​รู้จัก “ผู้บริโภคจีน” ผ่านพฤติกรรมออนไลน์





 

     จีน ถือเป็นอีกตลาดใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการไทย ด้วยความที่เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกกว่า 1,300 ล้านคน ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีด้านออนไลน์พัฒนาเติบโตมากยิ่งขึ้น การอ้าแขนเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติของรัฐบาลจีนเอง ก็ยิ่งเชื้อเชิญให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่อยากเข้าไปทำธุรกิจกับประเทศยักษ์ใหญ่แห่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ด้วยนโยบายหลักของประเทศ และวัฒนธรรมที่มีอยู่หลากหลาย ทำให้คนจีนเองมีพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ ซึ่งมีความสำคัญกับโลกการค้ายุคใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ลองมาดูกันสิว่าหากคิดจะทำการค้าขายในจีน อะไร คือ กุญแจสำคัญสำหรับการทำการตลาดออนไลน์ในจีน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคแดนมังกรแห่งนี้ให้ได้มากที่สุด
 

คนจีนนิยมใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือมานานแล้ว
 
     หากย้อนกลับเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในยุคที่เริ่มมีการใช้งานอินเตอร์เน็ต ในขณะที่ทั่วโลกอาจเริ่มต้นด้วยการใช้งานผ่านเดสก์ท็อป โน๊ตบุ๊ค เพจเจอร์ มือถือ จนเขยิบขึ้นมาเป็นสมาร์ทโฟนที่รวบรวมทุกอย่างไว้ในเครื่องเดียวอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ประชากรจีนกลับเริ่มต้นเข้าถึงอินเตอร์โดยผ่านจากมือถือเลยตั้งแต่ต้น เนื่องสามารถผลิตใช้เองได้ในประเทศ เช่นเดียวกับที่ Google ได้เริ่มต้นถือกำเนิดขึ้น และเพียงไม่นาน Baidu เว็บไซต์สำหรับการเสิร์ชค้นข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตก็ถือกำเนิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ดังนั้นคนจีนส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือมานานแล้ว ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนจีนไม่เหมือนกับที่อื่น
 

     ยกตัวอย่างเช่นในการติดต่อธุรกิจ หากเป็นประเทศอื่นก็มักจะใช้อีเมลเพื่อส่งหากัน แต่สำหรับคนจีนแล้วกลับนิยมใช้ WeChat แอพพลิเคชั่นสำหรับแชทมากกว่า หรือแม้แต่การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ชของคนจีนเอง ซึ่งหากเป็นในต่างประเทศทั่วไปแล้ว กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมซื้อกันมาก คือ ลูกค้าที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่สำหรับในเมืองจีนแล้วการสั่งซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนถือเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ในผู้สูงวัยอย่างอากง อาม่า ก็มีการสั่งซื้อกันเป็นประจำ เป็นเพราะเขาคุ้นเคยกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตมานานแล้ว โดยล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Alibaba เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนยังได้ประกาศรับสมัครนักวิจัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อมาทำวิจัยการทำให้ผู้สูงวัยสามารถมาช้อปปิ้งออนไลน์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายผู้ที่ได้ตำแหน่งมาครอบครอง ก็คือ อาม่าคนหนึ่งที่มีอายุกว่า 80 ปี
 




Social Commerce และ Social Search 2 เทรนด์ใหม่มาแรง
 

     จากพฤติกรรมดังกล่าวที่เล่ามานั้น ชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AVG Thailand จำกัด ดิจิทัลเอเยนซี่ผู้เชี่ยวชาญการทำตลาดในประเทศจีน ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับ 3 เว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ของจีน คือ Alibaba, Tencent และ Baidu ได้เปิดเผยถึงเทรนด์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งล่าสุดที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนจีน โดยมี 2 ส่วนสำคัญด้วยกัน คือ Social Commerce และ Social Search
 

เทรนด์แรก – Social Commerce

     ตามปกติทั่วไปแล้ว การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หากเป็นในประเทศไทย มักจะนิยมทำการซื้อโดยเข้าไปดูสินค้าจากอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กเพจ จากนั้นจึงจะทำการแคปหน้าจอสินค้าที่สนใจ เพื่อเข้ามาสอบถามรายละเอียดกับร้านค้าผ่านทางไลน์ เมื่อสามารถตกลงกันได้จึงจะทำการโอนผ่านธนาคารต่างๆ แต่สำหรับในเมืองจีนแล้ว ทุกอย่างสามารถทำได้ครบจบในที่เดียวโดยผ่าน WeChat แอพพลิเคชั่นแชทยอดนิยมของคนจีน ซึ่งได้ถูกพัฒนาไปมาก โดยได้รวบรวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่รูปสินค้า ห้องแชทสำหรับพูดคุย ไปจนถึงระบบเพย์เมนท์ ทำให้เกิดการรวมกันขึ้นมาของโซเซียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ หรือ Social Commerce ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยคิดว่าในปีนี้น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้ใช้งานคนจีน ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ใช้ WeChat ในเมืองจีนกว่า 900 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 1,300 – 1,400 ล้านคน โดยมีรายงานจากปี 2560  กล่าวว่าผู้ใช้งาน WeChat กว่า 31 % เคยซื้อของผ่าน WeChat ด้วยกันทั้งนั้น
 




เทรนด์ที่สอง – Social Search

     การค้นหาข้อมูลในโซเซียลมีเดีย โดยปกติแล้วหากเราจะค้นหาข้อมูลสักอย่างบนอินเตอร์เน็ต เรามักเข้าไปที่เว็บไซต์เสิร์ชเอนจินอย่าง Google แต่สำหรับคนจีนที่นิยมใช้โซเซียลมีเดียในการทำทุกอย่าง โดยเฉพาะ WeChat รวมถึง Weibo เอง กลับไม่ได้มองว่าโซเซียลมีเดียมีไว้เพื่อติดต่อพูดคุยกับเพื่อนอย่างเดียว แต่ยังนิยมใช้สำหรับการหาข้อมูลกันอีกด้วย จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Social Search’ ที่มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสอบถาม ขอคำแนะนำ และโปรโมชั่นต่างๆ โดยเป็นเทรนด์ที่เริ่มขึ้นมาประมาณ 1 -2 ปีแล้ว แต่มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ความนิยมจากโซเซียลเสิร์ชของผู้บริโภคชาวจีน อาจเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นแซงเสิร์ชเอนจินเลยก็ว่าได้ โดยการค้าหาข้อมูลของคนจีนในโซเซียลเสิร์ชนั้นมักเริ่มจาก Friend Circle – ดูว่าเพื่อนพูดถึงแบรนด์นั้นๆ ว่าอย่างไรบ้าง ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากกว่าที่แบรนด์พูดเอง ตามมาด้วย Article – คอนเทนต์ของแบรนด์, Official Account – ช่องทางสื่อสารและสร้างตัวตนของแบรนด์กับลูกค้า, นวนิยาย, เพลง และสติ๊กเกอร์
 

     โดยแต่เดิมนั้นข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในโซเซียลมีเดียอาจมีไม่มากเท่ากับในเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิน แต่ปัจจุบันกลับมีความนิยมทำการตลาด รวมถึงนำเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแชร์บนโซเซียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นอย่างเข้มข้น ทำให้คอนเทนต์ที่อยู่ในโซเซียลมีเดีย ไม่ได้น้อยไปกว่าบนเว็บไซต์เสิร์ชเอนจินเลย
 

     สำหรับคำแนะนำในการใช้โซเซียลมีเดียของจีน โดยเฉพาะ WeCaht เพื่อทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ชฎากรกล่าวว่า หากเป็นแบรนด์หรือองค์กรขนาดใหญ่ แนะนำให้เปิด Official Account ของแบรนด์เลย ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ต่อลูกค้าคนจีนได้ค่อนข้างมาก เพราะแทนที่ลูกค้าจะไปค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว แต่หากมี Official Account ลูกค้าสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลและติดต่อสอบถามได้เลยทันที ทำให้เกิดความพึงพอใจมากกว่า โดยปัจจุบัน WeChat มี Official Account สำหรับแบรนด์รวมกว่า 8 ล้านแอคเคาท์
 

     แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก การเปิด Official Account อาจยังไม่เหมาะสมเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ที่สำคัญแม้จะเป็นที่นิยมในเมืองจีน แต่ WeChat เป็นระบบที่ค่อนข้างปิด ไม่เหมือนเฟซบุ๊กที่สามารถซื้อโฆษณาเพื่อเพิ่มการมองเห็นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นหากคิดว่าเปิดขึ้นมาแล้วอยู่ดีๆ จะมีลูกค้าคนจีนวิ่งเข้ามาขอแอดเป็นเพื่อนและซื้อสินค้า โดยไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์จากช่องทางอื่นเลย ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก วิธีการที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะสามารถทำได้ คือ การพยายามสร้างคอนเทนต์ที่ดี มีประโยชน์ เพื่อให้เกิดการนำมาแชร์บนโซเซียลมีเดีย และเมื่อนั้นแบรนด์ของเราจะเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงเอง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

Luxumer โอกาสธุรกิจปี 2025 โตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์” ของคนไทยกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา จากพฤติกรรมต่อคิวรอซื้อ เกลี้ยงเชลฟ์ “หยุดไม่ได้ ก็ใจมันลักซ์” ของชาว Luxumer จึงกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด