นคือช่วง Low Season หรือเป็นฤดูนอกการท่องเที่ยวของลูกค้า เช่น ถ้าเป็นโซนภาคเหนือ ภาคอีสาน ช่วง High Season อาจจะอยู่  ในช่วงหน้าหนาวที่นักท่องเที่ยวต่างเดินทางไปเพื่อต้องการสัมผัสอากาศหนาว ขึ้นเขา เดินป่า ส่วนทางภาคใต้ช่วง High  Season อาจจะอยู่ช่วงซัมเมอร์ที่นักท่องเที่ยวต้องการมาอาบแดด รับลมร้อน เล่นน้ำทะเล ซึ่งในแต่ละช่วง Low Season   ของการท่องเที่ยวในแต่ละโซนนั้นกินเวลาถึง 6-7 เดือนเลยทีเดียว




     หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตแห่งหนึ่งของประเทศไทยอย่างเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ก็มีช่วง Low Season อยู่ระหว่างเดือนมีนาคม – กันยายน ที่นักท่องเที่ยวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แม้แต่รีสอร์ทหลายแห่งก็ต้องปิดลงในช่วง low Season เพื่อที่จะได้ลดค่าใช้จ่ายและรอเวลาหน้า High เพื่อกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ยังเปิดอยู่อย่าง Bann Ton Kho Resort & Restaurant ที่เจ้าของรีสอร์ทอย่าง ที - ณธีนนท์ โฆษิตเวชสกุล ได้ให้ข้อมูลว่าในช่วง Low Season ของการท่องเที่ยวที่เขาค้อมีนักท่องเที่ยวหายไปเกินครึ่ง ประมาณ 60% อีกทั้งความยากของการทำธุรกิจรีสอร์ทและโรงแรมที่เขาค้อยังยากตรงที่มีจำนวนคู่แข่งเยอะ ทำให้ผู้ประกอบการที่อยากจะอยู่รอดปลอดภัย ผ่านช่วง Low  Season ไปได้จะต้องพยายามปรับตัว





     “ที่บ้านต้นค้อก็เปิดมาประมาณ 5 ปีแล้ว ของเราเป็นธุรกิจครอบครัว ทำกันเล็กๆ คือมีที่อยู่แล้ว ตอนแรกแค่คิดว่าจะสร้างบ้านเฉยๆ ด้วยซ้ำ แต่พอดีคุณพ่อ คุณแม่ความเห็นตรงกันเลยเปิดเป็นรีสอร์ทและเราก็เข้ามาช่วยดู ตัวราเองก็มีอาชีพอื่นไปด้วยคือเป็นทนายความฟรีแลนซ์ มันสามารถบริหารจัดการเวลาตัวเองได้อยู่แล้ว พอช่วงหน้า Low Season เราจะต้องมีการปรับตัว เช่น มีการใช้โปรโมชั่นลดราคาห้องพัก อย่างถ้าหน้า High ห้องพักจะอยู่ที่ 3,000 – 4,000 ส่วนหน้า Low Season ราคาจะอยู่ที่ 900 บาท ซึ่งถ้าเรายังเปิดรีสอร์ทในช่วงหน้า Low ก็จะมีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็มีรีสอร์ทอีกหลายแห่งที่เขาปิดกันเพราะไม่มีคนเฝ้าด้วย เจ้าของโรงแรมหรือรีสอร์ทแถวนี้ส่วนใหญ่ก็มีอาชีพอื่นอยู่แล้ว เช่น ข้าราชการ นอกจากนี้ยังต้องมองคู่แข่งของเราด้วย ว่าเรากำลังแข่งกับใคร ถ้าเกิดว่าเป็นโรงแรมหรูมาก เราก็ไม่สู้กับกลุ่มนั้น มองดูที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันและเรามีข้อได้เปรียบอะไร ให้เอาออกมาใช้และดึงดูดลูกค้าจากจุดนั้น”
 




กลยุทธ์ที่ 1 เริ่มต้นอย่างไม่เกินกำลัง  
หากว่าคุณเพิ่งเข้ามาอยู่ในธุรกิจโรงแรมหรือสนใจในธุรกิจนี้ คุณอาจจะต้องเริ่มมองตัวเองก่อนว่ามีต้นทุนมาก น้อยเท่าไหร่ พร้อมจะแบกรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน หากว่าคุณทุนหนา พร้อมรับความเสี่ยงได้เยอะ การเปิดโรงแรมไซส์ใหญ่อาจไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ แต่หากว่าคุณยังไม่พร้อมขนาดนั้น อาจจะเริ่มจากการเปิดโรงแรมไซส์เล็กที่สามารถดูแลได้ทั่วถึงก่อน อย่างบ้านต้นค้อเองที่เป็นธุรกิจโรงแรมในครอบครัว เมื่อถึงหน้า Low Season ด้วยความที่โรงแรมไม่มีต้นทุนด้านพนักงาน ค่าเช่าที่หรือแม้แต่หนี้สิน ทำให้เขาไม่ต้องแบกรับต้นทุนตรงนี้และสามารถอยู่ได้หากไม่มีนักท่องเที่ยว ทุกอย่างในรีสอร์ทก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การทำความสะอาด ดูแลรีสอร์ท ต้อนรับนักท่องเที่ยว 




 
กลยุทธ์ที่ 2 ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น 
การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นคือกลยุทธ์สำคัญที่แทบจะทุกโรงแรมเลือกใช้ อย่างบ้านต้นค้อเองก็มีการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเช่นการจ้างพนักงาน เนื่องจากเป็นรีสอร์ทเล็กๆ ในช่วง Low Season ก็สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ ส่วนในช่วงหน้า High Season จะมีการจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อมาช่วยดูแลนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังลดต้นทุนเรื่องของการสต็อกอาหาร ด้วยการปิดครัวในช่วง Low Season พร้อมทั้งไม่มีอาหารเช้า แต่ยังมีอาหารจำพวก Frozen Food ไว้คอยให้บริการ แต่ หากว่าคุณเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดใหญ่ การลดต้นทุนอาจทำได้ด้วยลดจำนวนพนักงานลงหรือเลือกใช้พนักงานจ้าง ชั่วคราวในช่วง High Season และคงเหลือไว้แค่พนักงานประจำในช่วง Low Season แทน 




 
กลยุทธ์ที่ 3 ใช้โปรโมชั่นดึงดูดใจ 
แม้จะเป็นช่วง Low Season แต่ก็มีนักท่องเที่ยวอีกมากมายที่สรรหาสถานที่ท่องเที่ยวตลอดทั้งปีไม่เว้นแม้แต่ช่วง Low ยิ่งถ้าคุณเน้นทำการตลาดผ่านทางออนไลน์ นำเสนอความน่าสนใจของตัวโรงแรมและสถานที่โดยรอบให้ลูกค้าเห็นว่าช่วง Low Season ก็เที่ยวได้ เช่น เขาค้อ ที่สามารถเที่ยวได้ทั้งปีแต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะไม่รู้และมาเที่ยวแค่ช่วงหน้าหนาว ทั้งที่จริงแล้วแม้แต่หน้าผนหรือหน้าร้อนก็อากาศดีเช่นกัน ยิ่งถ้าฝนตก นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับทะเลหมอกสวยๆ ซึ่งต่างจากหน้าหนาวที่มีแค่ลมหนาวแต่มักไม่มีหมอกให้ได้ดูกัน นอกจากนี้การลดราคาห้องพักช่วง Low Season ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ อย่างบ้านต้นค้อก็มีการลดราคาห้องพักจาก 3,000 – 4,000 บาทเหลือแค่ 900 บาทเท่านั้น

 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

Luxumer โอกาสธุรกิจปี 2025 โตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์” ของคนไทยกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา จากพฤติกรรมต่อคิวรอซื้อ เกลี้ยงเชลฟ์ “หยุดไม่ได้ ก็ใจมันลักซ์” ของชาว Luxumer จึงกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด